ชป. บริหารจัดการน้ำตามแผนฯ ย้ำน้ำใช้การมากกว่าปีที่ผ่านมา เพียงพอตลอดแล้งนี้
กรมชลประทาน หรือ ชป. บริหารจัดการน้ำตามแผนฯ เผยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 63,427 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 39,485 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1,982 ล้านลูกบาศก์เมตร ยืนยันเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้
วันที่ 25 พ.ย. 2567 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ผ่านระบบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ปัจจุบัน (25 พ.ย.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 63,427 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 39,485 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 1,982 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 22,024 ล้าน ลบ.ม. (89% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 15,328 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับ สถานการณ์น้ำ ในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง มีการปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบน ช่วยลดภาระด้านท้ายน้ำ และยังช่วยให้การระบายน้ำที่ค้างอยู่ในทุ่งจากช่วงฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา ทำได้เร็วยิ่งขึ้น
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ไป Kick Off โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี และทุ่งผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ให้เกษตรกรได้กลับมาเพาะปลูกได้ตามแผนการเพาะปลูกและช่วยชดเชยรายได้จากช่วงฤดูน้ำหลากให้เกษตรกรโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันทุ่งโพธิ์พระยายังคงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องระบายอยู่อีกประมาณ 12 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะสามารถระบายน้ำให้เหลืออยู่ในอัตราที่กำหนดภายในเดือนหน้า ส่วนในพื้นที่ทุ่งผักไห่ยังคงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องระบายอยู่อีกประมาณ 65 ล้าน ลบ.ม. จะสามารถระบายน้ำให้เหลืออยู่ในอัตราที่กำหนดได้ภายในเดือนนี้
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 67 ภาคใต้ตอนล่างจะมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนสะสม ที่จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนการบริการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พิจารณาปรับแผนการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมทั้งปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนในพื้นที่ตอนบนที่ปริมาณฝนลดลงแล้ว ให้ปฏิบัติตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กำหนด แม้ว่าในปีนี้ปริมาณน้ำเก็บกักจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้มีน้ำใช้สำหรับทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ รวมทั้งสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้าได้อย่างเพียงพอด้วย