ห้องเรียนขี้สงสัย...เปลี่ยน 'ปัญหา' เป็น 'ปัญญา'

ห้องเรียนขี้สงสัย...เปลี่ยน 'ปัญหา' เป็น 'ปัญญา'

ชวนครูคิดนอกกรอบ พาเด็กออกนอกห้องเรียน สร้างนวัตกรรมการศึกษาเพื่อบ่มเพาะเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

ลืมภาพเด็กนักเรียนหงิมๆ ที่นั่งฟังครูสอนตาปริบๆ หรือไม่ก็ก้มหน้าก้มตาอยู่กับโต๊ะนักเรียนของตัวเองไปได้เลย เพราะห้องเรียนนี้มีแต่เสียงโต้ตอบระหว่างครูกับนักเรียนในบรรยากาศที่ปราศจากความกลัว ซึ่งผลลัพธ์ไม่ใช่แค่ ‘ความรู้’ แต่ยังตกตะกอน ‘ความคิด’ บนพื้นฐานเหตุและผล

“เมื่อก่อนหนูก็ท่องจำจากในตำราแล้วก็มาสอบทั่วๆ ไป ไม่ได้แสดงออกถึงศักยภาพที่เรามีอยู่ในตัวเอง แต่พอได้มาเข้าโครงการนี้ คุณครูจะเริ่มจากการให้เราไปลงสำรวจพื้นที่ในชุมชนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วก็จะนำปัญหานั้นมาแก้ไข ซึ่งในการศึกษาแบบนี้ทำให้หนูได้พัฒนาตัวเองขึ้น ก็คือจากเมื่อก่อนไม่ค่อยกล้าพูดกล้าถาม กลายเป็นกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น แล้วก็ได้รู้จักการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆ เหมือนเมื่อก่อนจะเป็นคนที่ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนๆ แต่พอต้องมาทำงานกันเป็นทีมก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น” สุกัญญา เจริญกุล นักเรียนจากโรงเรียนสทิงพระวิทยา จังหวัดสงขลา เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองด้วยน้ำเสียงฉะฉาน

ไม่ต่างจากเพื่อนร่วมจังหวัด ธีรภัทธ์ เกื้อทิพย์ จากโรงเรียนระโนดวิทยา ที่บอกว่าแต่ก่อนการเรียนในห้องเรียนจะเน้นด้านวิชาการเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมีโครงการนี้เข้ามา ตอนแรกก็กล้วเพราะว่าไม่เคยทำโครงงาน แต่พอได้ทำแล้วความคิดก็เปลี่ยน ได้ทักษะหลายอย่างเพิ่มเข้ามา จากแต่ก่อนไม่เคยคิดจะหาความรู้ท้องถิ่นมากมายขนาดนี้ พอเข้ามาแล้วเริ่มมีกระบวนคิดที่เปลี่ยนไป กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะถามชาวบ้าน กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำมากขึ้น”

ทั้งสองคนเป็นตัวแทนเพื่อนนักเรียนกว่า 5,500 คนจากโรงเรียน 90 แห่งทั่วประเทศที่มาสะท้อนความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และธนาคารกสิกรไทย หลังจากดำเนินการมาจนถึงที่ปีที่ 6 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานบนฐานวิจัย หรือ (Research-Based Learning)

“ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเรามุ่งพัฒนาครูเป็นหลัก เพื่อให้ครูนำการเรียนรู้บนฐานวิจัยไปใช้ แต่ผลลัพธ์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับครู เกิดขึ้นที่นักเรียน เกิดขึ้นที่ระบบโรงเรียน และเราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นที่ภาพใหญ่ของประเทศ” คงวุฒิ นิรันตสุข หัวหน้าศูนย์พี่เลี้ยงมูลนิธิปัญญาวุฑฒิ กล่าวถึงความมุ่งหวัง หลังจากนับถึงปัจจุบันมีครูเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 700 คน

20181015_๑๘๑๐๑๖_0004

ทว่า ความหวังเช่นนั้นจะไม่มีทางเป็นจริงได้เลยหากไม่สามารถทลายกำแพงอำนาจในห้องเรียน ซึ่ง รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ระบุว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ เช่นเดียวกับการให้เด็กลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง

“เราเชื่อในเรื่องของการวิจัยค้นคว้าสิ่งที่อยู่รอบตัวเพื่อเอาสิ่งที่เรียนมาตอบ เพราะตอนนี้เด็กตอบอะไรไม่ได้นอกจากตอนสอบ แต่ถ้าเด็กไปเจอปัญหารอบตัวมาแล้วเขาสามารถดึงความรู้ที่เรียนมาตอบความสงสัยได้ เขาก็จะรู้สึกพึงพอใจในการเรียน คือรู้ว่าเรียนไปทำไม ตอนนี้การศึกษาไทยผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าที่เรียนไปเอาไปทำอะไร ไม่เห็นได้ใช้เลย ดังนั้นเด็กจะต้องปฏิบัติ แล้วครูก็มีกระบวนการที่ทำให้เด็กเอาความรู้ออกมาอธิบายสิ่งที่ปฏิบัติให้ได้ เด็กปฏิบัตินั่นคือ ‘โครงงาน’ เอาความรู้มาอธิบายสิ่งที่ปฏิบัติเรียกว่า ‘ฐานวิจัย’ ซึ่งมันจะต่างจากโครงงานทั่วๆ ไปที่เด็กได้แค่ทำแต่ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ว่าสาระวิชามันไปบูรณาการตรงไหน วิธีคิดอย่างนี้จึงไปเข้าทางของ STEM”

มากไปกว่านั้น อ.สุธีระ ยังชี้ให้เห็นถึงเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นเยนได้อย่างแท้จริง นั่นคือ การสร้างห้องเรียนปลอดภัย

“ถ้าระบบอำนาจมันยังมีอยู่ เด็กจะไม่กล้าคิด พอเด็กไม่กล้าคิด การครีเอทไอเดียต่างๆ ก็ไม่เกิด เพราะกลัวผิด ครูเองก็ยังกลัวผิด คือระบบที่มันตัดสินถูกผิด มันทำให้สมองไม่ได้เปิด เพราะฉะนั้นต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กรู้สึกปลอดภัย เพื่อที่จะกล้าคิด ไม่กลัวถูกไม่กลัวผิด แล้วครูไม่ใช่ผู้พิพากษาที่คอยตัดสินว่าสิ่งที่เด็กคิดมันผิดหรือถูก ต้องอธิบายกันด้วยเหตุด้วยผลว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ มีเหตุผลอะไรรองรับ วิธีนี้ก็จะทำให้เด็กมีระบบคิดแบบเหตุแบบผล”

 3 หลักคิดพิชิตเป้าหมาย

ในห้องเรียนห้องเดิมที่เพิ่มเติมด้วยการสื่อสารแบบสองทาง ‘ผลเกิดจากเหตุ’ คือคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับกระบวนการเรียนรู้ผ่านการนำสภาพแวดล้อมรอบตัวมาประยุกต์ใช้ร่วมกับสาระวิชาต่างๆ เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ หรือผลที่เกิดขึ้นว่ามาจากสาเหตุใด ซึ่งครูแกนนำสามารถออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ได้อย่างอิสระตามความเหมาะสมของบริบทโรงเรียน โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านกระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเคล็ด(ไม่)ลับในการนำพาเด็กๆ ไปถึงฝั่งฝันของการเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งศตวรรษที่ 21 มีบัญญัติ 3 ประการเป็นแนวทางสำคัญ

 ‘ถามคือสอน’ ครูต้องไม่ป้อนความรู้ แต่ต้อนความคิดของผู้เรียนแบบปุจฉา-วิสัชนา จนผู้เรียนบรรลุคำตอบด้วยตนเอง

 ‘สะท้อนคิดคือเรียน’ ชวนผู้เรียนสะท้อนความรู้สึกและความคิดผ่านการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

 ‘เขียนคือคิด’ ฝึกให้นักเรียนจดบันทึกเป็นประจำเพื่อทบทวนความคิด และเขียนบทความวิชาการเพื่อฝึกการเรียบเรียงความคิดให้สุขุมลุ่มลึก

ปรียา วรรณโร ครูแกนนำโรงเรียนธรรมโฆสิต จังหวัดสงขลา เล่าถึงจุดเปลี่ยนว่า “ถามคือสอน ตอนแรกทำไม่เป็นหรอกค่ะ เราเจอนักเรียนเราก็บอกๆๆ สรุปว่านักเรียนเราไม่เปลี่ยน พอเราเริ่มเรียนรู้ว่า อ๋อ..คำถามมันมีอิทธิพลนะ กลายเป็นว่าตอนนี้ครูจะติด ในกระบวนการสอนไม่ว่าเรื่องอะไรต้องถามว่า ทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร อันนี้คือสิ่งที่มันติดตัว ครูก็พัฒนา นักเรียนก็พัฒนา”

 ข้ามภาคไปที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง รัชนก สุวรรณจักร์ ครูแกนนำอีกคนบอกว่า หลังจากรับหลักการมาแล้วก็ได้นำมาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมือง มุ่งเน้นทางวิชาการ และได้รับความคาดหวังจากผู้ปกครองค่อนข้างสูง

“6 ปีที่ผ่านมาเราตกผลึกในสิ่งที่เราค่อยๆ เรียนรู้ ให้นักเรียนเป็นคุณครูเราในบางโอกาส รับฟังเด็กมากขึ้น เรียนรู้จากเด็ก แล้วเราพยายามทำความเข้าใจกับผู้ปกครองก่อนทุกครั้งที่จะเริ่มโครงการ จากนั้นในช่วงที่แตกกลุ่มย่อยเราใช้จิตตปัญญาให้เด็กเรียนรู้ตัวเองและคนอื่นเพื่อที่จะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข เมื่อเด็กมีความสุข ผู้ปกครองเห็นในสิ่งที่เราทำก็จะให้การสนับสนุน”

ขณะที่ครูแกนนำจากโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม จังหวัดอุบลราชธานี เรวดี นีระภักษ์ มองว่าเป็นความโชคดีที่เพาะพันธุ์ปัญญาเข้ามาในช่วงที่อำเภอเขมราฐต้องการฟื้นฟูเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิม

“ประเด็นที่เด็กศึกษาเรียนรู้จึงมาจากการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ฟังแบบนี้อาจจะคิดว่าเป็นหลักสูตรท้องถิ่นมั้ย ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราไม่ได้เอาชาวบ้านมาสอนในห้องเรียนแล้วจบ ไม่ใช่ แต่เป็นการที่เด็กลงไปศึกษาพื้นที่ชุมชนของตนเอง โดยก่อนหน้าที่จะลุยงานทั้งหมด ครูก็ได้ถูกใส่กระบวนการที่จะเน้นทักษะถามคือสอน เราใช้คำถามถามนำเพื่อให้เด็กเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้องและเกิดการเรียนรู้ ดังนั้นสิ่งที่เด็กได้คือรากเหง้าภูมิปัญญาที่ฝังลึกอยู่ในตัวตนของเขา แล้วมาถ่ายทอดในลักษณะที่ผลิบานขึ้นจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ครูได้เป็นโค้ชให้”

ถึงตอนนี้หลังจากผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายปี ครูแกนนำหลายคนกำลังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับครูรุ่นต่อๆ ไป ขณะที่หลักคิดในโครงการถูกแปรเป็น ‘ระบบปฏิบัติการ’ ตามความเห็นของ สรรเสริญ ใหญ่แก้ว ครูแกนนำโรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม จังหวัดราชบุรี ซึ่งหมายความว่าถึงแม้โครงการจะสิ้นสุดลงแต่แนวทางนี้จะไม่หายไปไหน

“ผมมองเห็นว่าเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นเรื่องของระบบปฏิบัติการที่สามารถนำไปใส่ตรงไหนก็ได้ในทุกสาระวิชา เด็กสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เมื่อก่อนครูเราตั้งเป้าอยู่ที่เรื่องของการสอนเพื่อให้ได้ความรู้ แต่ตอนนี้ตัวเป้าหมายมันเปลี่ยนไปเป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเกิดปัญญา”

20181015_๑๘๑๐๑๖_0008

 

เวทีนี้ต้องมี‘พี่เลี้ยง’

กว่าทศวรรษในนาม ‘การปฏิรูปการศึกษา’ ตามมาด้วยวาทกรรมและโครงการต่างๆ มากมาย ทั้งจากแรงผลักของภาครัฐและแรงกระตุ้นของภาคเอกชน แต่ระบบการศึกษาก็ยังตกอยู่ในวังวนการแข่งขัน เด็กไทยยังคงเป็น ‘ลูกนกรอป้อน’ จำนวนไม่น้อยสอบเก่งแต่คิดไม่เป็น และจำนวนมากมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง

การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยเพื่อก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจึงต้องไปให้พ้นจากกรอบคิดเดิมๆ ซึ่ง อ.สุธีระ เห็นว่าครูสำคัญที่สุด ถ้าไม่สามารถพัฒนาครูให้เรียนรู้กระบวนการใหม่และกล้าพอที่จะนำไปใช้ในห้องเรียนก็ไม่อาจหวังผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กได้

“ในระบบการปฏิรูปการศึกษา เรามีแต่การเอาครูมาอบรมเป็นช็อตๆ แล้วปล่อยกลับไปโรงเรียน ซึ่งครูทำไม่ได้หรอก ครูไม่กล้าทำ คือได้แค่อบรม ได้แค่ชั่วโมง แล้วก็ได้แค่ใบรับรอง แต่กระบวนการที่เราทำสำเร็จคือ พี่เลี้ยง พี่เลี้ยงจะต้องเกาะติดตลอดเวลา เพราะว่าครูจะถูกบีบ ถูกบีบจากผู้ปกครองว่าทำไมลูกมาทำกิจกรรม เดี๋ยวโอเน็ตมันจะไม่ได้ ถูกบีบจากผู้บริหารถ้าเผื่อไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นครูจะเป็นคนที่เหนื่อยที่สุด แต่ถ้าเราเปิดใจให้ครูยอมรับได้ ครูจะเป็นนักสู้ แล้วทีนี้ครูก็ไม่กลัวเหนื่อยแล้ว ระยะยาวความสำเร็จจะเกิดที่ตัวเด็ก”

สำหรับกลไกที่เรียกว่า ‘พี่เลี้ยง’ นั้นถือเป็นจุดต่างอย่างหนึ่งของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่กำหนดให้มีศูนย์พี่เลี้ยงซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมด 8 แห่งกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค โดยพี่เลี้ยงจะทำงานร่วมกับครูอย่างใกล้ชิด ทั้งติดตาม สนับสนุน ช่วยเหลือ และฝึกอบรม

“พี่เลี้ยงจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้กำลังใจ หนุนเสริม มีอย่างเดียวที่ไม่ทำคือ ประเมิน เราไม่ประเมินครูเพราะเราไม่ได้เป็นระบบกระทรวงศึกษาฯ พี่เลี้ยงจะทำทุกสิ่งอย่างตามบริบทของพี่เลี้ยงและโรงเรียน เพราะฉะนั้นตอบไม่ได้ว่าพี่เลี้ยงแต่ละคนใช้รูปแบบเดียวกันหรือเปล่า แต่มันมีแก่นคือ‘ผลเกิดจากเหตุ’นะ และคนเราจะคิดได้เมื่อรู้สึกปลอดภัยพอ หรือเป็นอิสระพอที่จะคิด” คงวุฒิ พี่เลี้ยงจากมูลนิธิปัญญาวุฑฒิ(ศิลปากร) กล่าว

อีกมุมหนึ่ง รศ.ไพโรจน์ คีรีรัตน์ หัวหน้าศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสริมว่าการไม่ผูกขาดวิธีการดูแลเด็กคือจุดแข็งของโครงการฯ “เราไม่เชื่อเสื้อที่ตัดมาจากส่วนกลาง เราเชื่อเสื้อที่ตัดเองแล้วก็เหมาะกับตัวเด็ก ทุกครั้งที่ส่วนกลางตัดมาเสื้อมันจะคับ ไม่เหมาะ ใส่แล้วอึดอัด ดังนั้นเสื้อที่ตัดเองมันยืดหยุ่น แล้วเราใช้มุมหลายมุมที่คอยทอดสะพานไปทีละก้าวเพื่อให้ถึงประสิทธิภาพการสอนที่ดีที่สุด ทั้งมุมมองของผู้ปกครอง มุมมองของชุมชน เราใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลา ตลอดกระบวนการ จนกลายเป็นวิธีการที่เรียนรู้ร่วมกันทั้งชุมชน”

ตลอดระยะเวลา หลังจากเริ่มโครงการในปี พ.ศ.2555 และกำลังจะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2562 หากมองไปที่ปลายทางคือ นักเรียน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแม้จะไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดทางวิชาการ แต่ประจักษ์พยานนั้นปรากฎในทักษะชีวิต วิธีคิด และการปฏิบัติของเด็กกลุ่มนี้ที่สรุปแบบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘เด็กดี คิดเป็น’

ถึงอย่างนั้นเพื่อตอบคำถามสำคัญจากกระแสหลักทางสังคมเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางวิชาการ ทางโครงการฯได้นำผลคะแนนการทดสอบสมรรถนะทางวิชาการ หรือO-NET ของกลุ่มนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาจาก 2 ภูมิภาค (ภาคกลางและภาคเหนือ) มาเปรียบเทียบกับผลคะแนนในระดับโรงเรียน จังหวัดและประเทศ พบว่ามีสัดส่วนคะแนนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน

20181015_๑๘๑๐๑๖_0007

“ครูทุกคนอยากได้ผลสัมฤทธิ์นะ เพราะตัวชี้วัดเป็นผลสัมฤทธิ์ ทีนี้ครูรู้อยู่ทางเดียวคือติว ทางลัด แต่ครูไม่เข้าใจว่าวิธีนี้ทำให้เด็กเรียนรู้เองเป็น แล้วเด็กรักการเรียน เด็กเข้าใจการเรียน แล้วสุดท้ายมันไปเกิดผลที่เด็กเอง ที่สำคัญระหว่างทางที่ไป มันเปลี่ยนแคแรคเตอร์เขาด้วย เขาเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่รู้วิธีการเรียน แล้วโอเน็ตมันไปเอง มันเป็นเส้นทางอ้อม แต่มีผลพลอยได้เยอะ สุดท้ายไปที่ปลายทางเหมือนกัน” รศ.ดร.สุธีระ กล่าวในที่สุด