แกรี เบอร์ตัน ยอดนักระนาด 4 ไม้

แกรี เบอร์ตัน ยอดนักระนาด 4 ไม้

ยอดนักดนตรีผู้ผูกพันกับเมืองบอสตัน และเบิร์กลี คอลเลจ ออฟ มิวสิค

บึ้ม ! บึ้ม ! เกิดระเบิด 2 ครั้ง ห่างกันไม่ถึงนาที บริเวณใกล้จุดเส้นชัยของการแข่งขันวิ่ง “บอสตันมาราธอน” ครั้งที่ 117 เมื่อวันที่ 15 เมษายนนี้ 14.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) แถวถนนบอยล์สตัน ย่านคอปลีย์สแควร์ กลางเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตส์ สหรัฐอเมริกา

ระเบิดครั้งนี้ (ณ เวลาเขียนต้นฉบับ) ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้วาง แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บเกือบ 200 คน น่าอนาถผู้ตายเป็นเด็กชายวัย 8 ปี ที่ไปยืนรอรับพ่อผู้เป็นหนึ่งในจำนวนเกือบ 3 หมื่นคนที่เข้าร่วมแข่งขัน

การแข่งขันวิ่งบอสตันมาราธอน จัดเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 1897 โดยสมาคมกีฬาบอสตัน มักจัดในวันจันทร์ที่สามของเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวัน”ผู้รักชาติ“ (Patriots' Day) จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นการก่อการร้าย โดยกลุ่มผู้เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ ดังจะเห็นได้ว่าก่อนเกิดระเบิดในวันผู้รักชาติ ได้มีการเผาห้องสมุดประชาชน จอห์น เอฟ.เคนเนดี้ ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณระเบิดไม่มากนัก

เป็นเรื่องน่าสลดใจที่เอาความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเหตุทำลายล้างกันอย่างบ้าระห่ำ แม้กระทั่งอยู่ในช่วงการแข่งขันกีฬาที่ถือเป็นกิจกรรมแสดง “สปิริต” ทำคนให้เป็นคน เพราะฉะนั้นการกระทำเช่นนี้มันโหดร้าย ป่าเถื่อน เกินกว่ามนุษย์จะกระทำได้

บอสตัน เป็นเมืองที่น่าอยู่ สงบ ผู้คนมีมิตรไมตรีดี สภาพแวดล้อมเจริญหูเจริญตา บอสตันมิได้เน้นความเจริญทางด้านวัตถุ แต่เจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา มีสถาบันการศึกษาชั้นนำที่เมืองบอสตัน

สำหรับด้านดนตรี มีวงบอสตันซิมโฟนีออร์เคสตรา และ”ซิมโฟนีฮอล” หอแสดงดนตรีเก่าแก่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมือง
Berklee College of Music เป็นสถาบันการศึกษาด้านดนตรีที่คนทั้งโลกรู้จัก ปัจจุบันสถาบันดนตรีแห่งนี้มีนักศึกษาดนตรีในคณะต่างๆ รวมกว่า 5,000 คน เป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรเข้าไปมีชื่อเสียงในวงการดนตรีมากที่สุดโดยเฉพาะดนตรีแจ๊ส และสร้างทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมดนตรีมากมาย บุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ กระจายสร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีอยู่ทั่วโลก เฉพาะอย่างยิ่งตามเมืองใหญ่ๆ

ลอว์เรนซ์ เบิร์ก (Lawrence Berk) ผู้ก่อตั้ง “เบิร์กลี” เมื่อ ค.ศ.1945 เป็นทั้งนักเปียโน นักประพันธ์เพลงที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทั้งๆ ที่เรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) ก่อนจะผันตัวเองมาทุ่มเทกับงานด้านการศึกษาดนตรี เคยยึดอาชีพวิศวกรอยู่หลายปี

อาคารเดิมของเบิร์กลีคอลเลจออฟมิวสิค ตั้งอยู่ถนนบอยล์สตัน ซึ่งปัจจุบันใช้สอนวิชาภาคทฤษฏีและเป็นที่ทำงานด้านบริหาร ส่วนอาคารใหม่อยู่ห่างจากเดิมไม่มากนัก อยู่ตรงสี่แยกถนนบอยล์สตันตัดกับแมสซาชูเสตส์แอวินู มักเรียกสั้นๆว่า “แมสแสฟ” คอนเสิร์ตฮอล หรือ “เบิร์กลีเพอร์ฟอร์มแมนซ์เซ็นเตอร์อยู่ด้านถนนบอยล์สตัน ส่วนด้านติดกับแมสแสฟ อยู่ห่างจากซิมโฟนีฮอลแค่ช่วงตึกเดียวใช้เป็นที่สอนวิชาภาคปฏิบัติ

แกรี เบอร์ตัน นักไวบราโฟนหรือระนาดไฟฟ้าอันดับหนึ่งในวงการดนตรีแจ๊ส เข้าเรียนที่ “เบิร์กลี” ระหว่างปี 1960 - 61 สองปีที่นี่แกรีได้เรียนกับเฮิร์บ พอเมรอย นักทรัมเป็ต ครูดังของเบิร์กลี เคยเล่นกับ ชาร์ลี พาร์กเกอร์ สแตน เคนตัน... เรียนกับไมเคิล กิบส์ นักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงดนตรีชั้นนำ

แกรี เบอร์ตัน เกิดที่แอนเดอร์สัน ชุมชนเล็กๆ ในรัฐอินเดียนา เมื่อวันที่ 23 มกราคม1943 เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุเพียง 6 ปี ส่วนใหญ่หัดเอง เล่นทั้ง “มาริมบา” และไวบราโฟน มาริมบาเป็นระนาดที่มี”พิสัย” (rage) 4 ช่วงคู่แปด ลูกระนาดทำด้วยไม้เนื้อแข็ง วางลูกระนาดเป็น 2 แถวคล้ายแป้นกดนิ้วของเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด คือเล่น “โครมาติก” หรือ 12 ครึ่งเสียงได้ แกรีตี “ไวบราโฟน” (Vibraphone) บางครั้งเขียนย่อว่า “ไวส์” (Vibes) รูปร่างและการวางลูกระนาดคล้ายมาริมบา แต่ลูกระนาดทำด้วยอะลูมิเนียม มีแป้นเหยียบ (pedal) ใช้ควบคุมเสียงสั้น-ยาว

แกรีเริ่มเรียนเปียโนตอนอายุ 16 ปี ขณะเรียนมัธยมที่ “พรินซ์ตัน” ในอินเดียนา พยายามนำเอาเทคนิคของเปียโนมาพัฒนาการเล่นไวบราโฟนหรือ “ระนาดไฟฟ้า” คือแทนที่จะตี 2 ไม้ เหมือนอย่างการตีระนาดทั่วไป เขาตีด้วย 4 ไม้ โดยตีมือละ 2 ไม้ ควบคุมทิศทางของไม้ให้ตีตามเสียงของคอร์ดหรือเสียงประสานเช่นเดียวกับเปียโนซึ่งยากมาก แต่แกรีก็ทำได้สำเร็จ กลายเป็นเทคนิคที่นักไวบราโฟนรุ่นหลังนำไปใช้ แกรี เบอร์ตันจึงถือเป็นผู้ริเริ่มในการตีระนาด 4 ไม้

ไลอะเนิล แฮมพ์ตัน เป็นผู้บุกเบิกการเล่นไวบราโฟนในวงเบนนี กู๊ดแมน เซกซ์เทต ช่วงทศวรรษ 1930 ยุคดนตรี “สวิง” กำลังเฟื่องฟู เป็นคนแรกที่ทำให้ไวบราโฟนได้รับความนิยมในวงการดนตรีแจ๊ส

ตอนอายุ 17 ก่อนเข้าเรียนที่เบิร์กลี แกรีย้ายไปยังเมืองแนชวิลล์ ได้เล่นกับ บูตส์ แรนดอล์ฟ นักแซ็กโซโฟน “คันทรี” และเล่นอัดแผ่นเสียงกับนักเปียโนคันทรีคนดังอย่าง ฟลอยด์ แคลเมอร์ ชุด Last Dance เพลง Last Dance เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงคันทรีและป๊อป เพลงนี้ในบ้านเราก็ฮิตมาก ที่แนชวิลล์ แกรีเล่นอัดเสียงชุด After the Riot in Newport with the Nashville All strars กับ เชต แอตกินส์ นักกีตาร์และโปรดิวเซอร์คนดังแห่งแผ่นเสียง “อาร์ซีเอ” เอลวิส เพรสลีย์ แจ้งเกิดเพราะนักดนตรีคนนี้

ในช่วงเดียวกันนี้ แกรี อัดแผ่นเสียงกับ แฮงค์ การ์แลนด์ นักกีตาร์แจ๊สที่มีพื้นฐานจากคันทรีในชุด Jazz Winds from a New Direction น่าจะเรียกสไตล์การเล่นของ แฮงค์ การ์แลนด์ ว่า “คันทรี-แจ๊ส” โดยเฉพาะเพลง All The Things You Are แนวการ “อิมโพรไวส์” ของ แฮงค์ได้รับการยกย่องจากพวกนักวิจารณ์และนักกีตาร์แจ๊ส

ปี 1963 แกรีออกตระเวนเล่นทั่วอเมริกาและญี่ปุ่นกับวงจอร์จ เชียริ่ง นักเปียโนตาพิการชาวอังกฤษ วงนี้เน้นไวบราโฟนและกีตาร์ จึงทำให้แกรีมีบทบาทมากในวง และเพลง Out Of The Woods ที่แกรีแต่งได้อัดแผ่นกับวงนี้ในปีถัดมา

หลังออกจากวงจอร์จ เชียริ่ง เขาเข้าไปอยู่ในวงสแตน เกตซ์ ช่วงระหว่างปี 1964-66 แกรีเกิดในวงการดนตรีแจ๊สทันที ได้เข้าไปเล่นกับสแตน เกตซ์ นักเทเนอร์แซ็กโซโฟนยิ่งใหญ่ในทำเนียบขาว และบรรเลงในภาพยนตร์ 2 เรื่องคือ เรื่อง The Hanged Man และภาพยนตร์นักศึกษาวัยใส ที่เฮฮาสนุกสนาน เรื่อง Get Yourself A College Girl โดยมี อัสตรูด จิลแบร์โต เจ้าตำรับเพลง The Girl From Ipanema มาร้องเพลงนี้กับวง สแตน เกตซ์ มี แกรี เบอร์ตัน ตีไวบราโฟนคลอประกอบเสียงร้องที่ไพเราะในลีลา “บอสซาโนวา”

ช่วงที่เล่นอยู่ในวงสแตน เกตซ์ ควอร์เทต แกรีได้มาทัวร์เอเชีย ดูเหมือนได้แสดงที่กรุงเทพฯด้วย

ปี 1967 แกรีตั้งวงเองเป็นแจ๊สควอร์เทต ที่มีเขาเป็นหัวหน้าวง แลร์รี คอร์เยลล์ (กีตาร์) สตีฟ สวอลโลว์ (เบส) บ็อบ โมเสส (กลอง) สุ้มสียง แนวดนตรีโดดเด่น ทันสมัย เปี่ยมด้วยพลัง เป็นการผสมแจ๊สกับร็อค และยังมีกลิ่นอายของคันทรีปะปนอยู่ด้วย แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร เป็นกลุ่มนักดนตรีหนุ่มผิวขาวที่สร้างนวัตกรรมดนตรีที่เรียกว่า “แจ๊ส-ร็อค” หรือ “ฟิวชั่น”

วงนี้พอออกแผ่นชุดแรก Lofty Fake Anagram ก็ดังระเบิด แกรี เบอร์ตัน ควอร์เทต ยกวงไปแสดงสดที่ “คาร์เนกีฮอล” ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1968 การแสดงบันทึกลงแผ่นเสียง ชุด Gary Burton In Concert

แกรีเริ่มอัดแผ่นในฐานะหัวหน้าวง ชุดแรก New Vibe Man in Town ปี 1961 จนถึงชุดล่าสุด Hot House รวม 60 กว่าชุด ทั้งนี้ไม่รวมที่อัดกับผู้อื่น เขาได้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ 15 ครั้ง แต่ได้รับรางวัลมารวม 7 ครั้ง

ผมเคยชมการแสดงคอนเสิร์ตของแกรีหลายครั้ง ครั้งประทับใจที่สุด มันที่สุด คือการแสดงร่วมกับ แพ็ต เมธีนี สตีฟ สวอลโลว์ และ อันโตนิโอ ซันเชซ ใน North Sea Jazz ที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว

จริงอยู่แม้ แกรี เบอร์ตัน เป็นชาวอินเดียนา แต่เขาผูกพันกับเบิร์กลี ผูกพันกับเมืองบอสตัน แกรีจึงแต่งเพลง Boston Marathon บรรเลงอัดแผ่นชุด Good vibes เมื่อปี 1969.