'ธนินท์ เจียรวนนท์' ติดอันดับหนึ่งเศรษฐีไทย ชูแนวคิด 'ทำงานเหมือนไปเที่ยว'
"ธนินท์ เจียรวนนท์" ติดอันดับสูงสุด "เศรษฐีไทย" ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกปีล่าสุดของนิตยสารฟอร์บส เผยแนวคิด "ทำงานเหมือนไปเที่ยว" พร้อมเรียนรู้จากคนเก่ง น้ำไม่เต็มแก้ว
นิตยสารฟอร์บส จัดอันดับมหาเศรษฐีโลกปี 2567 ปรากฏว่า เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ นักธุรกิจฝรั่งเศสวัย 75 ปี และครอบครัว (Bernard Arnault & Family) แอลวีเอ็มเอช บริษัทข้ามชาติเจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก ด้วยความมั่งคั่ง 233 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่อีลอน มัสก์ ตามมาติดๆ อันดับ 2 มีทรัพย์สิน 195 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเจฟฟ์ เบซอส แห่งแอมะซอนอันดับ 3 และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook อันดับ 4 โดยในปีนี้ผู้ที่รวยสุดในไทยที่ติดอันดับเศรษฐีโลก ยังคงเป็น นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวแห่งเครือซีพี ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยอยู่ในอันดับที่ 159 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินโดยรวม 12.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่ง เครือซีพี ทำธุรกิจอยู่ใน 22 ประเทศทั่วโลก โดยในแต่ละปีจ่ายภาษีให้รัฐบาลไทยไม่ต่ำกว่าปีละกว่า 20,000 ล้านบาท และยังเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 450,000 ตำแหน่งทั่วโลก ทั้งนี้ฟอร์บสยังระบุว่า "นายธนินท์" คิดเสมอว่า การทำงานเหมือนการไปเที่ยว
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยถึงเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จว่า การทำธุรกิจเหมือนการไปเที่ยว หากสนุกในการแก้ปัญหาก็จะสามารถทำงานไปด้วยและมีความสุขไปด้วยได้ ในการทำธุรกิจของ เครือซีพี มักเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ หลายอย่าง เป็นผู้บุกเบิกเรื่องใหม่ ที่ยังไม่มีคนเคยทำในยุคนั้นๆ และก็ทำอย่างจริงจัง รวดเร็ว หลายครั้งเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งคนเก่งหลายคนเมื่อเจอเรื่องยากก็ไม่อยากจะทำ แต่เครือซีพี มักจะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย พอทำให้ง่ายได้แล้ว คู่แข่งก็จะน้อย แต่อย่างไรก็ดีในยุคนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก ปีนี้เครือซีพีมีอายุ 103 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงมีความสำคัญ หากเสี่ยง 30 มีโอกาสชนะ 70 จะตัดสินใจลงมือทำ แต่หากเป็นการลงทุนที่ใหญ่เกินตัวจนอาจทำให้เราล้มละลายเราก็จะไม่ทำ และที่สำคัญคือ การไม่หยุดเรียนรู้ เพราะคิดเสมอว่าถ้าเราไม่พัฒนาจะสู้หน้าใหม่ไม่ได้ ดังนั้นเราต้องมองหาคนเก่งแล้วไปพูดคุยสอบถาม อัปเดตความรู้ ต้องเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เรียนรู้จากคนเก่งตลอดเวลา
สำหรับความสำเร็จอาณาจักร CP ในวันนี้ไม่ว่าจะในและต่างประเทศ "นายธนินท์" เคยกล่าวว่า ตัวเขาคนเดียวไม่มีทางที่จะสร้างขึ้นมาได้ แต่ต้องอาศัยพนักงานกว่า 4.5 แสนคน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ การให้อำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยคนรุ่นเก่าทำหน้าที่สนับสนุนชี้แนะ แต่ไม่ชี้นำ จึงจะทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงได้ทันโลก ดังนั้นการสร้างผู้นำคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จ โดย CP เลือกจะปั้นเอาดาวรุ่งในองค์กร คนที่มีแววว่าจะเติบโตได้ เอามาพัฒนาให้กลายเป็นผู้นำในยุคต่อๆ ไป ซึ่งจะพัฒนาให้เป็น "เถ้าแก่" รู้กำไร ขาดทุน รู้การตลาด รู้การผลิต แทนที่จะรู้เรื่องเดียว แต่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่บริหารเหมือนเป็นเจ้าของ เหมือนสตาร์ทอัพ แต่ความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะในเครือมีตัวช่วยมากมายให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น หากมีความทุ่มเท และเสียสละ การสร้างและเปิดเวทีคนรุ่นใหม่นับเป็นอาวุธสำคัญ เพราะพวกเขาเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรแต่แรกอยู่แล้ว รวมทั้งยังอายุยังน้อย สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้มีการขับเคลื่อนการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ค่านิยม 3 ประโยชน์ ที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ขององค์กร โดยปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทแม่ที่มีการถือหุ้นบริษัทในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ โดยแบ่งเป็น 8 สายธุรกิจหลัก 14 กลุ่มธุรกิจย่อยใน 22 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งออกกว่า 140 ประเทศ ใน 6 ทวีป มีพนักงานทั้งหมดกว่า 4.5 แสนคน มีธุรกิจที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร - อุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป ธุรกิจเวชภัณฑ์ การเงินและการธนาคาร