ถอดบทเรียนเกษตรกรต้นแบบ โครงการ Zoning by Agri-Map จ.นครราชสีมา
ถอดบทเรียนโครงการบริหารจัดการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่การเกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก จ.นครราชสีมา มุ่งส่งเสริมเกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากนโยบาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก หรือ Zoning by Agri-Map ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา โดย กรมพัฒนาที่ดิน เริ่มดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2562 กระจายไปทุกพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map คือพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) และพื้นที่เหมาะสมเล็กน้อย (S3) รวมกว่า 21,800 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,500 ราย โดยคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมต้องอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมหรือเหมาะสมน้อยที่จะปลูกพืช เช่น ข้าว อ้อย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเจ้าของที่ดินเอง หรือเป็นของพ่อแม่ที่ยังไม่ได้รับโอน ก็สามารถให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเซ็นยินยอมเพื่อเข้าดำเนินการในพื้นที่ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะดำเนินการสำรวจพื้นที่ปรับโครงสร้างและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยหมัก และสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพ การปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นแนวทางพัฒนาที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายชุม ตะสูงเนิน เกษตรกรต้นแบบโครงการฯ อายุ 53 ปี ชาวตำบลหนองตะไก้ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ทำไร่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ Zoning by Agri-Map จำนวน 10 ไร่ จากที่ดินทั้งหมด 70 ไร่ โดยในปี 2560 ทาง สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา ได้นำโครงการบ่อจิ๋วเข้ามาสนับสนุนจากนั้นมีโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่และโครงการ Zoning by Agri-Map มาสนับสนุนเพิ่มเติม โดยเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมาได้ให้ความรู้และการสนับสนุน จึงทำปุ๋ยหมักจากใบไผ่ น้ำหมักขี้หมูจากหยวกกล้วยไว้ใช้เอง และเริ่มลดการใช้เคมีลงหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพฉีดพ่นทางใบ
จากการสนับสนุนของ กรมพัฒนาที่ดิน ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Zoning by Agri-Map ทำให้นายชุมมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการทำการเกษตร เมื่อมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นก็สามารถต่อยอดการทำเกษตรต่าง ๆ ในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เช่น ในร่องน้ำได้เลี้ยงปลาและปลูกกล้วยบนคันคู ปลูกผักสวนครัว ข่า ตะไคร้ ปลูกไม้ผล มะม่วง ลิ้นจี่ ท้อ ขนุน ละมุด ซึ่งได้ผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือนและแจกจ่ายให้คนในชุมชน ความสำเร็จของนายชุมล้วนมาจากความขยันและความกล้าที่จะทำตามองค์ความรู้ที่ได้รับมาจากคำแนะนำ เมื่อเห็นผลก็ทำต่อ และต่อยอดไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดอยู่กับที่ ทำให้การเข้าไปส่งเสริมในกิจกรรมพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามโครงการ Agri-Map จนประสบผลสำเร็จและเกิดประโยชน์