ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข … เกษตรกรพันธุ์ไทย โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข … เกษตรกรพันธุ์ไทย" โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
พันธุ์หม่อน และพันธุ์ไหม ถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานและปัจจัยสำคัญในการสืบสานอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวเส้นและทอผ้าที่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่และดีงามให้คงอยู่คู่กับประเทศไทย เปรียบเสมือนต้นน้ำแห่งความสำเร็จที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ห่วงโซ่การผลิตไหมและผลิตภัณฑ์จากไหม พันธุ์หม่อนที่มีคุณภาพสูงช่วยให้ไหมมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่พันธุ์ไหมที่ทนทานและให้ผลผลิตเส้นไหมคุณภาพ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้การเลี้ยงไหมเกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การรักษาและพัฒนาอาชีพนี้ให้ยั่งยืนต่อไป
ธันย่า ในฐานะ ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย โดย กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพาทุกคนไปรู้จักกับสำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม ซึ่งได้ทำการอนุรักษ์พันธุ์ไหมมีจำนวน 260 สายพันธุ์ เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตไข่ไหมคุณภาพสูงสำหรับแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร รวมถึงใช้ในการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไหม
พันธุ์ไหมที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ไว้มีจำนวน 260 สายพันธุ์ แบ่งเป็น 2 ชนิด
- พันธุ์ไหมชนิดฟักออกตลอดปี (Polyvoltine) หรือไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีจำนวน 95 สายพันธุ์ อนุรักษ์ไว้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ และสำรองความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ไว้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุดรธานี ทั้ง 95 สายพันธุ์ พันธุ์ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านมีลักษณะรังเล็ก เปอร์เซ็นต์เปลือกรังต่ำ ความยาวเส้นใยต่อรัง 200 - 400 เมตร ไหมมีความแข็งแรง ต้านทานโรค และแมลงศัตรูหนอนไหม เลี้ยงได้ดีในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
- พันธุ์ไหมชนิดฟักออกปีละ 2 ครั้ง (Bivoltine) เป็นพันธ์ุไหมที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป มีจำนวน 165 สายพันธุ์ อนุรักษ์ไว้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา และสำรองความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ไว้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ แพร่ ทั้ง 165 สายพันธุ์ พันธุ์ไหมชนิดนี้มีเปอร์เซ็นต์เปลือกรังสูง ความยาวเส้นใยต่อรังมากกว่า 1,000 เมตร
การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทรัพยากรพันธุ์ไหมที่อนุรักษ์ไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เพื่อการผลิตไข่ไหมพันธุ์ดีจึงนำพันธุ์ไหมทั้ง 2 ชนิดมาผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้ไข่ไหมพันธุ์ดี มีผลผลิตรังไหมจำนวนมาก และมีเปอร์เซ็นต์เปลือกรังสูง ความยาวเส้นใยยาวพันธุ์ไหมที่กรมหม่อนไหมผลิตไข่ไหมแจกจ่ายเกษตรกรในปัจจุบัน ได้แก่
1.) พันธุ์ J108 X พันธุ์นางลาย (พันธ์ุเหลืองสระบุรี) เกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์นี้ เพื่อผลิตเส้นไหม
2.) พันธุ์น่าน 72 (พันธุ์ NAN X พันธุ์ J108) เกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์นี้ เพื่อผลิตเส้นไหม
3.) พันธุ์นางตุ่ย X นางสิ่ว เกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์นี้ เพื่อผลิตเส้นไหม
4.) พันธุ์ทับทิมสยาม X พันธุ์วนาสวรรค์ เกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์นี้ เพื่อผลิตเส้นไหม แผ่นใยไหม และไหมขัดฟัน
5.) พันธุ์อุบลราชธานี 60-35 (พันธุ์ UB1 x นางน้อยศรีสะเกษ) หรือพันธุ์ดอกบัว เกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์นี้ เพื่อผลิตเส้นไหม
นอกจากนี้ กรมหม่อนไหม โดยสำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม ยังดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์หม่อนไว้ มีจำนวน 226 สายพันธุ์ ไว้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ 4 แห่ง ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงใหม่ อุบลราชบุรี และศรีสะเกษ
จากความหลากหลาย ของทรัพยากรพันธุ์หม่อนและพันธุ์ไหม ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง และยั่งยืน ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวเส้น ทอผ้าไหม และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม
ธันย่า ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมภูมิใจ เป็นเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สื่อสารท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อสร้างคุณค่าไปพร้อมกับการอนุรักษ์และสืบสานอัตลักษณ์ของชาติ ไม่ว่าทุกคนจะมีพื้นที่เล็กหรือใหญ่ ก็สามารถเริ่มต้นและเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างมั่นใจ ด้วยความรู้และการสนับสนุนจาก กรมหม่อนไหม มาร่วมเปิดรับโอกาสใหม่สร้างทักษะเพิ่มในอาชีพเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยกัน ทั้งนี้สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หรือศูนย์หม่อนไหมเครือข่ายใกล้บ้าน ศึกษาข้อมูล พันธุ์หม่อนและพันธุ์ไหมได้ที่ monmaiseed
แล้วพบกับธันย่า และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนในกรุงเทพธุรกิจฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์