แก้กฎหมายประมง 19 ฉบับผ่านฉลุย หนุนไทยคัมแบ็ก 'จ้าวสมุทร'
แก้กฎหมายประมง 19 ฉบับผ่านฉลุย ออกประกาศเป็นกฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว 17 ฉบับ ส่วนอีก 2 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการออกเป็นกฎหมาย หนุนภาคการประมงไทยให้กลับมาเป็น "จ้าวสมุทร" อีกครั้ง
การแก้ไขปัญหาภาคการประมง เป็น 1 ในนโยบายสำคัญของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงและการแก้ไขกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับชาวประมง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับวิถีชีวิต ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล มีเจตนารมณ์มุ่งมั่นเพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรม ประมงไทย ให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และฟื้นฟูภาคการประมงของไทยให้กลับมาเป็น "จ้าวสมุทร" อีกครั้ง
ประกอบกับที่ผ่านมา ทาง สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือเรียนคณะรัฐบาล เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพชาวประมง 19 ฉบับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเลขึ้น เพื่อขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว
ความคืบหน้าล่าสุด การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กรมประมง ได้ข้อยุติและออกประกาศเป็นกฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้วทั้ง 17 ฉบับ โดยอีก 2 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการออกเป็นกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับวิถีการทำประมงอย่างแท้จริง สามารถอำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงได้ในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องของการขยายวันในการจัดทำเครื่องหมายประจำเรือประมงสำหรับเรือประมงพาณิชย์ เพื่อให้เห็นเด่นชัดตามข้อกำหนดเรื่องของการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดกำหนดชนิด รูปแบบ และเงื่อนไข การใช้เครื่องมือ การทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ การขยายระยะเวลาแก้ไขข้อมูลแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมงที่ไปทำการประมงออกเป็น 24 ชั่วโมง การเปรียบเทียบปรับที่มีความเหมาะสมกับการกระทำความผิดมากยิ่งขึ้น การวางประกันแทนการยึดเรือและเครื่องมือประมง เพื่อช่วยให้เรือประมงสามารถออกไปทำประมงได้ระหว่างการดำเนินคดี
การกำหนดห้วงเวลาการขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์รอบใหม่ให้มีความเหมาะสม การออก Seabook สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม อนุญาตให้ทำงานในกิจการประมง เรื่องของความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพการทำงานบนเรือประมง ฯลฯ
นอกจากนี้ กฎหมายสำคัญที่พี่น้องชาวประมงรอคอยคือ เรื่องของการออกหนังสือรับรองเพื่อจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพาณิชย์ที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่ชำรุดผุพัง ถูกไฟไหม้หรืออับปาง เนื่องจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมให้ชาวประมงมีเรือที่ใช้ในการประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดย "คืนสิทธิการทำประมง" ให้เรือที่พ้นผิดทางกฎหมาย และเรือชำรุด ไฟไหม้ สูญหาย อับปาง เป็นการให้มีโอกาสกลับมาทำประมงได้ดังเดิม ไม่เสียสิทธิการประกอบอาชีพ มีกฎหมายคุ้มครอง และได้สิทธิในการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเต็มที่ อาทิ การช่วยเหลือกรณีประสบภัยธรรมชาติ ฯลฯ ทำให้มีสินทรัพย์เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในส่วนของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ได้ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้านที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเรือไทย โดยเปิดให้พี่น้องชาวประมงสามารถยื่นขอหนังสือรับรองได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดสรรเพิ่มวันทำการประมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระหนี้สินของชาวประมง และการอนุญาตผ่อนผันเครื่องมืออวนรุนทำการประมงเพื่อกำจัด ปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ที่เกิดการรุกราน เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในครั้งนี้
การปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดกฎหมายลำดับรองทั้ง 19 เรื่องข้างต้น ถือเป็นการสร้างความชัดเจนในแต่ละเรื่องและปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัย เข้ากับวิถีการทำประมง ทั้งประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของสากลและกฎกติการค้าโลก หากชาวประมงได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ จะทำให้รับความสะดวก คล่องตัวในประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยลดการถูกกีดกันทางการค้าในตลาดส่งออกปลายทาง ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมหาศาลในอนาคต