'ทฤษฎีแห่งความสุข : สุขใจ ข้าว วิถีไทย' โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับ ธันวาคม 2566 นี้ ขอนำเสนอเรื่อง "สุขใจ ข้าว วิถีไทย" เขียนโดย "ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี"
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธันย่าได้มีโอกาสไปเยือนประเทศอุซเบกิสถานในฐานะ ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย ตามคำเชิญของสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน เพื่อไปจัดแสดงโชว์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านหม่อนไหมในต่างประเทศ ภายใต้โครงการทูตอัตลักษณ์ไหมไทยสู่เส้นทางไหมโลก ในงาน International Biennale of Applied Arts ครั้งที่ 4 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติอุซเบกิสถาน (Museum of Applied Arts) กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน
ในงานจัดแสดงครั้งนี้ นอกจากธันย่าได้นำผ้าไหมและศิลปะบนผืนผ้าของไทยไปจัดแสดงแล้ว วันเปิดงานมีผู้เข้าชมและสื่อมวลชนร่วมพิธีหลายร้อยคน และทีวีนำงานนี้ไปออกรายการทุกช่อง เชิญชวนให้ไปชมงานศิลปะของไทย อาทิ คอลเลกชัน Traditional Thai dresses และศิลปะผ้าไทย ระหว่างวันที่ 18 ต.ค. - 17 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ซึ่งมีชุดไหมไทยพระราชนิยม 8 แบบ มีชุดเครื่องประดับไทยโบราณ เข็มขัด กำไล สังวาล และเครื่องทองเหลืองโบราณ ที่ได้จากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนที่ธันย่าไปดูงานกับหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและธรรมาภิบาล รุ่น 1 สถาบันพระปกเกล้า และสินค้าแปรรูปทางเกษตร กล้วยฉาบ มันทอด เผือกทอด ไปให้ชิม รวมทั้งเข็มกลัดดอกมะลิ จาก กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ธันย่ายังได้ถือโอกาสดีนี้ ขยายผลเพิ่มช่องทางการตลาด "ข้าวไทย" ความมั่นคงทางอาหารและสังคมไทย โดยนำข้าวอินทรีย์หอมมะลิจากสมาชิกในชุมชน บ้านบางแตน จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งในการเดินทางของข้าวไทย มรดกล้ำค่าของแผ่นดินไทยไปประเทศอุซเบกิสถานครั้งนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม ธันย่าอิ่มเอมใจที่ได้ประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เป็นการสื่อสารความเป็นไทยอย่างละมุนเป็น Soft Heart Smart Power ซึ่งข้าวไทยถือเป็นทุนทางนิเวศวัฒนธรรม เป็นทุนชาติ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สั่งสมมาในอดีต มีคุณค่าต่อมนุษย์และความต้องการของสังคม นอกเหนือจากการให้คุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังมีบันทึกเรื่องราวในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ตามแบบวิถีแห่งความสุขของชาวไทย
สำหรับช่วง เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นี้ หลายคนคงกำลังมองหาของขวัญปีใหม่หรือของฝากไปฝากญาติสนิทมิตรสหายหรือคนที่เรารักกัน ธันย่าขอเชิญชวนการมอบข้าวเป็นของขวัญของฝากในช่วง เทศกาลแห่งความสุข นี้ ล่าสุดธันย่าไปร่วมงานเที่ยวพิมาย ประจำปี 2566 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ธันย่าได้พบข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ที่มีอัตลักษณ์ (GI) สายพันธุ์เฉพาะถิ่นในพื้นที่ชุมชนบ้านโนนกระสังข์ ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อยากขอแนะนำข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกด้วยว่ามีเมล็ดเรียวยาว หุงแล้วข้าวสวยหอมน่ารับประทาน
ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ในประเทศไทยของเรา มีนับร้อยๆ สายพันธุ์ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์นี้แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 นอกจากนี้สายพันธุ์ข้าวไทยยังมีข้าวอีก 11 สายพันธุ์ ที่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็น 1. ข้าวสังข์หยดพัทลุง 2. ข้าวมันปู เป็นข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือชนิดหนึ่งที่มีข้าวเยื่อเปลือกหุ้มสีแดงมันปู 3. ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 4. ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ข้าวแดงหรือข้าวอนามัย 5. ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้สระบุรี 6. ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร 7. ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ (Black sticky rice) 8. ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู 9. ข้าวเหนียวเขาวง 10. ข้าวเหนียว กข 6 และ 11. ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งการมอบข้าวของขวัญปีใหม่ นอกจากจะได้สนับสนุนชาวนาไทย สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน และเห็นคุณค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของชาวนาไทยแล้ว การมอบข้าวตามความเชื่อคนโบราณ ถือเป็นเรื่องสิริมงคล มีความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ตลอดปี การให้ข้าวเป็นของขวัญมีแต่รอยยิ้มและมีความสุข อิ่มไปถึงใจ
สำหรับธันย่าคิดว่า เหนือสิ่งอื่นใด คือการได้เรียนรู้สร้างความมั่นคงทางอาหารปลอดสารพิษ ไม่เผาป่าทำลายแหล่งอาหาร และได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร เพื่อเสริมอาชีพการปลูกข้าวให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อคุณภาพชีวิตในการดำรงชีพที่ส่งผลต่อสภาพชีวิตที่เป็นสุข
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นี้ ธันย่าขออวยพรให้กับผู้อ่านทุกคน มีแต่ความสุข เดินทางปลอดภัย ปราศจากโรคภัย สุขสมหวังพบเจอเรื่องดีๆ ตลอดปี แล้วพบกับ ทฤษฎีแห่งความสุข (Theory of Happiness) โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี เป็นประจำทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน