'ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข...ศิลป์...การใช้ชีวิต' โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับ พฤษภาคม 2567 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข...ศิลป์...การใช้ชีวิต" เขียนโดย "ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี"
เมื่อเร็วๆ นี้ "ธันย่า" ในฐานะทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย โดยกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรสร้างกำลังใจให้กับผู้ต้องขังหญิงใน ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ พร้อมร่วมรับฟังกระบวนการสร้างอาชีพด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
ภายใต้โครงการกำลังใจฯ สานต่อแนวพระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อเป็นการพัฒนาให้ผู้ต้องขังได้มีความรู้ ทักษะความชำนาญ นำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกได้อย่างมีความสุขภายหลังพ้นโทษ
การเรียนรู้ธุรกิจผ้าไหมครบวงจร ตั้งแต่การผลิตระดับต้นน้ำ (การพัฒนาปัจจัยการผลิต) ระดับกลางน้ำ (การแปรรูป) และระดับปลายน้ำ (การตลาด) ส่งเสริมและสนับสนุนให้กับผู้ต้องขังได้ประกอบสัมมาชีพที่สุจริต "นารี NAREE By ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่"
ผ้าไหมยกดอก เป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความงดงามประณีตด้วยฝีมือและเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุ จึงเป็นหนึ่งในหัตถกรรมที่สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขังได้เข้าถึงการเรียนรู้ ก่อเกิดทักษะด้านฝีมือและเยียวยาจิตใจที่สร้างสรรค์กลับสู่สังคมต่อไป
"อิสรภาพ" และ "สุนทรียภาพ" คือกำลังใจให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง เป็นการออกแบบโอกาสคุณภาพชีวิต ด้วยทักษะการทำงานในหัตถกรรมสู่หัตถศิลป์ จากการเรียนรู้ฝึกฝนทำซ้ำ ก่อเกิดความชำนาญกลายเป็นศิลปะที่หล่อเลี้ยงหัวใจ เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางลักษณะพึ่งพาต้นทุนเดิมของชีวิต เป็นศิลปะการใช้ชีวิต (Art of Living) มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของจิตสำนึกที่ดี นั่นก็คือการเยียวยาโอกาสคืนกลับสู่โลกที่เป็นจริงได้ด้วยการลงมือทำเพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่
ในวันเดียวกันนี้ "ธันย่า" ได้ไปเยี่ยมชม "พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์" เรือนไม้ทรงไทยโบราณอายุกว่า 100 ปี ภายใน ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยมีคุณสุนันทา คงพากเพียร ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และคณะ พาเยี่ยมชม
สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่เพียงโอกาสของผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษได้ทำงานจริง ได้เรียนรู้อาชีพและการปรับตัวกลับคืนสู่สังคม ได้ฝึกอาชีพร้านกาแฟ ร้านเสื้อผ้า ร้านนวดและสปา ที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ แต่นี่คือโอกาสของสังคมในการที่จะได้รับพลเมืองคุณภาพกลับคืนมา
สุขที่ได้ให้โอกาส ร่วมสร้างพลังแห่งความหวัง สนับสนุนผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขังหญิง ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
"ธันย่า" ขอเชิญชวนทุกคนแวะมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ สินค้างานคุณภาพจาก กรมราชทัณฑ์ เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการให้โอกาสและให้กำลังใจ ด้วยแรงสนับสนุน สำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้บนพื้นที่แห่งการให้อภัย เรียกว่าโอกาสสำหรับทุกคน
ท้ายสุดนี้ ผลงานศิลปะบนผืนผ้า ภาพประกอบฉบับนี้ "ผ้าไหมยกดอกลำพูน" ลาย "ญาดานารี" ทอโดยผู้ต้องขังใน ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทผ้าไหมยกใหญ่ แบบไม่มีลายสังเวียน จากการประกวดผ้าไหม "งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566
พบกับ "ธันย่า" และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนใน "กรุงเทพธุรกิจ" ฉบับตีพิมพ์และออนไลน์