'สิงห์อาสา' ผนึก 'หน่วยอนุรักษ์ที่ 16' เร่งอบรมเครือข่าย รับมือไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ
สิงห์อาสา ร่วมกับ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จังหวัดเชียงใหม่ อบรมประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า วางเป้า 200 ชุมชน สร้างอาสาสมัครดับไฟป่า 10,000 คน ครอบคลุม 8 จังหวัดในภาคเหนือ ผ่านโครงการ "สิงห์อาสาสู้ไฟป่า" ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
จากสถิติ ไฟป่า ในปีที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ และพะเยา เกิดไฟป่ามากที่สุด โดยเฉพาะ "เชียงใหม่" ทำให้พื้นที่ป่า สัตว์ป่าบางชนิดลดน้อยลง และระบบนิเวศถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีอีกผลกระทบที่ส่งผลโดยตรงต่อประชาชน นั่นก็คือปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐานส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นประจำทุกปี ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งฝุ่น PM 2.5 ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวแก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องของระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง และปัญหาพัฒนาการในเด็ก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2567 สิงห์อาสา โดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ร่วมกับ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ต.บ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่ออบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง ไฟป่า และ ฝุ่น PM 2.5 ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาแห่งนี้ มีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟป่ามากที่สุดในประเทศ และช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการเกิดไฟป่ามากที่สุดของปี โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีการจัดอบรมเพิ่มทักษะให้ชุมชนเพื่อดูแลผืนป่า สร้างชุมชนเฝ้าระวังไฟป่า และอาสาสมัครดับไฟป่าเป็นกลุ่มแรกในปีนี้ โดยมีการมอบอุปกรณ์ดับไฟป่า เช่น ถังฉีดน้ำ ไม้ตบไฟ ครอบ คราดสปริง รองเท้าโรงงานสู่แนวหน้าอาสาสมัครดับไฟป่า พร้อมด้วยเสบียงอาหาร ทั้งอาหารพร้อมทาน (ข้าวรีทอร์ท) และน้ำดื่มเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร
นอกจากนี้ยังร่วมกับคณะอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ให้กับโรงเรียนบ้านทุ่งพร้าว อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และในปีนี้ทางคณะทำงานฯ ได้คิดค้นนวัตกรรม "มุ้งสู้ฝุ่น" ที่ใช้งบการผลิตต่ำ แต่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นสูง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของชาวบ้านที่มีงบประมาณที่จำกัด โดยมีการนำมุ้งสู้ฝุ่นมามอบให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่เสี่ยง PM 2.5 และมีจัดอบรมการผลิตมุ้งสู้ฝุ่น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถประดิษฐ์เพื่อใช้เองในครัวเรือน
นายอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของภาคเหนือคือ ไฟป่า ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี การเกิดไฟป่าแต่ละครั้งส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะเสียพื้นที่ป่าไม้เป็นจำนวนมาก สัตว์ป่าที่อาศัยในพื้นที่ป่าลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างมาก โดยในปีนี้โครงการ "สิงห์อาสาสู้ไฟป่า" ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จะจัดอบรมหลักสูตร "คนสู้ไฟ" ให้กับชุมชนครบ 200 ชุมชน มีอาสาสมัครกว่า 10,000 คน คอยสอดส่องระวังภัย และเข้าดับไฟได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย เป็นกำลังเสริมให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ซึ่งทาง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้จัดหาอุปกรณ์ดับไฟมามอบให้แต่ละชุมชน รวมทั้งจัดการหารองเท้าเซฟตี้คุณภาพสูง มอบให้กับชุมชนและเจ้าหน้าที่
"นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมกับเครือข่ายสิงห์อาสา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ติดเครื่องกรองอากาศให้กับเด็กนักเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และสร้างมุ้งสู้ฝุ่นเพื่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ที่ ต.บ้านเป้า อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ทั้งหมดนี้เราคาดว่าจะทำเสร็จก่อนถึงฤดูไฟป่า และจะยังคงเฝ้าระวัง พร้อมสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกท่านจนผ่านช่วงไฟป่าเข้าสู่ฤดูฝนต่อไป"
นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ เผยว่า ข้อมูลสถิติจุดความร้อน ย้อนหลัง 10 ปี พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีจุดความร้อนมากที่สุดในไทย ปัญหาไฟป่า และวิกฤติฝุ่นควันในปัจจุบัน ยังคงส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในภาคเหนือเป็นประจำทุกปี โดยทางสำนักฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีหน้าที่ในการดูแลปัญหาไฟป่าก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ และมีการทำงานเชิงรุก เช่น ประชาสัมพันธ์โทษของไฟป่าจนชาวบ้านเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมากขึ้น และยังได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจาก สิงห์อาสา ทำให้แนวทางการลดปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันเห็นภาพความสำเร็จชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การอบรมครั้งนี้ยังสามารถนำไปถ่ายทอดให้คนในหมู่บ้านได้ เป็นประโยชน์ในระยะยาวที่ให้พวกเราได้ดูแลท้องถิ่นของตนเองต่อไป
ผศ.ดร.ว่าน วิริยา อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนนี้ค่าฝุ่นเริ่มสูงขึ้นและเกินมาตรฐาน อยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้มีแนวโน้มที่สถานการณ์ฝุ่นจะดีขึ้น เพราะนโยบายของภาครัฐและเอกชนช่วยกันผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.อากาศสะอาด ตลอดระยะเวลาที่ร่วมงานกับทางสิงห์อาสา มีการจัดการอบรมเรื่องฝุ่นในชุมชน แนะแนวทางป้องกัน และทำห้องปลอดฝุ่น ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่เราได้มาตรฐาน 3 ดาว โดยมีการพัฒนาการถ่ายเทอากาศ มีการวัดความเข้มข้นของฝุ่น และทำระบบเตือนภัยเพิ่มเข้ามาด้วย
"ในปีนี้เรามีมุ้งสู้ฝุ่น ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากห้องปลอดฝุ่น เป็นการดัดแปลงสำหรับพื้นที่ห่างไกลที่แม้ไม่มีห้องแอร์หรือห้องที่ปิดสนิท แต่ก็ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ตอนนอน กระบวนการทำงานคล้ายกับห้องปลอดฝุ่นคือ มีเครื่องฟอกอยู่ข้างนอกแล้วกรองอากาศใส่เข้าไปในมุ้งผ้าฝ้าย อากาศในนั้นก็จะเป็นอากาศบริสุทธิ์ กันฝุ่นได้ 70 - 80% และสามารถใช้ได้ในบ้านทุกรูปแบบ ส่วนตัวเครื่องกรองอากาศ เราใช้กระดาษรียูส 100% มาทำ ซึ่งมีความแข็งแรงและกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีค่าใช้จ่ายไม่เกินหนึ่งพันบาท ที่สำคัญสามารถประกอบใช้งานเองได้และคนในชุมชนยังเข้าถึงง่ายด้วย"
สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ยังคงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่มีส่วนช่วยดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยพื้นที่ทางภาคเหนือมักประสบ ปัญหาไฟป่า ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา อย่างปัญหาพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย และปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นก็คือ การลดการเกิดไฟป่า และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ ความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ที่เปรียบเสมือนแนวหน้าในการจัดการไฟป่า ดังนั้นการให้ความรู้เพื่อตระหนักถึงปัญหาและช่วยสนับสนุนสิ่งของที่จำเป็นให้พวกเขาเพื่อเป็นกำลังหลักในการป้องกันไฟป่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก ซึ่งภารกิจที่กล่าวมาทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจของบุญรอดฯ ที่อยากมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน