ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข...ใต้ร่มพระบารมี โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับเดือนกันยายน 2567 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข...ใต้ร่มพระบารมี" โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
ด้วยเอกลักษณ์ของผ้าทอและผ้าปักชาวไทยภูเขา ที่มีความประณีตและมีสีสันเฉพาะตัว งานหัตถกรรมเหล่านี้เปล่งประกายขึ้นมาด้วย พระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชหฤทัย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แม้แต่บนพื้นที่ดอยสูงที่หลายคนไม่เคยไปถึง โดยทรงงานที่สอดคล้องกับ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เมื่อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวพระราชดำริให้พสกนิกรในพื้นที่ดอยสูงทำเกษตรกรรมปลูกพืชผักเมืองหนาวแทนการปลูกพืชเสพติด สมเด็จพระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนี ก็ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ครอบครัวเกษตรกรเหล่านั้นทำงานหัตถกรรมอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในยามว่างจากการทำเกษตรกรรม เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว และยังเป็นการอนุรักษ์สืบทอดงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่า ด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้นนี้ ส่งผลให้ชาวไทยภูเขาในปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่ทำลายระบบนิเวศ
งาน ผ้าชาวไทยภูเขา มีความสง่างามของผ้าทอมือที่มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย การสร้างลวดลายมีความแตกต่างจากชาติพันธุ์อื่นๆ เป็นลวดลายที่เกิดจากคติความเชื่อ วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน อาทิ มีการใช้กี่หน้าแคบ (กี่เอว) การใช้เส้นใยกัญชงมาทอสานขัดเป็นผืนผ้า บางกลุ่มมีการมัดย้อมเส้นด้ายยืนก่อนทอผ้า มีวิธีเย็บ ปัก ปะผ้าด้วยลวดลายเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่ม ซึ่งผ้าบางผืนมีการซ่อนกรรมวิธีของการทอเอาไว้ในลวดลาย
และเป็นที่น่าดีใจว่า เมื่อเร็วๆ นี้ "ธันย่า" ได้มีโอกาสไปร่วมงาน มหกรรมแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง "ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" ภายใต้แนวคิด "ใต้ร่มพระบารมี อัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์ วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ ผลักดันสวัสดิการยั่งยืน" จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้เล็งเห็นความสำคัญของสถานการณ์ความท้าทายของกลุ่มราษฎรบนพื้นที่สูงส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงในมิติด้านอาชีพและรายได้ จึงถือเป็นหลักประกันสำคัญในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตลอดจนสมาชิกกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำมาสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก ผ่านการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการรวมกลุ่มให้เกิดสวัสดิการสังคมในระดับพื้นที่ ทำให้วัยทำงานเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลครอบครัวและชุมชน สอดคล้องกับการส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีเกียรติ ศักดิ์ศรี งานอาชีพ และรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคง
การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ 1.) ส่งเสริมศักยภาพทางด้านอาชีพตามวิถีชุมชนและทุนทางสังคมที่เหมาะสม 2.) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานผ่านกระบวนการ OTOP อุตสาหกรรมจังหวัด หรือสินค้า GI และ 3.) เพื่อให้ราษฎรบนพื้นที่สูงมีอาชีพรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
- เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ และกลุ่มเป้าหมายในการคัดเลือกพื้นที่และผลิตภัณฑ์
- ประสานงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และ/หรือ พระธรรมจาริกในพื้นที่
- จัดทำเวทีค้นหาศักยภาพชุมชน/เวทีประชาคม และกลั่นกรองปัญหา
- การดำเนินกิจกรรมร่วมกัน หรือส่งเสริมสนับสนุนการทำกิจกรรม ได้แก่ การฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ โดยใช้ทุนทางสังคม และการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การฝึกอาชีพที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมการขายออนไลน์ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขาย เช่น โบรชัวร์ แผ่นพับ แค็ตตาล็อก และ E-Book
- ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการเข้าสู่มาตรฐาน OTOP / สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนดีเด่นด้านการจัดการสวัสดิการสังคมประจำปี 2567 ได้แก่ 1.) วิสาหกิจชุมชนดาวม่างงานผ้าใยกัญชง 2.) วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านทอผ้าปวาเกอญอ บ้านแม่ก๊ะเปียง 3.) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพมละบริ 4.) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าเขียนลายเทียนบ้านสิบสองพัฒนา 5.) วิสาหกิจชุมชนห่มฝ้ายลายเก่อญอ 6.) วิสาหกิจชุมชนกลุ่ม By โป่งกระทิง และ 7.) วิสาหกิจชุมชนวิถีชีวิตกะเหรี่ยงครบวงจร
สีสันภายในงาน "ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" ภายใต้แนวคิด "ใต้ร่มพระบารมี อัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์ วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ ผลักดันสวัสดิการยั่งยืน" ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นั้น "ธันย่า" ได้นำงานผ้าทอมือจากชนเผ่าภูเขาของไทยจากคอลเลกชันสะสมของธันย่ามาออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายที่มีความร่วมสมัยสวยงามไปร่วมจัดแสดงภายในงาน ร่วมกับการจัดแสดงนิทรรศการอัตลักษณ์ภูษา ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ และการออกบูธจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ของราษฎรบนพื้นที่สูง (กลุ่มชาติพันธุ์) ได้แก่ ถิ่น, มลาบรี, ขมุ, กะเหรี่ยง, ลาหู่, ม้ง, อาข่า, ลัวะ, ลีซู และเมี่ยน พร้อมหน่วยงานต่างๆ กว่า 100 บูธ นอกจากนี้ยังมีการแสดงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย ใครที่พลาดไปในปีนี้ ปีหน้าพลาดไม่ได้
แล้วพบกับธันย่า และ ทฤษฎีแห่งความสุข ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์