ค้านทุกสาขามีสิทธิสอบบรรจุครู ชี้เสียระบบ-ไม่มีคนเรียนครู
นักวิชาการ ม.ราชภัฏโคราช ค้านแนวคิดทุกสาขาวิชาชีพสอบครูได้ กระทบและเสียระบบ จะไม่มีคนเรียนคณะครุศาสตร์ในอนาคต
จากกรณีที่ นายแพทย์ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาแถลงถึงเหตุผลที่เปิดให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ไม่มีวุฒิครู) สามารถสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ก่อน แล้วค่อยดำเนินการให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทีหลัง โดยให้เหตุผลว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณอายุ 270,000 คน จึงจำเป็นต้องจำเป็นต้องหาครูมาประจำการ โดยอ้างเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แล้วยังอ้างถึงความเสียสละของคนที่ไม่จบครูแล้วมาสอบเป็นครู ที่ต้องไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) หรือปริญญาโท เพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพครู รวมทั้งกล่าวว่าคนที่เรียนครูมา 5 ปีย่อมเก่งพอที่จะสามารถแข่งกับคนไม่เรียนครู คนเรียนมา 5 ปีก็ต้องแข่งขันได้ทั้งความเป็นครูและวิชาการด้วยนั้น
ล่าสุดวันนี้ (27 มี.ค. 60) ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณะบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตามแนวคิดของนายแพทย์ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.กระทรวงศึกษาธิการนั้น มองไปที่อนาคตอีก 10 ปีหน้า ซึ่งจะมีครูเกษียณอายุราชการจำนวนนับแสนคน จึงกลัวว่าจะขาดแคลนครู อีกทั้งเรื่องของคุณภาพการศึกษาไทยในปัจจุบัน มีปัญหาด้อยคุณภาพมาก โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลการสอบโอเน็ตก็ไม่สูงขึ้นนัก และการสอบพิซ่า ระดับคะแนนแพ้หลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
ดังนั้นจึงมองว่าปัญหานี้มาจากครูผู้สอน และเริ่มมีแนวคิดที่จะเอาบุคคลที่เรียนจบมาจากหลากหลายสาขา เข้ามาเติมระบบครูที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าจะมองให้เห็นปัญหาที่แท้จริง ที่บุคลากรด้านครุศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะหลายคนมองว่าคุณภาพของครูต้องมาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 คณะครุศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผลิตครู ภายใต้การควบคุมคุณภาพอย่างเข้มข้นจากครุสภา มีทั้งการจำกัดสัดส่วนอาจารย์ผู้สอนต่อจำนวนนักศึกษา มีการฝึกวิชาชีพในโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน จนไม่สามารถที่จะเปิดให้กลายเป็นธุรกิจการศึกษาได้เหมือนสาขาวิชาอื่น
จึงทำให้เมื่อปีที่แล้ว (2559) ตัวเลขผู้สอบเข้าแข่งขันคณะครุศาสตร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สูงกว่าคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งตัวเลขนี้กำลังบ่งบอกว่าระบบการศึกษาครุศาสตร์กำลังไปได้ดีอยู่แล้ว เพราะเริ่มมีคนเก่งจำนวนมากเข้ามาสู่ระบบ อีกทั้ง สกอ.ก็ควบคุมหลักสูตรอย่างเข้มงวด ทำให้บุคลากรด้านครุศาสตร์มองว่านี่คือสิ่งที่กำลังเดินหน้าไปดีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเอาบุคคลที่จบจากสาขาอื่นมาเติมระบบ
ส่วนที่ 2 ต้องมองไปที่คำว่าวิชาชีพครู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่มีการอบรม บ่มเพาะ ทั้งเรื่องหลักสูตร การสอน จิตวิทยาการสอน การวัด และการประเมินผล เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องมีการฝึกฝนค่อนข้างนาน ดังนั้นจึงต้องใช้ระยะเวลาการการศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์ถึง 5 ปีในปัจจุบัน และไม่สามารถที่จะเอาคนที่จบหลักสูตรสาขาวิชาทั่วไปมาแทนได้ และส่วนที่ 3 คือการใช้ครู ซึ่งในปัจจุบันครูจะถูกใช้ให้ทำงานด้านเอกสารเป็นส่วนใหญ่ และงานอื่นๆ ที่มากกว่าการจัดการเรียนการสอน ส่วนนี้ทาง รมว.ศึกษาธิการควรจะลงมาดู เพื่อให้สามารถใช้ครูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผศ.ดร.อดิศรฯ กล่าวอีกว่า ที่จริงแล้วเรื่องการนำเอาบุคคลจากสาขาวิชาชีพอื่นมาสอนหนังสือ ก็มีเปิดช่องให้อยู่แล้ว โดยเฉพาะครูในวิทยาลัยเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง และวิทยาลัยการอาชีพ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้คนที่จบเฉพาะด้านมาสอน โดยทางครุสภาก็เปิดช่องทางให้สามารถออกใบอนุญาตเป็นการชั่วคราวได้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันคนที่เรียนครูมาโดยตรง ใช้เวลาตั้ง 5 ปี กว่าจะจบออกมา ถ้าให้คนที่จบจากสาขาอื่นมาสอบเป็นครูได้ แล้วเวลาที่เสียไปตั้ง 5 ปี จะมีความหมายอะไร ต่อไปก็คงจะไม่มีใครเลือกเรียนคณะครุศาสตร์แล้ว เพราะเรียนสาขาอื่น คณะอื่นก็สามารถสมัครเป็นครูได้เหมือนกัน
เรื่องนี้ทำให้บุคลากรด้านการศึกษา บุคลากรด้านครุศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของท่าน รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เพราะจะทำให้เสียระบบการศึกษาด้านครุศาสตร์อย่างมหาศาลในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ทางบุคลากรด้านการศึกษา และบุคลากรด้านครุศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้นัดประชุมกันในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เพื่อเสาวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการลงนามเสนอคัดค้านต่อไป