วิถีแบบ 'มิตร' กับการนำ 'กลุ่มมิตรผล' ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนของโลก
"กลุ่มมิตรผล" ก้าวสู่การเป็นองค์กรยั่งยืนของโลก จากผลการประเมิน โดย S&P Global พร้อมเดินหน้าองค์กรสร้างการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งให้กับทุกภาคส่วน
ในบริบทของโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน การดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในกรอบของคำว่า ESG จึงเปรียบเสมือนมาตรฐานการดำเนินงานที่ทุกองค์กรทั่วโลก "ต้องลงมือทำทันที" ไม่ใช่แค่สิ่งที่ "ควรทำ" หรือ "เตรียมที่จะทำในอนาคต" ด้วยความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้ อีกทั้งผู้บริโภคยุคใหม่ก็หันมาให้ความสำคัญกับจุดยืนของแบรนด์ที่ทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความตั้งใจในการพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลเมื่อสมัยเกือบ 70 ปีก่อน ยังไม่มีคำว่า CSR, ESG หรือ Sustainability เหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่ด้วยความเชื่อว่าเราไม่สามารถอยู่ได้ลำพัง โดยไม่มีคนรอบข้าง สังคม และสิ่งแวดล้อม การได้เห็นทุกคนเติบโต ร่วมอยู่ ร่วมเจริญไปด้วยกัน จึงเป็นเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจในแบบของ กลุ่มมิตรผล และเป็นความหมายของคำว่า ความยั่งยืน อีกทั้งเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอมา
ด้วยแนวคิดตั้งต้นนี้ จึงเป็นที่มาของการทำงานในแบบ "ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ" หรือ "Grow Together" เป็นวิถีการทำงานแบบมิตรซึ่งสอดคล้องกับชื่อองค์กรและชื่อผลิตภัณฑ์น้ำตาล มิตรผล ที่มีความหมายว่าผลผลิตของมิตรแท้ที่ร่วมทุกข์ ร่วมสุข อยู่คู่กับเกษตรกรและผู้บริโภคมากว่า 67 ปี แนวคิด "ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ" สะท้อน DNA ของความเป็นมิตรผลได้เป็นอย่างดีกับเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนไปกับทุกภาคส่วน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Motto ขององค์กรตั้งแต่แรกเริ่ม และยังยึดถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ จนนำพาให้องค์กรสามารถยกระดับการพัฒนาอย่างเข้มข้น จนก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร จากผลการประเมินด้านความยั่งยืน โดย S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) Score 2023 ซึ่งมีบริษัทกว่า 9,400 แห่งทั่วโลกเข้ารับการประเมินใน 62 อุตสาหกรรม และเป็นเกณฑ์การประเมินแบบเดียวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการประเมินผล Dow Jones (DJSI)
"มองว่านอกจากการตั้งเป้าหมายและกำกับการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 3 มิติ คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เชื่อมโยงกันแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยนำองค์กร Benchmark วัดผลกับมาตรฐานสากล เช่น การประเมินของ S&P Global เพื่อให้เห็นว่าเรามีจุดไหนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว หรือยังมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง เพื่อนำมากำหนดเป็นนโยบายต่อไป กลุ่มมิตรผล เองแม้ว่าจะไม่ได้เป็นองค์กรที่จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่พร้อมที่จะยกระดับการพัฒนาด้านความยั่งยืน จึงเข้าร่วมการประเมินในด้านนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนก้าวจากอันดับ 17 สู่อันดับ 3, 2 และก้าวสู่อันดับ 1 ในปี 2023" บรรเทิง กล่าว
บรรเทิง กล่าวเพิ่มว่า กลุ่มมิตรผล เติบโตมาจากภาคเกษตร ทำให้ตระหนักว่าภาคอุตสาหกรรมนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้บริโภค และสามารถสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับโลกได้ จากการเป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก และยังเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบหลักให้กับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยลด Climate Change สร้างสมดุลที่ยั่งยืนได้ จึงมีเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการยกระดับภาคเกษตรไทยให้สามารถส่งต่อความยั่งยืนเหล่านี้แก่คนรุ่นต่อไปได้
การประเมิน S&P Global ในปีนี้ กลุ่มมิตรผลได้คะแนนรวมสูงสุดเป็นอันดับ 1 (Top 1%) และยังทำคะแนนสูงเป็นอันดับ 1 ในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม โดย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กว่า 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า จากการดำเนินงานของอุทยานมิตรผลด่านช้าง สุพรรณบุรี ซึ่งนับเป็นประเทศไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนโรงงานในกลุ่มมิตรผลให้ก้าวสู่การเป็น Carbon Neutral Complex และขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ลดคาร์บอน ครอบคลุมตั้งแต่การดำเนินงานภายในโรงงาน กลุ่ม Supply Chain การชดเชยการปล่อยคาร์บอนฯ ไปจนถึงการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างพันธมิตรในการเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ
สำหรับด้านสังคม กลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ มีทักษะ สามารถปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ด้านสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ผ่านการถ่ายทอดแนวทางการทำไร่สมัยใหม่ "มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม" ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมการบริหารจัดการ มาผสมผสานให้เป็นแนวทางทำเกษตรที่แม่นยำ เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงรับซื้อใบอ้อยเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลและเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรซึ่งเป็นทางหนึ่งในการสนับสนุนให้เกษตรกรตัดอ้อยสด ลดการเผา อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยและสร้างกลุ่มอาชีพให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
รวมถึงด้านเศรษฐกิจ กลุ่มมิตรผลมุ่งพัฒนาการผลิตน้ำตาล สู่พลังงานสีเขียว (ไฟฟ้าชีวมวล และเอทานอล) ปุ๋ย อาหารสัตว์ และวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมไบโอเบส ด้วยแนวคิด From Waste to Value Creation เปลี่ยนของเหลือใช้ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"กลุ่มมิตรผล ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 เพื่อสนับสนุนการแก้ไข ภาวะโลกร้อน ของประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก" บรรเทิง กล่าว