'EXIM BANK' แนะผู้ส่งออกใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
จากปัญหาการเมืองโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้ว ได้เปลี่ยนทิศทางของ Fund Flow ทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดการเงินเปราะบางและมีความผันผวนสูง เพื่อช่วยลดความเสี่ยง "EXIM BANK" แนะผู้ประกอบการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกยังคงร้อนแรงและยืดเยื้อ ไม่มีทีท่าจะยุติได้ในเร็ววัน และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการค้าโลก สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐ และจีนทำให้เกิดการแบ่งขั้วมหาอำนาจทาง เศรษฐกิจโลก ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดกระแส Deglobalization และการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ปัญหาระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ยังคงก่อให้เกิดวิกฤติอาหารและพลังงานทั่วโลก ขณะที่สงครามระหว่าง อิสราเอล-ฮามาส อาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ตลาดเงินปั่นป่วนอยู่เป็นระยะ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การเมืองโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วได้เปลี่ยนทิศทางของ Fund Flow ทั่วโลก เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายไปในประเทศที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เช่น ก่อนเกิดสงครามการค้า ช่วงปี 2561-2562 เม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐไหลเข้าจีนขยายตัวเฉลี่ย 11% ต่อปี แต่หลังจากเกิดสงครามการค้าเม็ดเงินลงทุนได้ไหลไปสู่ประเทศที่เป็นพันธมิตร อาทิ แคนาดา เม็กซิโก รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่วางตัวเป็นกลาง ขณะเดียวกัน เม็ดเงินจากผู้ประกอบการจีนก็มีการย้ายไปสู่ประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งอย่างเช่น อาเซียน อินเดีย รวมทั้งประเทศในแถบแอฟริกา
"คาดว่าประเทศที่วางตัวเป็นกลางอย่างเอเชียน่าจะได้ประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมามี FDI เข้าเวียดนามเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี รวมถึงอินเดียที่โตประมาณ 7% ขณะที่ไทยก็ได้อานิสงส์ดังกล่าวเช่นกัน แม้ว่าอาจจะน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็โตได้ 5% โดยคาดว่า momentum จะยังอยู่ใน Pattern นี้อีกระยะหนึ่ง" ดร.รักษ์ กล่าว
ในปี 2567 ถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง โดยมีกว่า 60 ประเทศ ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจกว่า 60% ของ GDP โลกมีการเลือกตั้งในปีนี้ ประเทศที่จัดการเลือกตั้งแล้ว ทั้งไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย ยังเป็นไปตามคาด ส่งผลให้นโยบายต่างๆ คงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก แต่การเลือกตั้งที่โลกติดตามมากที่สุดคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพราะจะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกในหลายมิติ
ปัญหาต่างๆ เมื่อมัดรวมกันจะทำให้ตลาดการเงินเปราะบางและมีความ ผันผวนสูง แม้ดูภาพรวม เศรษฐกิจโลก มีการเติบโตดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกลดลงแต่ก็ยังสูงกว่าในอดีต ส่วนดอกเบี้ยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ นโยบายการตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ดีผลจากความผันผวนทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียง มูลค่าหนี้โลกในไตรมาสแรกของปี 2567 สูงสุดเป็นประวัติการณ์หรือกว่า 3 เท่า ของ GDP โลก สถาบันการเงินจึงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ภาคธุรกิจเสี่ยงล้มละลายมากขึ้น ตลาดการเงินจึงผันผวนสูง Fund Flow เหวี่ยงแรงส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศผันผวนตามไปด้วย
ดร.รักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากตลาดเงินผันผวนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย ทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น สร้างความเปราะบางให้ภาคธุรกิจต่อเนื่องและกระทบต่อภาระหนี้ของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับสูง เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ยังส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนสูงตามไปด้วย ซึ่งเป็นความท้าทายของทั้งภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในด้าน Portfolio Management
"เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศ จากความเปราะบางตลาดเงินและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน EXIM BANK แนะนำให้ภาคเอกชนใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) หรือการทำประกันค่าเงิน (Foreign Exchange Options) รวมทั้งควรทำประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ" ดร.รักษ์ กล่าว
อีกทั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้ประกอบการ SMEs หากเป็นนิติบุคคลทั้งที่ยังไม่ได้ส่งออก หรือสนใจจะเริ่มส่งออก สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำเรื่องการประกันการส่งออกจาก EXIM BANK ได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 02-169-9999 เพื่อผู้ส่งออกรายใหม่โดยเฉพาะ SMEs จะมีความมั่นใจที่จะทำการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหม่หรือตลาดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ขณะที่สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการอีกมากในตลาดโลก
EXIM BANK เป็นองค์กรรับประกันแห่งเดียวของไทยมีบริการประกันการส่งออกคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การปรับปรุงเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นและสะดวก อนุมัติเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ ประกันการส่งออกยังช่วยให้ผู้ส่งออกรู้จักผู้ซื้อดีขึ้น กล้าเสนอเทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรน และขยายตลาดส่งออกได้อย่างมั่นใจ ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ โดย EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนและติดตามหนี้ เมื่อเกิดความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า