30 ปี สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ความรุ่งโรจน์และหายนะแห่งลุ่มน้ำโขง

30 ปี สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ความรุ่งโรจน์และหายนะแห่งลุ่มน้ำโขง

“สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก่อรูปมาตั้งแต่ราวปี 2535 มาจนวันนี้ นิเวศสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก เป็นผลด้านลบของการขยายการเชื่อมโยงการค้า-คมนาคม ถนนยิ่งดี ป่ายิ่งเสื่อมโทรม !

แนวคิดความร่วมมือพัฒนาพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไทย ลาว จีน พม่า ในนาม “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ก่อรูปมาตั้งแต่ราวปี 2535 หลังกระแสเปิดสนามรบเป็นสนามการค้า และถูกบันทึกเป็นทางการเมื่อตัวแทนรัฐบาลไทยร่วมประชุมพหุภาคี 4 ชาติเป็นครั้งแรกที่เมืองคุนหมิง จากนั้นมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ศึกษาเส้นทางบินเชียงราย-สิบสองปันนา และอนุมัติงบกลางเพื่อช่วยรัฐบาลลาวศึกษาการเชื่อมเส้นทางระหว่างเชียงของ-หลวงน้ำทา-เชียงรุ่งสิบสองปันนา

เวลาผ่านมา 30 ปีเต็ม จาก 2537-2567 ปัจจุบันเส้นทางสายดังกล่าวถูกเรียกว่า R3A มีด่านชายแดนเชื่อมโยงสินค้าไปมาหากัน มีปริมาณรถบรรทุกนับร้อยๆ คันที่ขนส่งผ่านช่องทางนี้ ผู้คนสามารถผ่านเข้าออกหากันได้สะดวกขึ้นมาก เมื่อเทียบจากเมื่อ 30 ปีก่อน 

เมื่อย้อนกลับไปดูในช่วงต้นของจินตนาการก่อเกิดแนวความคิดเชื่อมโยงสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ สามารถกล่าวได้ว่าแทบจะเริ่มจากศูนย์ เพราะขณะนั้นไทยกับเพื่อนบ้านเพิ่งจะเริ่มขยับการเปิดประตูประเทศแบบแง้มๆ เช่น พม่าเปิดเชียงตุงให้คนไทยเข้าได้ แต่ก็บินเข้าพื้นที่ตอนในเสรียังไม่ได้ วีซ่าแพง หัวใจพื้นฐานของการเชื่อมโยงสำคัญที่สุดลำดับแรกคือการคมนาคม ที่ในขณะนั้นไม่มีโครงข่ายเชื่อมถึงกันจริง  แม้แต่การเดินเรือแม่น้ำโขงที่เป็นไปได้มากสุด ก็ยังต้องระเบิดเกาะแก่งระยะที่ 1 เสียก่อน

กาลเวลาผ่านไปรวดเร็ว จินตนาการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจขยายผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งในด้านคมนาคมเชื่อมโยง และด้านการค้าการลงทุน แม้ว่าศัพท์แสงเชิงนโยบายสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจถูกแทนที่ด้วยกรอบนโยบายใหม่ เช่น หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือใต้ North – South Economic Corridor: NSEC  และอื่นๆ แต่นั่นก็เป็นผลจากการต่อยอดแนวคิดความร่วมมือเชื่อมโยงประเทศลุ่มน้ำโขงในยุคแรกเมื่อ 30 ปีก่อนทั้งสิ้น

มาถึงวันนี้ พลวัตรเศรษฐกิจเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความซับซ้อนและใหญ่โตมาก ในเขตพม่าพื้นที่รัฐฉานส่วนที่มีพรมแดนติด จีน-ลาว-ไทย เป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบเกษตรอุตสาหกรรม ข้าว ข้าวโพด อ้อย ให้ทั้งไทยและจีน ส่วนภาคเหนือของ สปป.ลาว ยิ่งชัดเจนมาก ถูกเปลี่ยนโครงสร้างผลิตดั้งเดิม เปลี่ยนทั้งเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม มีการลงทุนใหม่ตลอดแนว R3A  มีเมืองใหม่ มีการสัมปทานเช่าพื้นที่เป็นหมื่นๆ เฮกตาร์ ปลูกพืชไร่ กล้วย ยางพารา ฯลฯ ล้วนแต่ส่งเข้าไปจีน

 

 

การเปลี่ยนแปลงในพม่า

แต่เดิมเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น รัฐฉานคือพื้นที่ห่างไกลของศูนย์อำนาจพม่า เป็นเขตป่าภูเขาดอยสูง มีชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ ทหารพม่าสามารถมีอิทธิพลเฉพาะตัวเมืองและพื้นที่ไม่กี่หย่อม เช่น ท่าขี้เหล็ก และตัวเมืองเชียงตุง เมื่อเลยออกไปรอบนอกเป็นอิทธิพลของฝ่ายต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าครั้งใหญ่ของรัฐฉานเกิดเมื่อปี 2011 เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาล SLORC มีแนวทางปฏิรูปกำหนดการเลือกตั้งและเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ ดังที่ทราบกันว่า หลังจากนั้นพม่ามีการเลือกตั้งใหญ่ปี 2015

ต่อด้วยปี 2020 อองซานซูจีมีตำแหน่งทางการเมือง บรรยากาศของการปรองดองทำให้มีการขยายพื้นที่ทำกินในป่าเขารัฐฉานที่เป็นเขตสู้รบเดิมอย่างขนานใหญ่ในทศวรรษนั้น บางพื้นที่ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลชนกลุ่มน้อยบนเทือกเขาฉานโยมะ ประกาศว่าหากใครอพยพครอบครัวมาบุกเบิกทำกินในเขตของตนจะมอบที่ดินให้ฟรี ปัจจุบันพื้นที่ป่าเขาในรัฐฉานส่วนใหญ่แทบไม่เหลือป่าสมบูรณ์จริงเพราะมีการบุกเบิกเป็นแปลงทำกินเป็นส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงใน สปป.ลาว

ลาวตอนเหนือเป็นเขตป่าเขาสูง ประชากรน้อย เศรษฐกิจไม่ดี นโยบายให้ต่างชาติเช่าที่ดินเป็นทางออกหนึ่งให้ได้มาซึ่งงบประมาณแผ่นดิน ได้มีการจ้างงาน และได้รับผลผลิตจากากรลงทุนนั้นอีกทางหนึ่ง ป่าเขาตอนเหนือในสปป.ลาว เปลี่ยนเป็นสัมปทานกล้วย ยางพารา ไม้ผลต่างๆ หลายแสนเฮกตาร์ กระจายทั่วไปแม้อยู่นอกเส้นทางสายหลัก R3A ขอให้มีถนนไปถึงการลงทุนของชาวจีนก็ยังเอื้อมไปถึง

พื้นที่ป่าของสปป.ลาวลดลงอย่างชัดเจนในทศวรรษที่ผ่านมา กลายเป็นแปลงเกษตรและเมืองใหม่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่  ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกรณีชาวบ้านทั่วไปขยายพื้นที่เพาะปลูกของตนจากราคาสินค้าเกษตรจูงใจ เช่นปี 2565-2566 จุดความร้อนใน สปป.ลาวพุ่งขึ้นสูงสุดในบรรดาชาติอาเซียนตอนบน

การเกษตรในภูมิภาคนี้ใช้ไฟ สถิติจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่าประเทศไทยถึง 2-3 เท่าตัว เพราะการขยายตัวการเกษตรเป็นสำคัญ และยิ่งมีเหตุทางเศรษฐกิจ การใช้ไฟในนิเวศสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งสูงขึ้นจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นโซนที่มีการใช้ไฟมากที่สุดลำดับต้นของโลก

สถิติไฟและมลพิษฝุ่นควันในภูมิภาคนี้ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการขยายความเชื่อมโยงเติบโตทางเศรษฐกิจ เมล็ดข้าวโพดในสปป.ลาว และ รัฐฉาน เดินทางข้ามพรมแดนไทย จีน เพื่อแปรรูปเป็นผลผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ยิ่งมีการค้าเส้นทางคมนาคมการรับซื้อสะดวกขึ้น ก็มีการขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้นตาม เมื่อปี 2565 ที่มีการใช้ไฟมากเป็นประวัติการณ์ใน สปป.ลาว สืบเนื่องจากราคามันสำปะหลังสูงจูงใจให้คนเผาป่าขยายพื้นที่ทำกิน ในปีนั้นเองมีข่าวต่างชาติลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังใหม่ๆ หลายแห่งใน สปป.ลาว

นิเวศสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมากมายตลอดทศวรรษกว่าๆ ในเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นผลด้านลบของการขยายการเชื่อมโยงการค้า-คมนาคม  ถนนยิ่งดี ป่ายิ่งเสื่อมโทรม !

พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรใช้ไฟมหาศาล

เหตุการณ์พิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่มเป็นวงกว้าง หลายระลอกในประเทศลุ่มน้ำโขงระหว่าง สิงหาคม-ตุลาคม 2567 มีสิ่งบอกเหตุหลายประการที่ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงนิเวศส่งผลต่อระดับความรุนแรงของพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่มให้หนักหนาสาหัสขึ้น เหตุน้ำป่าโคลนถล่มที่แม่สายฝั่งไทยและเมืองท่าขี้เหล็กฝั่งพม่า มาจากป่าบนเขาต้นน้ำทั้งหมดแปรเป็นเกษตรกรรม มีการใช้ไฟมากมายในฤดูแล้ง ดินไม่อุ้มน้ำ และพร้อมพังทลาย 

เช่นเดียวกับป่าในเขตรัฐฉานต้นน้ำกก แม่อายต่อไปถึงเชียงราย ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรใช้ไฟ  น้ำป่ามาเร็วแรง หอบโคลนมหาศาลลงมาถล่มไปถึงเชียงรายที่ห่างออกไปร่วมๆ 80 กม.  ลักษณะเดียวกันแต่ไม่เป็นข่าวมากคือ น้ำท่วมโคลนถล่มที่เมืองหลวงน้ำทา และเมืองบ่อเตน ชายแดนลาว-จีน ซึ่งมีปรับพื้นที่ขยายเมืองออกไปต่อเนื่องในหลายปีมานี้

เหตุน้ำท่วมโคลนถล่ม ไม่สามารถแยกออกจากพิบัติภัยฝุ่นพิษ pm2.5 จากการใช้ไฟมหาศาลในช่วงฤดูแล้ง แปรพื้นที่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบนทั้งหมด ให้เป็นเขตมลพิษอากาศ

ความก้าวหน้าของการเชื่อมโยงการค้าคมนาคมและการเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคตลอดสามทศวรรษยังประโยชน์ก้าวหน้ามากมายก็จริง หากในมิติของนิเวศสิ่งแวดล้อม การเสื่อมโทรมและพังทลายก็มีขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน ภูมิภาคนี้เป็นเขตพิบัติภัยไฟป่าและมลพิษฝุ่นต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ที่จริงแล้วไม่ใช่ฝุ่นหรือไฟเท่านั้น ทรัพยากรดินอุดมสมบูรณ์ก็สิ้นสูญไปกับการเกษตรและสารเคมี การพังทลายของดินและป่า ส่งผลต่อนิเวศน้ำ ...

กล่าวได้ว่า เสื่อมโทรมไปทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ ในระยะร่วมเวลากับ 30 ปีของสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

 

 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ