'ธันยลักษณ์ พรหมมณี' ปลื้มปีติ รับเข็มเกียรติคุณ จาก 'สมเด็จพระสังฆราช'
ธันยลักษณ์ พรหมมณี ปลื้มปีติ รับเข็มเกียรติคุณ จากเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในงานพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี เข้ารับเข็มเกียรติคุณประทานจาก เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการประทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตกิตติมศักดิ์และผู้สำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปี 2566
เนื่องด้วยสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีมติประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่องเพื่อเชิดชูเกียรติ "ธันยลักษณ์ พรหมมณี" นักสะสมงานศิลปะบนผืนผ้าทั้งไทยและต่างประเทศ และการเป็นผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์ผ้าไหมไทยในบทบาท ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย ผู้สร้างสมดุลให้กับชีวิต โดยนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันสู่ความสุขอันประณีต เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงสมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สาธุชนในความมุ่งมั่นประกอบคุณงามความดีสืบไป
สำหรับในปีนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2566 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งพระสังฆาธิการ ภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ทุกระดับชั้น จำนวนทั้งสิ้น 4,628 รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีพันธกิจหลัก 4 ด้านคือ ผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนาส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากดำเนินงานตามพันธกิจหลักให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องประกาศเกียรติคุณพระมหาเถรานุเถระ ภิกษุณี และอุบาสก อุบาสิกา ทั้งในและต่างประเทศ ผู้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมอบ "ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์" และ "เข็มเกียรติคุณ" เพื่อเป็นการประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่องเชิดชูในงานพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430 ซึ่งปัจจุบันได้จัดการศึกษามาถึง 136 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และคฤหัสถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ขึ้น โดยมีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และในปี พ.ศ. 2562 ได้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี เผยความรู้สึกว่า นับเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอย่างสูงที่ได้เข้ารับเข็มเกียรติคุณจาก สมเด็จพระสังฆราช สังคมไทยมีพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้ชีวิตมีความดีงามที่งอกเงย ซึ่งพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ให้มีสติ สร้างปัญญา สู่จิตใจที่เข็มแข็ง การที่สังคมไทยมีพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต ย่อมเป็นพลังแห่งความศรัทธาความดีที่ร่วมขับเคลื่อนสังคมไทย และรวมพลังพลเมืองเป็นหนึ่งเดียว ก่อเกิดเป็นความรัก ความสามัคคี สร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า เกิดเป็นความมั่นคงทางอารมณ์และมีจิตใจที่เบิกบาน เพื่อประโยชน์ต่อบุคคล และสร้างสังคมเข้มแข็ง เป็นทุนของชาติ ไปสู่ความเมตตา กรุณา ให้อภัยกัน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง