กำแพงกั้นคลื่นสร้อยไข่มุก ข้อท้าทายที่ต้องมีคำตอบในที่สุด

กำแพงกั้นคลื่นสร้อยไข่มุก ข้อท้าทายที่ต้องมีคำตอบในที่สุด

โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ยังไม่มีรายละเอียดที่แท้จริง จึงเกิดคำถามตามมาว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลแพทองธารจริงหรือ ? เพราะยังไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารคำแถลงนโยบายแต่อย่างใด

​ไม่ใช่แค่ปาฐกถาวิสัยทัศน์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” แล้ว เพราะปรากฏมีชื่อโครงการสร้อยไข่มุก ที่ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย ให้ข่าวกับสื่อลงรายละเอียดขนาดว่ามีแนวทางจะถมทะเลให้เกิดเกาะใหม่ 9 เกาะ เชื่อมเขื่อนกั้นและระบายน้ำ ระยะห่างจากฝั่งราว 1 กม. มีความยาวรวม 100 กม. ตลอดแนวอ่าวตัว ก. มีชื่อเรียกโครงการแล้วว่า “โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย

แถมยังบอกด้วยว่า โครงการนี้พรรคเพื่อไทยวางแผนและศึกษาไว้นานแล้วตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็เป็นไปตามคาด โครงการใหญ่มหึมาระดับอภิโปรเจกต์ระดับนี้ แค่เริ่มเป็นข่าวก็เกิดกระแสปฏิกิริยาทันที เช้ารุ่งขึ้นมีข่าวผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยตามมา

ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรก คือ ตกลงว่าโครงการใหญ่นามว่าสร้อยไข่มุกยาว 100 กม. เป็นนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จริงหรือ ? เพราะการถมทะเลครั้งใหญ่ที่ว่ายังไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารคำแถลงนโยบาย ที่เผยแพร่ออกมาล่วงหน้าแต่อย่างใด  และหากจะดำเนินการจริงก็ต้องมีรายละเอียดอยู่บ้างในเอกสารงบประมาณประจำปี 2568

หรือเป็นแค่การพยายามเปิดประเด็น เพื่อเป็นการผลักดัน หรือสารตั้งต้นเริ่มสตาร์ทโครงการโดยปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อยากจะให้เกิดมีโดยส่วนตัว คือนอกจากการเปิดประเด็นต่อสาธารณะแล้ว ยังจะเป็นการเสนอข้อผลักดันเข้าสู่แผนนโยบายของรัฐบาลพร้อมๆ กัน

คำถามฉุกคิด โครงการป้องกันน้ำท่วมของไทย อ้างอิงจากโมเดลใดกันแน่?

ข้อน่าสังเกตต่อมาก็คือ โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทยที่ว่า ไม่มีรายละเอียดที่แท้จริง แม้กระทั่งข้อมูลทั่วไปที่อ้างโมเดลคาดการณ์น้ำจะท่วมสูงถึง 5-6 เมตร ซึ่งจะกินพื้นที่ 16,000 ตร.กม. เป็นตัวเลขคาดการณ์อ้างอิงจากโมเดลใด เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเขาเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ ได้ทำโมเดลคาดการณ์ระดับน้ำทะเลยกสูงไว้เช่นกันโดย The National Environment Agency คาดว่าน้ำจะยกสูง 0.23 - 1.15 เมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ และจะยกสูงถึง 2 เมตร ในปี ค.ศ. 2150

สิงคโปร์คาดว่าจะเจอน้ำท่วมสูงสุด 2 เมตรในศตวรรษหน้า ส่วนไทย คาดว่า 5-6 เมตร แต่ท่วมตอนไหนไม่รู้แน่ !!? ​อยากเห็นตัวเลขการศึกษาผลกระทบของไทยอย่างจริงมากกว่านี้พร้อมๆ กับโมเดลก่อสร้างเขื่อนยาว 100 กม.

กำแพงกั้นคลื่นสร้อยไข่มุก ข้อท้าทายที่ต้องมีคำตอบในที่สุด

ย้อนไปดูวิธีของเพื่อนบ้าน สิงคโปร์ศึกษาและพล็อตฉากทัศน์ความรุนแรงของน้ำท่วมไว้หลายระดับ และได้เริ่มลงมือก่อสร้างโครงการพนังกั้นน้ำ ระบบระบายภายใน และโครงการเขื่อนกั้นน้ำถมทะเลเป็นเกาะในระดับที่ยกสูงกว่าตัวเกาะสิงคโปร์ปัจจุบัน เป็นขั้นตอนตัวเลขการคาดการณ์ที่ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทยชูขึ้นให้กับสื่อรายงาน

หากเป็นตัวเลขจากโมเดลพยากรณ์จริง ระดับน้ำ 5-6 เมตรที่ว่า หมายถึงการหายไปของภาคกลางตอนล่างทั้งหมด คงไม่ใช่แค่ 16,000 ตร.กม. และยังเป็นการพยากรณ์ที่แตกต่างจากประเทศสิงคโปร์อย่างสิ้นเชิง

แต่อย่างไรก็ตาม ต่อให้โครงการนี้จะยังเป็นแค่การพยายามผลักดันเชิงแนวคิด คือยังมีสถานะแค่ conceptual project และไม่ได้มีการศึกษารายละเอียดเชิงเทคนิค หรือข้อมูลพื้นฐานรองรับใด ๆ มากพอ มันก็มีคุณค่าให้สังคมถกเถียงแลกเปลี่ยนในระดับสำคัญ ว่า ประเทศไทยควรจะเริ่มมีความคิดเรื่องรับมือผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ โลกร้อน น้ำทะเลยกสูง อย่างจริงจังแล้วหรือยัง

หรือถ้าจะคิดทำโครงการใหญ่ชนิดถมทะเลสร้างเกาะเทียม ความยาวมากถึง 100 กม. มันใหญ่โตมาก ก็ควรต้องมีกระบวนการศึกษาให้ลึกซึ้งถ่องแท้  ที่สำคัญคือ มีประเทศในโลกที่มีโครงการลักษณะนี้เป็นตัวอย่างแล้ว แม้ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน อย่าง สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย ก็ได้เริ่มทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

กรณีศึกษา โครงการป้องกันน้ำท่วมของ อินโดนีเซีย-สิงคโปร์

อภิมหาโปรเจกต์ โครงการเขื่อนยักษ์และถมทะเลอ่าวจาการ์ต้าของอินโดนีเซีย ได้เริ่มลงมือตั้งแต่ 2014 กำหนดแล้วเสร็จเฟสสามในปี 2030 มูลค่าลงทุนสูงถึง 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นเป็นมูลค่าก่อสร้างที่ได้เริ่มลงมือทำเมื่อ 10 ปีก่อน ภาพ Landscape ของแนวเขื่อนยาว 40 กิโลเมตร สูง 25 เมตร ออกแบบเป็นรูปพญาครุฑการูด้า กางปีกปกป้องอ่าวจาการ์ต้า มันก็ดูสวยงามตามท้องเรื่อง แนวเขื่อนสีขาวมีการลงทุนเป็นตึกสูงทันสมัยเรียงรายบนเกาะใหม่ที่เกิดจากการถมทะเล 17 เกาะ ประดับแซมด้วยสีเขียวของต้นไม้  

Great Garuda Project ออกแบบถมทะเล หวังเกิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ (แบบเดียวกับสร้อยไข่มุกอ่าวไทย) เป็นโครงการที่มีบรรษัทข้ามชาติจาก เนเธอร์แลนด์ และ เกาหลีใต้ ร่วมลงทุน ​บทเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านอินโดนีเซีย เขาเริ่มเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ด้วยเพราะแรงกังวลว่าจาการ์ตา เป็นเมืองหลวงติดทะเลที่จมลงเร็วที่สุดในโลก ด้วยอัตรา 2.9-6.7 นิ้ว/ปี

แต่เมื่อลงมือทำๆ ไป ก็ถูกต่อต้านเร็ว ประสบปัญหาสารพัดในระหว่างดำเนินการ รวมถึงข้อถกเถียงโต้แย้งจากฝ่ายอนุรักษ์ในด้านสิ่งแวดล้อม และข้อปัญหาที่ไม่ได้เตรียมรับไว้ อาทิ ผลกระทบต่อชุมชนชาวประมง เป็นต้น จากนั้นก็เป็นปัญหาเรื่องการเมือง

ความฝันไม่ได้ไปพร้อมกันกับความจริง สภาพความเป็นจริงนับจากการก่อสร้างเฟสแรก มีแนวเขื่อนเกิดขึ้นมาก็จริงแต่มันก็สะสมปัญหาตลอดแนวก่อสร้าง ระบบการระบายน้ำ การกักขังน้ำเสียและขยะลอยฟ่องด้านหลังแนวเขื่อน ประกอบกับโครงการนี้เกิดขึ้นด้วยความเร่งรัดและการตัดสินใจทางการเมือง ที่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบที่ดีพอ ทำให้เกิดความชะงักงัน ถึงขณะนี้มีเกาะที่ถูกถมเพียง 4 จาก 17 เกาะ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการนครจาการ์ตาคนใหม่เมื่อปี 2560 ใบอนุญาตถมเกาะก็ถูกระงับลง

ถึงตอนนี้แนวคิดการเอาชนะโลกร้อนและระดับน้ำทะเลสูงของจาการ์ตาห่างไกลจากเป้าหมายเดิมมาก มีแค่เพียงโครงการย้ายเมืองหลวงใหม่ไปยังเมืองใหม่ “นูซันตารา” อย่างไรก็ตามในโลกของเป็นความจริงของการรับมือกับโลกร้อน น้ำทะเลสูง มันก็เป็นอีกแนวทางของต่อสู้ ในเมื่อสู้ไม่ได้..ก็หนี...ไปหาที่อยู่ใหม่

กำแพงกั้นคลื่นสร้อยไข่มุก ข้อท้าทายที่ต้องมีคำตอบในที่สุด

​กรณีของสิงคโปร์ มีความแตกต่างออกไป สิงคโปร์เป็นประเทศที่อยู่แถวหน้าที่มีแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก รวมถึงการออกแบบยกระดับคันกั้นน้ำทะเลอย่างเป็นระบบ บนฐานการคำนวณที่หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด เกาะสิงคโปร์จะยังต้องอยู่รอด

ล่าสุดนอกจากแนวพนังกั้นเดิมยังมีโครงการใหม่เพิ่มเติมอีก เรียกว่า ลอง ไอส์แลนด์ (Long Island) สร้างเกาะเทียมขึ้นอีกสามเกาะที่เชื่อมต่อเป็นแนวกั้นน้ำและยกระดับสูงกว่าเกาะสิงคโปร์ปัจจุบัน พื้นที่เกาะใหม่ที่เป็นแนวป้องกันชั้นนอกสุดดังกล่าวมีขนาดเนื้อที่ประมาณ 8 ตร.กม. หากถามว่ามีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการที่ว่าเหล่านี้หรือไม่ ตอบได้ว่ามีแน่นอน อย่างน้อยก็มีรายงานการสูญเสียปะการังชายฝั่ง แต่รัฐบาลสิงคโปร์ให้น้ำหนักภัยคุกคามจากน้ำทะเลยกตัวเป็นลำดับต้น เขาถือว่า นี่เป็นภัยคุกคามที่กำลังเผชิญอยู่จริง (existential threat)  

เจตจำนงเชิงนโยบายของไทยต่อปัญหาโลกร้อน

ตัวอย่างจากประเทศใกล้ตัว 2 ประเทศ มีความแตกต่างกันชัดเจน แม้จะมีความก้าวหน้าล้มเหลวแตกต่างกัน แต่ก็สะท้อนว่า รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนน้ำทะเลยกสูงอย่างจริงจัง แม้อินโดนีเซียจะประสบความขลุกขลักจากการก่อสร้างเขื่อนยักษ์แต่โครงการย้ายเมืองหลวงใหม่ก็ทำได้ทันตามกำหนดเวลา

ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ แล้วประเทศไทยเรามองปัญหานี้และจัดลำดับความเร่งด่วนอยู่ในระดับใด ?

จริงอยู่ที่กรุงเทพฯ ดีกว่าจาการ์ตา ที่มีอัตราการจมลงปีละแค่ประมาณ 1.5 มิลลิเมตร/ปี บวกกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้นปี 4.5 มิลลิเมตร ไม่ได้มากเป็นระดับปีละ 3-4 นิ้วเช่นจาการ์ตา ...แต่ที่สุดแล้ว มันก็ทรุดลงไปเรื่อยๆ และน้ำก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด คำถามคือ ประเทศไทยมีการศึกษาพยากรณ์ผลกระทบเรื่องนี้ขนาดไหนแค่ไหนพอเพียงหรือยังที่จะนำไปสู่การออกแบบโครงการป้องกัน

จาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย มีอัตราทรุดของพื้นดินมากสุดในโลก พยายามศึกษาแนวทางป้องกันโดยร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีประสบการณ์แผ่นดินต่ำสู้น้ำทะเลสูงช่ำชองที่สุดในโลก ที่สุดก็ได้ออกแบบการถมเกาะน้อยใหญ่เป็นรูปการูด้าจำนวน 17 เกาะ เชื่อมโยงด้วยระบบเขื่อนกั้นระบายน้ำ ความยาวของตัวครุฑแค่ 40 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับสร้อยไข่มุกที่จะถม 9 เกาะ ระบบเขื่อนที่เชื่อมโยงระหว่างเกาะยาว 7-10 ก.ม. เคยมีระบบใดในโลกให้อ้างอิงว่าทำได้ หรือ เป็นแค่แนวความคิดลอยๆ เพื่อจะก่อรูปตั้งต้นโครงการ ?

สรุปก็คือ ประเทศไทยเรายังไม่มีนโยบายของรัฐที่ชัดเจนต่อฉากทัศน์ที่ว่า - ใช่หรือไม่ ? ต่อให้ไม่มีจริงก็ไม่เป็นไร ขอให้เริ่มที่เจตจำนงที่ชัดเจน แล้วเริ่มจากฐานข้อมูลจริงๆ เริ่มจากความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยีจริงๆ ว่าการจะปกป้องและรองรับผลกระทบสภาวะโลกเปลี่ยนต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ ควรจะเป็นแบบใดดีแน่ เพราะการจู่ๆ เชิด สร้อยไข่มุก ความยาว 100 กม. พร้อมกับคาด (แบบข่มขู่ว่าน้ำจะสูงถึง 5-6 เมตร เมื่อไหร่ไม่รู้) มันจะนำมาสู่การโต้เถียงแบบไม่ได้นำไปสู่ทางออกอะไร

 

 

..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ