'ทอดไม่ทิ้ง - ไม่ทอดซ้ำ' สู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF
จากโครงการ "ทอดไม่ทิ้ง" ต่อยอดสู่โครงการ "ไม่ทอดซ้ำ" สร้างทางเลือกการบริโภคปลอดภัยจากผู้ขายที่ผ่านการรับรอง เพื่อก้าวต่อไปในการผลิต SAF เปลี่ยนน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วให้เป็นพลังงานสะอาด ลดโลกร้อน ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG
จากจุดเริ่มต้น "รับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว" เพื่อนำไปผลิตไบโอดีเซลของ กลุ่มบริษัทบางจาก ในฐานะผู้นำพลังงานทดแทนเมื่อ 17 ปีที่แล้ว นับจากปี 2550 เพื่อแก้ไขปัญหาการทิ้งน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วไม่ถูกวิธี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำไปใช้ซ้ำจนเป็นผลเสียต่อสุขภาพ
วันนี้กลุ่มบริษัทบางจาก ในฐานะผู้นำพลังงานแห่งอนาคต ได้ยกระดับการรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร สู่การนำไปผลิตเป็น น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel : SAF ผ่านโครงการ "ทอดไม่ทิ้ง" และต่อยอดสู่ "ไม่ทอดซ้ำ" รณรงค์ให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารไม่ใช้ น้ำมันทอดซ้ำ สร้างทางเลือกในการบริโภคอาหารปลอดภัยให้แก่ประชาชนจากผู้ขายอาหารที่ได้ใบประกาศนียบัตรโครงการไม่ทอดซ้ำ
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เผยความรู้สึกในวันลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ "ไม่ทอดซ้ำ" ระหว่าง บางจากฯ และ กรมอนามัย ว่า ดีใจแทนคนไทยและเพื่อนมนุษย์ วันที่ผู้บริหารบางจากฯ ไปพบที่กรมอนามัยแล้วบอกว่าจะชวนคุณหมอขึ้นเครื่องบินเที่ยวบินปฐมฤกษ์ที่มีน้ำมันผลิตจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เราตัดสินใจง่ายมากที่จะร่วมด้วยทันที เพราะเห็นประโยชน์ และถ้าจะขยับไปข้างหน้าได้ ต้องร่วมมือกัน
"เรารู้ว่าการไม่ทอดซ้ำดีต่อสุขภาพ แต่พอรู้ว่าจะเอาน้ำมันใช้แล้วไปผลิตน้ำมันเพื่อใช้กับเครื่องบิน ยิ่งทำให้ดีใจ เป็นการเริ่มต้นที่น่ายินดีมาก บางจากฯ มีโครงการทอดไม่ทิ้งอยู่แล้ว กรมอนามัยต้องการรณรงค์ไม่ให้มีการทอดซ้ำ ถือว่าเป็นสองโครงการที่เกื้อกูลกัน พอมาร่วมมือกันต้องบอกว่าช่วยได้มาก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่เราห่วงใยไปถึงสิ่งแวดล้อม"
อธิบดีกรมอนามัย ย้ำถึงการร่วมมือครั้งนี้ว่า โครงการ ไม่ทอดซ้ำ มีความเชื่อมโยงสำคัญกันถึง 3 ด้านคือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ถือเป็นการเปิดตัวโครงการเพื่อกระตุกทุกภาคส่วนให้รับทราบ โดยเฉพาะการเห็นประโยชน์จากโครงการนำน้ำมันใช้แล้วไปขายได้เงินกลับมา เขาก็กล้าที่จะตัดสินใจว่า "ไม่ทอดซ้ำก็ได้" ประชาชนเองได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ไม่มีสารอันตรายต่อสุขภาพ
การขับเคลื่อนที่จะนำพา "ไม่ทอดซ้ำ" ไปสู่เป้าหมายนั้น แพทย์หญิงอัจฉราบอกว่า อันดับแรกคือเรื่องของ "จิตสำนึก" ซึ่งอยากให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงเรื่องสุขภาพเป็นหลัก ปรุงอาหารด้วยการไม่ทอดซ้ำ ส่วนน้ำมันใช้แล้วสามารถนำไปขายเพื่อเป็นการลดต้นทุนได้อีกด้วย ดีต่อโครงสร้างทั้งระบบ นอกจากนี้ยังมองถึงประเด็นสำคัญด้านกฎหมายในอนาคต อาทิ พ.ร.บ.อาหารสะอาด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงเรื่องการไม่ทอดซ้ำ นำไปสู่การ ลดหย่อนภาษี ได้ไหม ซึ่งหากกฎหมายเอื้อไปด้วยกัน จะสามารถทำให้ขยับได้เร็วขึ้น
ในส่วนของร้านอาหารที่ต้องการประกาศนียบัตรโครงการ "ไม่ทอดซ้ำ" ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ โดยขายน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วให้ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก) หรือ บริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012) จำกัด อย่างสม่ำเสมอ 6 เดือนขึ้นไป และใช้น้ำมันประกอบอาหารที่มีค่าสารโพลาร์เกิน 25% ของน้ำหนักน้ำมัน โดยจะมีการตรวจสอบก่อนรับรองโครงการ เรียกว่าการมีป้าย "ไม่ทอดซ้ำ" สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้แน่นอน
"อยากเห็นป้ายไม่ทอดซ้ำพรึ่บทั้งแผ่นดิน ถ้าได้เห็นแบบนั้น ประชาชนก็สบายใจได้ คนไทยติดกับความอร่อย โดยเฉพาะอาหารประเภททอด ปิ้ง ย่าง อยากให้คำนึงว่า อร่อยได้แต่ต้องปลอดภัยด้วย เพราะน้ำมันทอดซ้ำ มีผลต่อสุขภาพทำให้เกิดโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และมีสารก่อมะเร็งอีกด้วย เรากระทรวงสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียว ไม่สามารถทำงานเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนได้ครบวงจร เพราะสุขภาพของประชาชนจะดีไม่ดี ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วย ต้องขอบคุณ บางจากฯ ที่มีโครงการดีๆ ทำให้เห็นแสงสว่าง นอกจากการไม่ทอดซ้ำที่ส่งผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน"
ไม่เพียงแค่อธิบดีกรมอนามัย แต่เชื่อว่าคงมีหลายคนนับถอยหลังรอขึ้นเครื่องบินเที่ยวปฐมฤกษ์ที่บินด้วย SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากสองโครงการพี่น้อง นั่นก็คือ "ทอดไม่ทิ้ง" กับ "ไม่ทอดซ้ำ" ของ กลุ่มบริษัทบางจาก