บันทึกพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่ม อนุภูมิภาคน้ำโขง สิงหาคม-กันยายน 2567

บันทึกพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่ม อนุภูมิภาคน้ำโขง สิงหาคม-กันยายน 2567

เปิดบันทึกเหตุพิบัติภัยจากน้ำในปี 2567 พบว่าเหตุพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่มระลอกนี้ เกิดในระยะสั้นๆ แค่ 2 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่า พิบัติภัยจากน้ำรอบนี้กินอาณาบริเวณกว้างขวางข้ามพรมแดนประเทศ เป็นพิบัติภัยระดับอนุภูมิภาคที่เกิดจากสาเหตุเดียวกันคือโลกรวน

พิบัติภัยจากน้ำท่วมและโคลนถล่มปลายฤดูฝน พ.ศ. 2567 ในรอบนี้ กินอาณาบริเวณกว้างขวางมากครอบคลุมอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงสามประเทศ ลาว ไทย พม่า ตั้งแต่เมืองหลวงน้ำทา หลวงพระบาง ลงไปถึงนครเวียงจันทน์  ตั้งแต่แพร่ น่าน ไปสุดชายแดนแม่อาย แม่สาย และตั้งแต่รัฐฉานตะวันตกชายแดน ไปจนถึงเขตมัณฑะเลย์ตอนกลางลุ่มอิระวดี ทั้งยังก่อพิบัติภัยร้ายแรงต่อชีวิต ทรัพย์สิน อานุภาพของโคลนน้ำป่าถล่มเมืองทั้งเมืองราวกับผ่านสงครามมา 

เหตุการณ์แบบที่ไม่ค่อยเกิดก็เกิดมี ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลจาก 'โลกรวน' เป็นพิบัติภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกด้วย เหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมโคลนถล่มกินพื้นที่กว้างสามประเทศที่ยาวนาน เป็นเหตุต่อเนื่องเชื่อมโยง จากสาเหตุปัจจัยร่วมกันที่สมควรบันทึกไว้

สิงหาคม-ร่องฝนคาลุ่มน้ำโขง 2 สัปดาห์

อุทกภัยน้ำท่วมในเขตภาคเหนือของ สปป.ลาว ต่อด้วย พะเยา เทิง แพร่ น่าน ของไทยรอบแรก เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดฝนตกใหญ่ครอบคลุมภาคเหนือของไทย-ลาว ก็คือ ร่องความกดอากาศต่ำพาดคาอยู่บริเวณเหนือประเทศไทยยาวนานผิดปกติ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ต่อเนื่องถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ภาวะดังกล่าวทำให้ฝนตกเป็นวงกว้าง

บันทึกพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่ม อนุภูมิภาคน้ำโขง สิงหาคม-กันยายน 2567  ร่องความกดอากาศต่ำพาดคาอยู่บริเวณเหนือประเทศไทยยาวนานผิดปกติ

ส่วนที่กระทบกับ สปป.ลาว 

10 กันยายน - น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจบ่อเตน แขวงหลวงน้ำทา พรมแดนสปป.ลาว-จีน เป็นน้ำโคลนสีแดง ข่าววิทยุแห่งชาติลาว รายงานความเสียหายค่อนข้างหนัก  น้ำท่วมวงกว้าง 3 เขตเมือง ประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 40,258 คน บ้านเรือนประชาชนกว่า 115 หลัง ถูกพัดพัง มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยสูญเสียทรัพย์สินมากกว่า 2,765 ราย (ไม่เหลืออะไรเลย) และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ช่วงเดียวกันนั้นก็มีรายงานน้ำท่วมจากอีกหลายเขต เช่น ระหว่าง วันที่ 8-9 กันยายน  เกิดฝนตกนานหลายชั่วโมงระดับน้ำในเขตเมืองผาอุดม แขวงบ่อแก้วกลายเป็นโคลนแดงไหลท่วมเขตเทศบาลผาอุดม 

สังเกตได้ว่า เหตุน้ำท่วมรอบนี้มีโคลนและดินถล่ม ภาษาลาวเรียกว่า  ດິນເຊາະເຈື່ອນ ดินเซาะเจือน ไม่ใช่อุทกภัยน้ำเอ่อปกติ ในห้วงนั้น เริ่มมีฝนทั่วไป น้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มระดับต่อเนื่อง

เหตุน้ำท่วมใน สปป.ลาว เริ่มมากขึ้นชัดเจนในวันที่ 22 สิงหาคม เหตุเกิดที่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม นครหลวงพระบางเริ่มท่วม ต่อเนื่องถึงนครหลวงเวียงจันทน์ในวันต่อมา 

ส่วนที่กระทบประเทศไทย

วันที่ 21 ส.ค. ร่องความกดอากาศดังกล่าวเลื่อนลงมาทาบพื้นที่น่าน เชียงรายฝั่งขวา ส่งผลให้ปริมาณฝนยิ่งสูงมากเกิน 200 ม.ม. หลายจุด เช่น ปริมาณฝนจากร่องความกดสูงมากเกิน 200 มม./24 ชม. แทบทุกสถานีในเขตภาคเหนือฝั่งตะวันออก

ด้วยปริมาณน้ำขนาดนี้ บวกกับที่ตกมาก่อนล่วงหน้า ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เช้าวันที่ 22 ส.ค. น้ำทะลักเข้าตัวเมืองน่าน เมืองแพร่พร้อมกัน เป็นอุทกภัยแรกต้อนรับรัฐบาลใหม่ที่เพิ่งฟอร์มคณะรัฐมนตรียังไม่แล้วเสร็จดี แม้กระทั่งว่าที่นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ทันถวายสัตย์ ยังต้องเดินทางมาเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง

หางไต้ฝุ่นยางีแสดงฤทธิ์

พายุไต้ฝุ่นยางิเข้าสู่ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 7 กันยายน และได้รับการรายงานว่าสลายตัวเป็นดีเปรสชันเมื่อวันที่ 8 กันยายนหลังจากขึ้นฝั่ง แต่ถึงกระนั้น อานุภาพของหย่อมความกดอากาศต่ำหางพายุยังเคลื่อนไปบริเวณรัฐฉานของพม่า และเริ่มทวีอานุภาพใหม่จากการดูดความชื้นจากทะเลอันดามันเติมเข้าไป ก่อให้เกิดฝนตกใหญ่บริเวณกว้างมากในประเทศพม่า ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 

การทวีพลังใหม่ของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง เป็นเรื่องที่เหนือคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก จากเดิมเคยวิเคราะห์ว่าเมื่อขึ้นฝั่งจะลดกำลังเป็นดีเปรสชันมาถึงหย่อมความกดอากาศต่ำและสลายตัวไปในที่สุด ฝนขนาดใหญ่ที่ตกเป็นวงกว้างในประเทศพม่าทำให้เกิดน้ำท่วมโคลนถล่มในหลายเมืองของรัฐฉานและเขตปกครองมัณฑะเลย์ 

บันทึกพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่ม อนุภูมิภาคน้ำโขง สิงหาคม-กันยายน 2567

สำนักข่าว RFA รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 140 คนจากน้ำท่วมและดินถล่มใน 10 เมืองทางตอนใต้... แต่นั่นล่ะพม่า/ฉาน มีปัญหาการสื่อสาร ยิ่งเขตชนกลุ่มน้อยรัฐบาลเข้าไม่ถึงก็ยิ่งไม่ปรากฏ ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมเหตุเสียหายจากเขตปกครองมัณฑะเลย์ที่มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน 

ระหว่างที่พม่าตกหนักพื้นที่ชายแดนต่อเนื่องกันฝั่งไทยก็มีฝนตกเช่นกัน แต่ไม่แรงมาก ดูเหมือนว่าอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ระแวงผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิเริ่มเบาใจลงหลังจากขึ้นฝั่งเวียดนาม 8 กันยายน และมีฝนไม่มากระหว่างวันที่ 9-10 กันยายนในประเทศไทย

แต่แล้วความเบาใจที่พายุลดระดับแล้วก็แปรเป็นความตระหนกกับเหตุการณ์อุบัติฉับพลันต่อเนื่อง จากเหตุน้ำท่วมโคลนถล่มแม่สายในวันที่ 10 กันยายน ภาพเหตุการณ์น้ำป่าสีแดงพร้อมโคลนมากมายทะลักลงมา มีผู้ติดค้างออกไม่ได้เพราะน้ำเชี่ยวมาก ระหว่างที่ทุกสายตาของประเทศจับจ้องไปที่แม่สาย ก็เกิดเหตุน้ำป่าทะลักแม่อาย เชียงใหม่ ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิต ต่อด้วยน้ำป่าจากแม่น้ำกกโจมตีตัวเมืองเชียงรายฉับพลันในวันรุ่งขึ้นในวันที่ 11 กันยายน เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

หย่อมความกดต่ำเลื่อนลงคาดภาคเหนือ ทำเชียงใหม่จม

หลังเหตุการณ์หางพายุยางิถล่มเชียงรายไม่นาน ก็เกิดมีการก่อตัวของพายุดีเปรสชันซูลิกตามมา พายุลูกนี้ก่อตัวในทะเลเป็นข่าวอยู่นานหลายวัน ก่อนจะขึ้นฝั่งเวียดนามเมื่อวันที่ 19 กันยายน และอ่อนกำลังลงเข้าถึงไทยวันที่ 20 กันยายน ผู้คนวิตกกังวลมาก เกรงจะซ้ำเติมผลจากพายุลูกแรก แต่ที่สุดก็สลายลงเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำกินบริเวณกว้างเหนือประเทศไทยตอนบน  ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่ก่อให้เกิดฝนฟ้าตกใหญ่ จากหย่อมความกดอากาศต่ำ ต่อเนื่องด้วยร่องมรสุมความกดอากาศต่ำคาดพาดผ่านภาคเหนือ ทำให้ฝนตกต่อเนื่องในระดับที่บางวันหนักมาก ระดับน้ำสูงมากกว่า 90 มม. 

วันที่ 17 กันยายน น้ำป่าท่วมบริเวณชุมชนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา จากปริมาณฝนตก 106 มม. ตอนตีสาม แค่สองชั่วโมงก็ทะลักเข้าถึงชุมชนและท่วมระดับหลังคา 

วันที่ 22 กันยายน มีฝนหนักบริเวณโซนเหนือของลำปาง เช้ารุ่งขึ้นมีน้ำป่าทะลักเข้าท่วมเขตอำเภอห้างฉัตร ในสายวันเดียวกันมีน้ำป่าเข้าพื้นที่อำเภอวังเหนือ จากฝนตกหนักเกินระดับ 100 มม.  มีน้ำท่วมที่แม่ทา มีเหตุรางรถไฟขาดที่สถานีขุนตาน ต้องซ่อมแซมทางรถไฟ 

ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนเป็นต้นมา เหตุน้ำท่วมเหนือระลอกใหม่ก็ทยอยผุดขึ้น

บันทึกพิบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่ม อนุภูมิภาคน้ำโขง สิงหาคม-กันยายน 2567

คืนวันที่ 22 กันยายนฝนตกเหนือแอ่งเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงรายทั้งคืน เช้ามามีน้ำป่าท่วมถนนสายหลักเชื่อมเชียงใหม่-เชียงราย ไม่สามารถสัญจรได้ ในเบื้องแรกข่าวสารรายงานเฉพาะเหตุที่เกิดกับชุมชนพื้นราบ จนกระทั่งมีรายงานว่า มีเหตุโคลนถล่มที่หมู่บ้านหินลาดใน บนดอยสูงขึ้นไป เหตุดินถล่มเกิดหลายพื้นที่บนดอยทำให้ถนนเชื่อมระหว่างอำเภอเวียงป่าเป้า กับ อำเภอพร้าว เชียงใหม่ถูกตัดขาด และพบว่ายังมีอีกหลายชุมชนที่ประสบเหตุน้ำป่าโคลนถล่มทับ เสียหายแทบทั้งหมู่บ้านก็มี 

น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ (24-28 กันยายน) ก็เกิดจากฝนตกใหญ่ระลอกนี้ เริ่มมีน้ำท่วมชุมชนลุ่มต่ำเช่น นันทาราม ศรีปิงเมืองของเชียงใหม่ตั้งแต่เช้าวันที่ 24 กันยายน ก่อนที่ระดับน้ำปิงจะเอ่อล้นระดับวิกฤตในช่วงหลังเที่ยงคืนต่อเช้าตรู่วันที่ 25 กันยายน น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจเมืองอยู่ 2 วันค่อยลดลง และระบายไปท่วมอำเภอโซนใต้ต่อ 

พิบัติภัยไร้พรมแดน ! 

บันทึกเหตุพิบัติภัยจากน้ำในปี 2567 ชิ้นนี้ สิ้นสุดแค่เพียงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอีกไตรมาสต่อจากนี้จะมีเหตุอะไรเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามแค่เหตุพิบัติภัยระยะสั้นๆ แค่ 2 เดือนนับจากมีร่องความกดอากาศพาดคายาวนาน ทำให้ภาคเหนือของ สปป.ลาว และไทย ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน มาจนถึงเหตุน้ำท่วมลุ่มน้ำปิง-วัง บ่งชี้ว่า พิบัติภัยจากน้ำรอบนี้กินอาณาบริเวณกว้างขวางข้ามพรมแดนประเทศ เป็นพิบัติภัยระดับอนุภูมิภาคที่มาจากสาเหตุปัจจัยเดียวกัน 

ไม่เพียงเท่านั้น ลักษณะเหตุการณ์ก็คาบเกี่ยวเป็นผลสืบเนื่องกัน เช่น กรณีโคลนถล่มแม่สาย แม่อาย+เชียงราย ที่ต้นน้ำมาจากรัฐฉาน หากจะมีการบริหารจัดการใด ๆ จากนี้ ประเทศเดียวโดยลำพังย่อมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากเจาะลึกลงไปอีกที่เหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การทำลายพื้นที่ป่า และนิเวศแวดล้อมเดิม

ยิ่งชัดเจนว่า มันไม่ได้เกิดโดยลำพังตามปัจจัยแต่ละชาติ หากทว่า มีความเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจสังคมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนร่วมกัน โดยไม่เกี่ยวกับพรมแดนรัฐชาติอีกแล้ว

 

 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ