‘วิจารณ์’แนะสร้างวินัยคนไทย ตั้งเป้าหมายเมือง‘ไร้ขยะ’
ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความพยายามแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่อง
ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความพยายามแก้ไขกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บขยะ หรือการบำบัดน้ำเสีย ที่ยิ่งแก้ก็ดูเหมือนจะไล่ตามไม่ทันปัญหา
นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงรายงานสถานการณ์มลพิษโดยรวมปี 2558 เปรียบเทียบกับปี 2557 ที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ไปเมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ว่าในภาพรวมของสถานการณ์ออกมาค่อนข้างดี แต่มีบางอย่างที่ยังเป็นประเด็นปัญหา โดยปริมาณขยะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นไปตามการคาดการณ์ จากปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนิสัยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะมีอัตราการผลิตขยะประมาณ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
ส่วนคุณภาพน้ำ ในแม่น้ำลำคลองต่างๆ หรือน้ำผิวดิน มีระดับคุณภาพที่ 47% อยู่ในเกณฑ์พอใช้ น้ำที่มีคุณภาพดี มีประมาณ 41% อีก 25% อยู่ในพื้นที่วิกฤตซึ่งยังเป็นพื้นที่เดิม ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง แม่น้ำลำตะคอง รวมถึงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่ยังมีสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำเสียจากแม่น้ำเหล่านี้
ซึ่งระบบน้ำเสียของประเทศ มีการบำบัดได้ตามมาตรฐาน ประมาณ 30% จากปริมาณน้ำเสียทั้งหมด หรือบำบัดได้เพียงวันละประมาณ 9.5 ล้านลบ.ม. ส่วนปริมาณขยะที่สามารถนำไปบำบัดได้ ประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี คิดเป็นอัตรา 49% ซึ่งจากปริมาณขยะที่นำมาบำบัดนี้ สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพียง 18% เท่านั้น กำจัดได้ตามหลักวิชาการ 31% ส่วนอีก 51% ยังเป็นปัญหาอยู่
ส่วนเรื่องของการคัดแยกขยะมีการแยกประเภท 4 ถัง จริงๆแล้วไม่เคยบอกว่าทุกสถานที่จะต้องมีทั้ง 4 ถัง แต่ถังขยะ 4 ถัง เป็นคอนเซปท์ ที่ต้องการทำให้ประชาชนเข้าใจว่า เราจำเป็นต้องแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ประเภทก็มีทางไปของมัน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษกำลังจะทำให้เกิดระบบอยู่ เพราะในทางปฏิบัติของบ้านเรา คือนำขยะทุกอย่างมารวมกันแล้วขนไป
นอกจากนี้ขยะอันตราย ก็อาจมีการร่วมมือกับเอกชนอำนวยความสะดวกในการจัดพื้นที่ให้กับประชาชนสามารถนำของเก่าไปคืนอย่างเช่นแบตเตอรี่ หรือให้เป็นที่ทิ้งขยะอันตราย หรือมีตู้ขยะ กล่องรับชิ้นส่วนที่ใช้แล้ว ให้ประชาชนสามารถนำไปหย่อนลงถังได้
แม้ว่าทุกวันนี้มีการจัดการขยะด้วยระบบรีไซเคิล แต่ยังเกิดขึ้นเฉพาะบางชุมชนที่พร้อม ขณะที่ภาพรวมของทั้งประเทศทำได้เพียง 18-19% ของจำนวนขยะทั้งหมด ทั้งที่ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ มีถึง 40-50%
ส่วนการใช้ถุงพลาสติกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งภายในกรมฯ ก็พยายามรณรงค์ลดการใช้ ซึ่งก็ได้ผลบ้าง แต่เพียงกรณีที่ประชาชนสมัครใจ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจต้องมีกฎหมายบังคับใช้ หรือหากต้องการใช้ถุงพลาสติกก็ต้องจ่ายเงิน เพราะธรรมชาติของคนไทยไม่อยากเสียตังค์อยู่แล้ว
ส่วนที่บางแห่งที่มีการแยกประเภทขยะเพียง 2 ถัง คือ ขยะทั่วไป และขยะที่สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนได้ เท่านั้น ก็เพราะในบางสถานที่ ประชาชนไม่มีโอกาสจะทำให้เกิดขยะประเภทอื่น เช่น ภายในอาคารสนามบินดอนเมือง มีโอกาสน้อยมากที่ประชาชนจะนำแตงโม ไปนั่งรับประทานแล้วต้องทิ้งเปลือกแตงโม ขณะที่ขวดพลาสติกเปล่า และขยะกระป๋องน้ำ ซึ่งเป็นขยะคนละประเภท สามารถหย่อนลงถังใบเดียวได้ เพราะสามารถนำมาคัดแยกได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าสถานที่เป็นชุมชน ก็ต้องมีถังขยะเปียกเพิ่ม
ส่วนการลดขยะเปียกเช่นขยะที่เกิดขึ้นหลังการปรุงรสอาหาร จากการหั่น ตัด สับผัก ผลไม้ เคยได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานของออสเตรเลีย ในการจัดการอาหารบางประเภท ก่อนจะหมดอายุแล้วกลายเป็นขยะสูญเปล่า เช่น อาหารที่ปรุงใส่แพ็คเก็จวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาเก็ต หรืออาหารที่เตรียมเสิร์ฟบนเครื่องบินแต่ไม่ได้เสิร์ฟ ก็น่าจะนำไปบริจาคให้ประชาชนที่ขาดแคลนอาหาร เช่น โรงเรียนแถบชานเมือง ก็จะช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ ซึ่งที่ออสเตรเลีย จะมีอาสาสมัครทำหน้าที่นี้ โดยมีเงินเดือน มีรถให้ขับไปรับอาหารตามสถานที่ต่างๆ
นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการจัดการขยะให้เป็นระบบ สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ คือขยะเป็นของใคร คืออะไร ส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่า เป็นของท้องถิ่น แต่ปัญหาอุปสรรคในการจัดการ มี 2 ส่วนที่ต้องพิจารณา คือ ขยะเป็นของเสีย หรือเป็นทรัพย์สิน บ้างก็ตีความว่า ขยะเป็นทรัพย์สิน ทำให้ไม่อยากให้ขยะอยู่ในมือของผู้อื่น หากตีความว่าเป็นของเสีย ก็จะบอกว่าต้องรีบจัดการ ซึ่งต้องมีเสียค่าใช้จ่าย
สำหรับการการคัดแยกขยะส่วนหนึ่งมีการดำเนินการโดยธรรมชาติ เช่น ครัวเรือน นำถุงพลาสติกกลับมาใช้หมุนเวียน บางแห่งมีการรณรงค์ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ กำลังศึกษาดูว่า หลักเกณฑ์ 3อาร์ คือรีดิวซ์ รียูส และรีไซเคิล มีความจำเป็นเพียงใดในการประกาศใช้กฎหมาย บังคับให้มีการคัดแยกจริง รวมถึงการกำหนด ขั้นตอนวิธีการ
บางทีเราอาจจะวางถังขยะมากเกินไป หรือวางถังขยะแยกประเภท ครบ 4 ใบ แต่ควรวางตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ บ้านเรือนก็ไม่ต้องวางถังขยะหลังละใบด้วย แต่ควรเน้นที่การคัดแยกขยะมากกว่า
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมและจัดการขยะ ในปีหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันจัดโครงการ“ประเทศไทยไร้ขยะ”ด้วยการลดขยะที่ต้นทาง