ภาษาอังกฤษกับการศึกษาไทย

ภาษาอังกฤษกับการศึกษาไทย

การศึกษาไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายด้านทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนและคุณภาพของครูผู้สอน

โรงเรียนกวดวิชาคืออีกภาพสะท้อนหนึ่งที่จะทำให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาในบ้านเรา ถูกสังคมหยิบยกมาพูดถึงความล้มเหลวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินคุณภาพทางการศึกษา ทั้งวิธีการเรียนการสอน การจัดทำหลักสูตร และผลพวงต่างๆที่เด็กนักเรียนได้รับจากการศึกษาในสถาบันต่างๆ ล้วนแล้วแต่ถูกประเมินว่าต่ำกว่ามาตรฐานทั้งสิ้น

ดังนั้นจึงเกิดคำถามมากมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกขั้นตอนของกระบวนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร, ตำราเรียน, ครู, การจัดวิธีการเรียนการสอน และโรงเรียน

แม้ว่าการศึกษาในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัยมาตลอด แต่ถึงกระนั้นปัญหาหลากหลายก็ยังกลายเป็นจุดบกพร่องทำให้ระบบการศึกษาอ่อนแอ จนส่งผลถึงระดับมาตรฐาน และเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ ที่จะต้องทำการปฎิรูปในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร, วิธีการเรียนการสอน, ตำราเรียนในแต่ละระดับชั้น รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพของครูผู้สอน สิ่งเหล่านี้คือทางออกที่จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการศึกษาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาโดยตลอด

และจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษานั่นเอง จึงทำให้เกิดโรงเรียนกวดวิชาขึ้นมากมายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยโรงเรียนกวดวิชาที่เกิดขึ้นนั้น วิธีการและรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป โดยโรงเรียนกวดวิชาทั้งระดับใหญ่และระดับเล็กที่เกิดขึ้นนี้เสมือนเป็นความหวังอีกแห่งหนึ่งสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง ในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งในด้านความรู้ ที่สถาบันการศึกษาหลักในระบบไม่สามารถจะมีให้

นอกจากนี้แล้ว โรงเรียนกวดวิชา ยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบการแก่งแย่งทางการศึกษา เพื่อให้สามารถได้เข้าไปสู่สถาบันการศึกษาที่ดีกว่า ซึ่งก่อให้เกิดช่องว่างทางการศึกษาในระดับต่างๆ ระหว่างนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะ กับนักเรียนที่มีครอบครัวยากจน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในบรรดาโรงเรียนกวดวิชาที่มีอยู่มากมาย ก็ยังมีบางโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมิได้มุ่งหวังให้เกิดการแข่งขันด้านวิชาการเท่านั้น

ซึ่งจากการแสวงหาโรงเรียนกวดวิชาสักแห่งหนึ่ง เพื่อมาเป็นกรณีตัวอย่างในการสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนกวดวิชา และชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่องบางอย่างของระบบการศึกษาของบ้านเราแล้ว โรงเรียนกวดวิชาเฮ้าส์ ออฟ กริฟฟิน (House of Griffin) ที่อยู่ภายใต้การบริหารของคนรุ่นใหม่อย่าง อ.ทิน่า พานิชกุล ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮ้าส์ ออฟ กริฟฟิน จำกัด จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจและน่ารับรู้อย่างยิ่ง ทั้งแนวความคิดในการศึกษา ,การพัฒนาหลักสูตรไปสู่ระดับสากล และการสร้างมาตรฐานเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาสามารถจะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ในบ้านเรา เพราะเรียนแล้วไม่สามารถเขียนและพูดได้นั่นเอง

อ.ทิน่า พานิชกุล จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี ได้รับทุนการศึกษา AFS (American Field Service) ไปศึกษาต่อที่โรงเรียน Ravenswood, New South Wales ประเทศออสเตรเลีย ก่อนกลับมาศึกษาต่อที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เราไม่ได้ทำธุรกิจการศึกษา แต่เราทำธุรกิจเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับนักเรียนที่ยังขาดความพร้อมหรือยังไม่มั่นใจพอ

และนี่คือคำยืนยันของเธอ

 

เส้นทางสู่การเป็นติวเตอร์ของคุณเริ่มตรงจุดไหน?

ถ้าเอาจุดเริ่มต้นเลยก็ต้องเริ่มจากใจรักในภาษาอังกฤษ ด้วยเป็นนักเรียนไทยรุ่นแรกๆ ที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์ตั้งแต่ Play school โดยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่กฎหมายไทยยังกำหนดให้เด็กไทยจะต้องย้ายเข้าเรียนโรงเรียนไทยเมื่ออายุ 7 ปี แต่ก็ทำให้เรามีการซึมซับทางด้านภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้นมีโอกาสได้รับทุนไปศึกษายังโรงเรียนชั้นนำของประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 1 ปี ก็ทำให้ยิ่งเพิ่มพูนความรู้และทักษะภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสได้สอนรุ่นน้องและเพื่อนๆ และเข้ามาสอนเต็มตัวเพราะเรามีความสุขในการทำสิ่งที่เราถนัด และมีความสุขที่ได้เห็นความสำเร็จของลูกศิษย์ เรียกได้ว่าเป็นอาชีพเดียวที่ทำมาตลอดตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ก็นับเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้วนะคะ

ในฐานะที่สถาบันกวดวิชาเกี่ยวข้องกับการศึกษา จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคุณคิดว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง?

คืออย่างนี้นะ...จากประสบการณ์ที่สะสมมานานตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทำให้เรารู้ว่าเราต้องการทำสิ่งที่แตกต่างจากตลาดส่วนใหญ่ โรงเรียนกวดวิชาจะสอนทางวิดีโอ หรือการจ้างครูรายชั่วโมง เราอยากมีโรงเรียนกวดวิชาที่มีมาตรฐานสูง และเป็นมากกว่าแค่โรงเรียนกวดวิชา เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และอยากทำสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดให้ดีขึ้นไปอีก จึงเริ่มเปิดโรงเรียนเล็กๆ ขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยมีหุ้นส่วน คือเพื่อนที่ชื่อณัฐติยา เกษมปราการ ทำหน้าที่ด้านการวางแผนและการตลาด เริ่มจากการสอนเอง มีพนักงาน 2 คนเท่านั้น

อะไรคือความแตกต่าง?

ความแตกต่างหลักๆ ก็คือ หนึ่งการสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนของเราให้รองรับระบบนานาชาติ ปิดจุดอ่อนของระบบให้กับนักเรียนที่ยังไม่พร้อม สอง การให้ความมั่นคงก้าวหน้าและสวัสดิการแก่ครูและพนักงาน จุดเปลี่ยนสำคัญของเราคือ ตัดสินใจจ้างครูทั้งหมดเป็นพนักงานประจำ ซึ่งทำให้โรงเรียนมีภาระสูงในการรักษาคุณภาพ เราเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความมั่นคง มีสวัสดิการ มีความสุข ก็จะนำมาซึ่งคุณภาพในการสอนต่อนักเรียนของเราอย่างดี เราสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ การตรวจรายงานความก้าวหน้าของนักเรียนทุกๆ สัปดาห์ การส่งรายงานผลการเรียนต่อผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ การตั้งระบบประเมินพนักงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่เป้าหมายร่วมกันในองค์กร ครูและพนักงานทุกคนจะมีแนวทางเดียวกัน คือ คุณภาพของผู้เรียนทุกคน

คุณมองระบบการศึกษาในบ้านเราโดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

ระบบการศึกษาของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าในแง่ของทัศนคติของผู้ปกครองแล้ว จะสนับสนุนลูกหลานให้เข้าศึกษาในระบบนานาชาติ (International program) กันมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่เปิดขึ้นหลายแห่งเพื่อรองรับความต้องการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากการส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีผู้ปกครองจำนวนมากส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ความมุ่งหวังเหล่านี้ล้วนเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษซึ่งปัจจุบันนี้เป็นภาษาสากลของโลก และในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การใช้ภาษาอังกฤษก็ยิ่งขยับใกล้ตัวมากขึ้น การส่งนักเรียนซึ่งยังปรับตัวไม่ทันและยังขาดความพร้อม อาจส่งผลกระทบต่อนักเรียน เนื่องจากระบบการศึกษาด้านภาษาอังกฤษของไทยยังไม่เข้มข้นพอ และคนไทยยังขาดโอกาสฝึกฝนทักษะด้านภาษาในชีวิตประจำวัน

ในทัศนะของคุณโรงเรียนนานาชาติเป็นอย่างไร?

คืออย่างนี้นะคะ....เท่าที่สังเกตุดูแล้ว การเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ 100% นั้น บางคนอาจจะคิดว่าดี เพราะสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่จริงๆแล้วโรงเรียนนานาชาติบางแห่ง ไม่ได้เป็นอย่างที่ใครๆ คิดนะ แต่กลับตรงกันข้าม ดูเหมือนส่งผลให้นักเรียนไทย ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี ภาษาไทยก็ไม่ได้ มากกว่า เพราะเกิดจากการขาดความพร้อมจึงมีผลต่อเด็กจำนวนไม่น้อยทำให้ไม่สามารถจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในระบบนานาชาติได้ ดังนั้นการสอบ GED หรือ IGCSE เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

เพราะเหตุนั้นหรือไม่จึงทำให้เกิดโรงเรียนกวดวิชาเพื่อรองรับโรงเรียนนานาชาติ?

ใช่แน่นอน...แต่ต้องแยกแยะให้ดีนะคะ บางแห่งก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง....ปัจจุบันนี้สถาบันกวดวิชาเพื่อเข้าสู่หลักสูตรนานาชาตินั้นผุดขึ้นมาหลายแห่งรองรับกับความต้องการของตลาดการศึกษาระบบนานาชาติ เพราะฉะนั้นมาตรฐานการควบคุมคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่สำหรับที่ House of Griffin ของเราไม่ใช่อย่างนั้น...เพราะประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่มีมายาวนานของเราย่อมเป็นข้อได้เปรียบ ทุกวันนี้จะเห็นว่ามีหลายสถาบันมากที่จัดตั้งขึ้นโดยจ้างนักศึกษาหรือพนักงานชั่วคราวมาเป็นครูสอน โดยไม่คำนึงถึงหลักการของการศึกษาอย่างแท้จริง และย่อมสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของโรงเรียนนั้นๆ ซึ่งผู้ปกครองจำเป็นต้องใส่ใจในการพิจารณาด้วยว่า ควรจะเสียเงินส่งลูกๆ หลานๆ ไปเรียนหรือไม่?

ในส่วนมหาวิทยาลัยที่ใช้หลักสูตรนานาชาติเป็นอย่างไร?

เส้นทางสู่การเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้น นอกเหนือจากวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ยังมีการสอบคัดเลือกเฉพาะเพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะต่างๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ต่างจากระบบการศึกษาภาคไทย โดยแต่ละมหาวิทยาลัยต่างมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละคณะอีกด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วการสอบเฉพาะจะคัดกรองจาก 3 วิชาหลัก คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คือ มีเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ โดยผ่าน Standardized Tests ต่างๆ ตามข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องมีคะแนนจาก 2 ขั้นตอนด้วยกัน คือ หนึ่ง ความสามารถทางภาษาอังกฤษทั่วไป ซึ่งสามารถนำคะแนน IELTS TOEFL IBT หรือ CU-TEP ที่ข้อสอบออกโดยจุฬาฯ หรือTU-GET ซึ่งเป็นข้อสอบออกโดยธรรมศาสตร์) สองความสามารถทางคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษขั้นสูง คือ SAT หรือ CU-AAT ข้อสอบออกโดยจุฬาฯ หรือ SMART 1 ข้อสอบออกโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้เกณฑ์การรับของแต่ละคณะนั้นก็แตกต่างกันออกไป

สำหรับมหาวิทยาลัยหลักสูตรนานาชาติที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้อีกแห่งหนึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University International College) เนื่องจากเปิดรอบสอบถึง 4 ครั้งต่อปี และมีหลักสูตรการรองรับนักเรียนที่ยังไม่สามารถสอบเข้าได้ โดยการเปิดสอน Pre-College ทำให้แนวโน้มของผู้สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดให้มีการสอบตรงกับทางมหาวิทยาลัย 2 วิชาหลัก คือ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์

หลังจากผ่านเกณฑ์เหล่านี้แล้ว ปราการด่านสุดท้ายก่อนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในฝัน คือ การสอบข้อเขียนและการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นตัววัดสำคัญที่แสดงให้เห็นทัศนคติ ปฏิภาณไหวพริบของนักเรียน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเส้นทางการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนานาชาตินั้นไม่ใช่เป็นเส้นทางที่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป นักเรียนไม่ต้องเป็นกังวลมากนัก แต่ถ้านักเรียนไม่มั่นใจ เราก็มีอาจารย์แนะแนวเตรียมความพร้อมให้เช่นกัน

คุณช่วยขยายความคำว่าสอบ GED หรือ IGCSE ด้วยว่ามันคืออะไรและเป็นผลดีอย่างไร?

การสอบ GED หรือ IGCSE ถือเป็นการสอบเทียบเท่าวุฒิ ม.ปลายที่ได้รับการรับรองจากอเมริกา เป็นหลักสูตรหนึ่งที่รองรับโดยกระทรวงศึกษาธิการ มันจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้านักเรียนสอบผ่านตรงนี้ ก็สามารถจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยหลักสูตรนานาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักได้เลย อาจดูว่าใกล้เคียงกับการสอบเทียบของไทยในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แต่เป็นระบบสากล เพื่อรองรับให้นักเรียนสามารถเทียบวุฒิและศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ และเป็นทางเลือกที่สำคัญอีกทางหนึ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็ก ซึ่งทางสถาบัน House of Griffin ของเรานั้นจะมีการสอนการเรียนที่เข้มข้นและเจาะลึกเนื้อหาเพื่อเน้นการเตรียมตัวเด็กให้พร้อม สำหรับการเข้าสอบให้ดีที่สุดเพื่อศึกษาต่อหลักสูตรนานาชาติทั้งในระบบอเมริกันและอังกฤษ

สำหรับนักเรียนที่มี background การเรียนจากโรงเรียนนานาชาติทั้งในและต่างประเทศ การสอบ GED จะเป็นการสอบเทียบวุฒิในระบบอเมริกัน ซึ่งกระบวนการเรียนและสอบใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ส่วนการสอบ IGCSE ซึ่งเป็นระบบอังกฤษนั้นจะใช้เวลาเพียง 6 เดือน เมื่อเทียบกับการเรียน 3 ปีในระบบมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นหลักสูตรแบบเร่งรัด หรือที่เรานิยมเรียกกันว่าติวเข้ม ในระยะเวลาสั้น นักเรียนและครูจึงจะต้องทุ่มเทกับการเรียนการสอนอย่างมาก แตกต่างกับการเรียนในระบบที่โรงเรียนจะมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม กีฬา และอื่นๆ

แล้วรายละเอียดในตัวสาระของหลักสูตร GEDและ IGCSE เป็นอย่างไร?

คืออธิบายให้เข้าใจง่ายอย่างนี้นะคะ....หลักสูตร GED (General Educational Development) คือ วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีวิชาบังคับ 5 วิชา คือ Mathematics, Science, Language Arts Reading, Language Arts Writing และ Social Studies โดยการเรียนแบบติวเข้มจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การเรียนส่วนของสาระความรู้และการทำแบบฝึกหัด และการทบทวนเนื้อหาที่เรียนทั้งหมดของหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะในส่วนที่นักเรียนอาจจะยังไม่แม่นยำและเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนลงสนามสอบ

ส่วนหลักสูตร IGCSE (International General Certificate of Secondary Education) คือ วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเช่นกันแต่เป็นหลักสูตรของประเทศอังกฤษ โดยมีวิชาให้เลือกหลากหลายเพื่อรองรับกับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแก่นักเรียน เช่น English-First Language, Business Studies, Economics, Mathematics, Physics, Chemistry, Biology, Sociology, Environment เป็นต้น โดยนักเรียนจะต้องสอบผ่าน 5 วิชา จึงจะสามารถนำคะแนนไปเทียบวุฒิกับทางกระทรวงศึกษาธิการได้เช่นกัน

สรุปแล้ว GED และ IGCSE จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนักเรียนที่มีปัญหากับระบบการเรียนในหลักสูตรนานาชาติ ที่เทียบเท่าได้กับวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถนำผลการเรียนระบบนี้ไปใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศได้นั่นเอง

แสดงว่าการเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ?

ถูกต้อง...ทางสถาบันของเราได้รับการยอมรับตรงนี้มาก เพราะการเตรียมความพร้อมและการวางแผนตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงการเริ่มต้นในมหาวิทยาลัยระบบนานาชาตินั้นถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากนักเรียนในวัยนี้ต้องการคำแนะนำและวางแผนด้านการศึกษาต่อจากผู้มีประสบการณ์ตรง ซึ่งผู้ปกครองอาจไม่มีข้อมูลเพียงพอ รวมถึงการวางแผนทางเลือกหากนักเรียนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามฝันได้ ก็เป็นอีกภาระหนึ่งที่จะต้องคิดไว้ล่วงหน้า ซึ่งเรามั่นใจว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ

คุณคิดว่าสถาบันกวดวิชาที่ดีนั้นเป็นอย่างไร?

โรงเรียนกวดวิชาที่ดีควรต้องเริ่มมาจากการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ อาชีพติวเตอร์ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นงานผ่านๆ แต่ในความเป็นจริงอาชีพนี้เป็นงานที่มีความรับผิดชอบสูงต่ออนาคตของเด็ก ไม่ต่างจากครูในโรงเรียนหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ดังนั้นโรงเรียนกวดวิชาที่ได้มาตรฐานควรตระหนักในเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและอนาคตของชาติ นอกเหนือจากการคัดกรองบุคลากรที่มีคุณภาพ การฝึกอบรมครูผู้สอนและควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการเรียนการสอนที่นักเรียนและครูมีการสื่อสารโต้ตอบกันในห้องเรียน ไม่ใช่การสอนโดยวิดีโอ โรงเรียนกวดวิชาควรจะมีการประเมินความก้าวหน้าของนักเรียนทุกคน การวิเคราะห์และติดตามนั้นควรจะมาจากมุมมองทั้ง 2 ด้านคือในแง่ พฤติกรรม และ ศักยภาพในการเรียนรู้ เช่น ครูต้องสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมความสนใจ ความมุ่งมั่น หรือความไม่ใส่ใจ และหาแนวทางแก้ไขรวมทั้งข้อเสนอแนะที่มีให้แก่ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ ความใกล้ชิดที่โรงเรียนกวดวิชามีต่อผู้ปกครองนั้นต้องถือว่าเป็นความร่วมมือที่จำเป็นสำหรับหลักสูตรติวเข้มระยะสั้น

มีเส้นแบ่งอย่างไรระหว่าง ธุรกิจกับ การศึกษา”?

โดยส่วนตัวแล้วนะ....การประกอบธุรกิจเพื่อการศึกษานั้นเป็นธุรกิจที่เน้นคุณภาพอย่างแท้จริง ต้องมุ่งหวังที่จะช่วยให้นักเรียนผ่านเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยให้ได้ แต่การทำธุรกิจด้วยหัวใจเพื่อมุ่งหวังความสำเร็จของนักเรียนนั้น จรรยาบรรณ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อเราต้องสอนด้วยใจ วางแผนการเรียนให้ด้วยความตั้งใจ ก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งต่อโรงเรียนกวดวิชาเองและต่ออนาคตเยาวชนของชาติ เปรียบเสมือนเราเป็นผู้ส่งเสริมความเข้มแข็งด้านวิชาการ ในภาวะที่กระแสการศึกษากำลังปรับเปลี่ยน นักเรียนที่ปรับตัวไม่ทันจำเป็นต้องมีตัวช่วยที่พร้อมส่งเสริมสนับสนุนและพาเข้าสู่เส้นทางการศึกษาที่มุ่งหวังให้จงได้

คุณวางแผนก้าวไปข้างหน้ากับการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไร?

หลายประเทศในอาเซียนใช้ภาษาอังกฤษในระบบการศึกษา เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ มาเลเซีย และก็มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีกว่าเรา การปรับตัวเข้าสู่ระบบการศึกษานานาชาติของไทยก็เพิ่งจะเริ่มมาได้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงมีช่องว่างที่จะต้องพัฒนาทั้งระบบและครูผู้สอน การใช้ครู Native Speaker ก็ไม่ใช่การยืนยันว่า การเรียนการสอนจะมีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่ House of Griffin เรามีคณะทำงานเฉพาะในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งเป็นกลุ่มครูที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เราจึงมั่นใจและภูมิใจที่ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจเพื่อการศึกษาที่แท้จริง พร้อมให้นักเรียนของเราก้าวสู่การแข่งขันอย่างมั่นใจ และเราพร้อมที่จะช่วยโรงเรียนที่สนใจพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน โดยเราถือว่าเป็นภารกิจทางสังคมที่เรายินดีให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โรงเรียนที่สนใจหารือ ก็ติดต่อเรามาได้

คิดว่าทุกวันนี้สถาบันที่ทำอยู่มีสถานะอย่างไร?

มาจนวันนี้โรงเรียนของเรามีครู 30 คน และพนักงานส่วนวางแผนและสนับสนุน 15 คน ทั้งหมด 45 คน และมีนักเรียนทั้งหมดกว่า 2,500 คน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ดิฉันก็ยังสอนเองอยู่บ้างเมื่อมีนักเรียนอ่อนและต้องการพัฒนาอย่างเข้มข้น หน้าที่หลักปัจจุบันคือ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาครู การพัฒนาตำราและคู่มือการเรียนการสอน แก้ปัญหาให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง โดยเริ่มทำงานบริหารมากขึ้นในฐานะกรรมการผู้จัดการ

แล้วก้าวต่อไปในอนาคต?

ที่ผ่านมา เด็กและผู้ปกครองมาหาเราเพื่อปรึกษาหารือ ทำให้เราเข้าใจสถานการณ์การเรียนการสอนในระบบนานาชาติของโรงเรียน โดยที่โรงเรียนอาจมีจุดอ่อนในการพัฒนานักเรียนเข้าสู่ระบบนานาชาติ ดังนั้นที่ House of Griffin ด้วยความพร้อมและประสบการณ์ เราจึงอยากช่วยโรงเรียนไทยพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับมาตรฐานนานาชาติ เพื่อให้นักเรียนสามารถไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เปิดการสอนหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย หรือการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ

และที่ตั้งเป้าสำคัญเอาไว้เลยก็คือ...อยากจะทำให้มาตรฐานการศึกษาของนักเรียนไทยสามารถตอบรับต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปได้อย่างมั่นคง