นักวิชาการย้ำบทบาทวิชาเคมี ชูโครงการ 'ห้องเรียนเคมีดาว' สร้างโอกาสเด็กไทยครบ 10 ปี
นักวิชาการย้ำบทบาทวิชาเคมี ชูโครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" สร้างโอกาสเด็กไทยครบ 10 ปี ส่งเสริมให้เด็กๆ ลงมือทดลองจริง สร้างนักเคมีรุ่นใหม่ เพื่อนำพาประเทศไทยสู่เส้นทางความยั่งยืน
นักวิชาการไทย และต่างประเทศ ประสานเสียง ตอกย้ำบทบาทวิชาเคมีต่อการพัฒนานวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ "พลังแห่งวิชาเคมีต่อการผลักดันเป้าหมายด้านความยั่งยืน" ในประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านวิชาเคมี ครั้งที่ 27 ที่พัทยา โดยชูไทยเป็นตัวอย่างในการเผยแพร่ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน ซึ่งเปิดโอกาสเด็กไทยลงมือทำการทดลองจริง สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนักเคมีรุ่นใหม่ เพื่อนำพาประเทศไทยสู่เส้นทางความยั่งยืน พร้อมการฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว"
ศาสตราจารย์แมรี่ การ์สัน รองประธานสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (IUPAC) และศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า วิทยาศาสตร์เคมีเป็นแขนงวิชาที่มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (SDGs) หลายด้าน เพราะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในโลก เช่น ต้องการน้ำสะอาด ความปลอดภัยทางอาหาร รวมถึงนวัตกรรม และโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์แมรี่ กล่าวเพิ่มอีกว่า ที่ผ่านมา IUPAC ได้ดำเนินหลายโครงการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่และสนับสนุนการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี และในปี 2568 IUPAC จะประกาศหลักการเพื่อการปฏิบัติการด้านเคมีอย่างมีความรับผิดชอบ (Principles for the Responsible Practice of Chemistry) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กล่าวในเวทีเดียวกันว่า วิชาเคมีคือ กุญแจสู่ความยั่งยืน เพราะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโซลูชัน เพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Dow ในฐานะบริษัทด้านวัสดุศาสตร์ จึงมุ่งมั่นที่จะใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ และการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ โดยสินค้าด้านนวัตกรรมของ Dow มากกว่า 89% เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน เช่น วัสดุความหนาแน่นต่ำ เพื่อใช้ทดแทนชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักมากในรถยนต์ ช่วยให้รถมีน้ำหนักเบาลง ประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งตรงกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ 7 ของสหประชาชาติคือ ทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาย่อมเยา และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นางภรณี กล่าวเพิ่มอีกว่า Dow ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัสดุต่างๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ยังได้พัฒนานวัตกรรมอื่นๆ เช่น โซลูชันการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ ซิลิโคนคุณภาพสูงที่ช่วยให้อาคารประหยัดพลังงานมากขึ้น วัสดุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุแผงโซลาร์เซลล์ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ขณะเดียวกัน Dow ยังส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาเคมีของนักเรียนและนักวิจัยทั่วโลก รวมทั้งโครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" ในประเทศไทยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Dow กับสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพันธมิตรต่างๆ ซึ่งได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาครบ 10 ปีแล้ว
"ตั้งแต่ปี 2546 Dow ได้ร่วมมือกับสมาคมเคมีฯ ยกระดับการเรียนเคมีในประเทศไทย ด้วยเทคนิคการปฏิบัติการการทดลองเคมีแบบย่อส่วน ซึ่งช่วยให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้เรียนวิทยาศาสตร์อย่างสนุกและเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้ได้รับการยอมรับจาก ยูเนสโก ว่าเป็นการทดลองเคมีที่ปลอดภัย ประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดอุปสรรคในการเรียนวิทยาศาสตร์ ช่วยบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาประเทศต่อไป" นางภรณี กล่าว
การทดลองแบบย่อส่วนจะใช้สารเคมีน้อยกว่าการทดลองปกติ 100-1,000 เท่า จึงช่วยลดขยะที่เกิดจากการทดลองและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นชุดทดลองขนาดเล็ก มีราคาถูก สามารถขนส่งได้ง่ายแม้แต่ในพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบัน มีการใช้ชุดทดลองแบบนี้อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี ออสเตรีย เม็กซิโก ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และไทย
ทั้งนี้ โครงการห้องเรียนเคมีดาว ยังได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำให้สามารถขยายแนวทางการเรียนการสอนเคมีแบบย่อส่วนนี้ไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วไทยได้สำเร็จ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนี้ รวมกว่า 1,197 แห่ง มีการอบรมเพิ่มพูนทักษะความสามารถการสอนวิชาเคมีแก่ครูทั่วประเทศไปแล้วมากกว่า 2,100 คน พร้อมปลุกปั้นครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบกว่า 150 คน เพื่อให้ความรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่วงการการศึกษา โครงการนี้ส่งเสริมให้นักเรียนกว่า 470,000 คน ได้เรียนวิชาเคมีอย่างมีคุณภาพด้วยการทำการทดลองจริง และกำลังขยายต่อไปเรื่อยๆ
ดร.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงโครงการการศึกษาของครูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนในภูมิภาคนี้ โดยปัจจุบันดำเนินโครงการใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย คาซัคสถาน อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย รวมถึงมีความร่วมมือกับแชมเปี้ยนในมหาวิทยาลัยในประเทศดังกล่าว
"นักการศึกษาต้องส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบ 3 มิติ ที่ผู้เรียนเข้าใจแนวคิดหลักของวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ สามารถตั้งคำถาม ระบุปัญหา และอธิบายปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนต่างๆ ได้" ดร.เกศรา กล่าว
นายลี ทาน เหวิน ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการโรงเรียนลอว์เรนซ์ เอส. ถิง (Lawrence S. Ting School) ประเทศเวียดนาม กล่าวถึงประโยชน์ของการทดลองเคมีแบบย่อส่วนว่า เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำการทดลองจริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเรียนวิชาเคมี ครูไม่สามารถทำให้นักเรียนทุกคนทำการทดลองเคมีในขนาดปกติในห้องเรียนได้ เนื่องจากขาดเครื่องมืออุปกรณ์ แต่เมื่อใช้ชุดทดลองเคมีแบบย่อส่วน นักเรียนแต่ละคนสามารถทำการทดลองได้เอง ครูสามารถจัดกิจกรรมให้เหมาะกับลักษณะการเรียนรู้และระดับความรู้ความสามารถของนักเรียนแต่ละคนได้ นอกจากนี้การทดลองเคมีแบบย่อส่วนยังสามารถช่วยปลูกฝังให้นักเรียนรักสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะชุดทดลองดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ยังลดปริมาณสารอันตรายที่จะอาจจะเข้าสู่ร่างกายด้วย
"การฝึกอบรมครูผู้สอนเกี่ยวกับวิธีการสอน และการปรับหลักสูตรการเรียนวิทยาศาสตร์และวิชาเคมีเป็นสิ่งที่ดี และควรส่งเสริมความร่วมมือและแบ่งปันองค์ความรู้ที่ดีระหว่างครูผู้สอนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติด้วย เนื่องจากความร่วมมือกันเป็นกุญแจสำคัญต่อการเดินหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน" นายเหวิน กล่าวทิ้งท้าย
หลังจบการเสวนา โครงการห้องเรียนเคมีดาว ยังได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนในประเทศไทย 2 คน ได้แก่ ศ.ดร. ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ผู้อำนวยการโครงการห้องเรียนเคมีดาว และรศ.ดร.สุภกร บุญยืน
ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนตามแนวทางของ "ห้องเรียนเคมีดาว" ได้ที่เว็บไซต์ DowChemistryClassroom