จีนมาแรง! มรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว
ตั้งแต่ยูเนสโกมีการขึ้นทะเบียนมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (ICH) จีนผงาดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในรายการประเภทนี้ สถิติที่ผ่านมาจนถึง 2564 พบว่าจีนขึ้นทะเบียนเป็นอันดับ 1 จำนวน 43 รายการ จาก 629 รายการทั่วโลก
KEY
POINTS
- จีนเอาจริงเอาจังกับการขอ "ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก" มรดกทางวัฒนธรรม และรางวัลอื่นๆ ระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับเพิ่มมูลค่าให้ประเทศในทางอ้อมได้
- จากสถิติที่ผ่านมาจนถึง 2564 ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปแล้ว 629 รายการทั่วโลก ประเทศที่ขึ้นทะเบียนเยอะที่สุดอันดับหนึ่ง คือ จีน 43 รายการ
- ล่าสุดยูเนสโกได้รับรองให้ "เทคนิคการชงชาแบบดั้งเดิมของจีน" และประเพณีเกี่ยวข้อง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เน้นที่วัฒนธรรมวิถีและพื้นที่ชาครอบคลุมทั่วประเทศ
ประเทศจีนเอาจริงเอาจังและให้น้ำหนักกับการเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก มรดกทางวัฒนธรรม และรางวัลที่ได้รับการยกย่องอื่นๆ ระดับนานาชาติ เพราะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นการยกระดับเพิ่มมูลค่า ทรัพย์สินหรือกิจกรรมของตนในทางอ้อม
ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าร่วมเป็นภาคีมรดกโลกของยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 1985 มรดกโลกกลุ่มแรกที่เสนอเข้าไปได้รับยกเป็นมรดกโลกในปี 1987 อาทิ กำแพงเมืองจีน พระราชวังปักกิ่ง สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ จากนั้นเป็นต้นมา จีนเสนอรายชื่อแหล่งมรดกโลกแบบขยันขันแข็งบางปีได้พร้อมกัน 3 ไซต์ก็มี จนล่าสุดมีมรดกโลกในจีน 59 แห่ง เป็นรองแค่อิตาลีที่มี 60 แห่งเพียงชาติเดียว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าอีกไม่นานจีนก็จะแซงอิตาลี ขึ้นเป็นที่ 1 อย่างแน่นอน เพราะความกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร
การที่มีพื้นที่มรดกโลกในชาติ ย่อมมีผลต่อชื่อเสียงของประเทศนั้นๆ
ล่าสุด..จีนยังมีไซต์ขอเป็นมรดกโลกรอเข้าคิวอยู่ในรายการ Tentation Lists อีก 59 ไซต์ จากจำนวนเข้าคิวรอ 189 ไซต์ที่ส่งมาจากประเทศสมาชิกทั่วโลก (ไทย6/ ญี่ปุ่น 4 / อินโดนีเซีย 19/ อิตาลี 32) แม้คณะกรรมการได้ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ไม่อนุญาตให้แต่ละประเทศเสนอไซต์ขึ้นทะเบียนพร้อมกันหลายๆ ไซต์ ทำยอด เป็น 1 ประเทศ/1 ปี /1ไซต์งาน เมื่อยูเนสโกเริ่มมีนโยบายประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน (ข้ามชาติ) จีนก็ให้ความสนใจส่งเสริมเสนอรายการประเภทนี้เพิ่ม
การได้ยกเป็นมรดกโลกมีผลต่อชื่อเสียงและการเยี่ยมชม เอาเฉพาะนักท่องเที่ยวคนจีนด้วยกันทุกไซต์ก็ล้นหลามเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เหมือนจะยังไม่พอ เพราะเมื่อยูเนสโก เริ่มขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม Intangible Cultural Heritage - ICH จีนก็ผงาดขึ้นเป็นอันดับ 1 ในรายการมรดกนานาชาติประเภทนี้แบบทิ้งห่างลำดับสองเท่าตัว
สถิติล่าสุดจนถึง 2564 ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 629 รายการ จาก 139 ประเทศสมาชิก ลำดับหนึ่งคือจีน 43 รายการ / ลำดับสอง ตุรเกีย 30 รายการ / ลำดับสามฝรั่งเศส 28 รายการ / ลำดับสี่ สเปน 25 รายการ /ลำดับห้า อิหร่าน 24 รายการ สำหรับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 21 ขึ้นทะเบียน 4 รายการ
จีนเร่งจัดทำรายการ "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" หนึ่งในนั้นคือ "เทคนิคชงชาจีนดั้งเดิม"
ความชัดเจนของนโยบายขึ้นทะเบียนมรดกโลกระดับนานาชาติของจีน เร่งรัดให้หน่วยงานท้องถิ่นในประเทศพยายามเสนอรายการที่น่าสนใจของตัวเองขึ้นมา มีการแข่งขันที่จริงจังระหว่างมณฑลและเมืองต่างๆ รัฐบาลได้จัดทำรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเฉพาะของจีนเอง (ยังไม่ได้เสนอในระดับนานาชาติ) ผ่านองค์กรชื่อว่า “เครือข่ายมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีน · พิพิธภัณฑ์ดิจิทัลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีน 中国非物质文化遗产网 · 中国非物质文化遗产数字博物馆” ปัจจุบันมีมากถึง 3,610 รายการ คิดในแง่ของคอนเทนต์นำเสนอผ่านสารคดี ก็เป็นแหล่งทรัพยากรมากมายไม่หวาดไม่ไหว
แต่วิธีคิดของจีนไม่ได้มองแค่มรดกภูมิปัญญาเท่านั้น สิ่งใดที่ต่อยอด “ขาย” ได้ ถูกนำไปขยายผลต่อ ในยุคที่แค่ละเมืองแต่ละจังหวัดมณฑลแข่งขันกันด้านท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจ ยิ่งหากได้รับขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาระดับนานาชาติ ถือเป็นรางวัลใหญ่สำหรับแวดวงเกี่ยวข้องแล้ว ไม่ต้องถึงกับยกเป็นมรดกโลกก็ได้
ตัวอย่างการต่อยอดมรดกภูมิปัญญาให้เป็นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่น เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา การประชุมครั้งที่ 17 คณะกรรมการเพื่อการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ UNESCO ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองราบัต ประเทศโมร็อกโก ได้รับรองให้ เทคนิคการชงชาแบบดั้งเดิมของจีนและประเพณีเกี่ยวข้อง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้จีนก็ได้ขึ้นทะเบียนแหล่งต้นชาโบราณบนภูเขา Jingmai เมืองผู่เอ่อร์ และการทำชาผู่เออร์เป็นมรดกโลกมาก่อนแล้ว การขอขึ้นทะเบียนเทคนิควิธีการวัฒนธรรมชา เน้นที่วัฒนธรรมวิถีและพื้นที่ชาครอบคลุมทั่วประเทศ
พิธีกรรมชงชาของชาวไป๋ เมืองต้าหลี่ มรดกที่ทรงคุณค่าของจีน
แม้ว่าโลกทั้งใบย่อมรู้ดีว่า "ชา" เป็นวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งของชาวจีน สมควรได้รับการได้รับยกย่องขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว คนทั่วไปอาจเห็นเป็นธรรมดา แต่เรื่องราวของวิถีชาไม่ธรรมดา และมันถูกขยายผลอย่างกว้างขวาง เป็นชุดมรดกภูมิปัญญาชาที่ขึ้นทะเบียนครอบคลุมกิจกรรม 44 รายการใน 15 มณฑล
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว จัดทำแผนคุ้มครองระยะ 5 ปีสำหรับเทคนิคการชงชาแบบดั้งเดิมของจีนและประเพณีเกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมเรื่องราวและกิจกรรมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ผ่านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ผ่านเส้นทางค้าชาม้าต่าง เส้นทางสายไหม ถนนชาหมื่นไมล์ 万里茶道等 ถนนสายว่านลี่ ที่เชื่อมการค้าชาทางไกลระหว่างจีน มองโกเลีย และรัสเซีย ลงลึกถึงกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ในรายละเอียด
พิธีกรรมชงชารับแขกของชาวไป๋ เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนนานก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในนั้น ที่อยู่ในรายชื่อหน่วยคุ้มครองโครงการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งชาติ เมื่อมีการขับเน้นวัฒนธรรมชาให้เป็นจุดขาย จากวัฒนธรรมท้องถิ่นเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีใครรู้จัก กลายมาเป็นจุดขายใหม่ โหมประโคมนำเสนอให้กับชุมชนชาวไป๋และเมืองต้าหลี่ เพิ่มเติมจากจุดขายเดิม กลายเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นมา โดยตีตราการได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญามาเป็นการันตี
วิถีชงชาจีนแบบดั้งเดิม ภาพจาก: ChinaDailyhk
พิธีชงชาของชาวไป๋ ไม่เหมือนการชงชาของชาวฮั่น เพราะเขานำเครื่องเทศ เครื่องปรุง และเสริฟเป็นชุดต่อเนื่องกัน 3 ถ้วยชา แต่ละถ้วยมีรสชาติแตกต่างกัน รสขม รสหวาน และรสชาติที่ติดค้างอยู่ในลำคอ เรียกว่า 白族三道茶 (อ่านว่า ไป๋-สู-ซาน-เต้า-ฉา) แปลว่า "ชาสามวิถีของชาวไป๋" เดิมเป็นพิธีวงในของชนชาติไป๋ในพิธีกรรมสำคัญ เมื่อกลายเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาที่ได้ขึ้นทะเบียนก็กลายมาเป็นจุดขายและเครื่องมือทางเศรษฐกิจพร้อมกัน
จีนมีวิธีคิดต่อยอดความเป็นมรดกโลกหรือการได้รับการยกย่องระดับนานาชาติ ที่ผูกกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ดั่งตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น จึงไม่แปลกหากในอีก 2-3 ปีจากนี้ จีนจะขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่งของทุกรางวัลที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ทั้งไซต์มรดกโลก ทั้งมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ หรือรางวัลอื่นในลักษณะเดียวกัน
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ