ตามหา 'ไตลื้อ' ที่สิบสองปันนา
อัปเดตบรรยากาศล่าสุด 'สิบสองปันนา' ปี พ.ศ. 2567 ในแง่การพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากจีน ทั้งระบบขนส่งที่ดีขึ้น ตึกสูงผุดขึ้นมากมาย ย่านการค้าเกิดใหม่ และแหล่งท่องเที่ยวเจริญขึ้นผิดหูผิดตา
KEY
POINTS
- สิบสองปันนาใน พ.ศ. นี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก เมื่อมหาอำนาจแดนมังกร เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมบ้านเมืองของเขาให้เจริญมากขึ้น เริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง
- มีความพยายามรื้อฟื้นอัตลักษณ์คนไต เพื่อเป็นจุดขายของสิบสองปันนา แต่เท่าที่เห็นกับตากลับไม่ใช่วัฒนธรรมไตลื้อแบบดั้งเดิม และแทบหาคนไทลื้อเจ้าของแผ่นดินแท้ๆ ตามแหล่งเศรษฐกิจใหม่ไม่เจอ
- เชียงรุ่ง เมืองหลักของสิบสองปันนาเต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า ทันสมัย เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของคนจีนมณฑลอื่นปีละหลายล้านคน ความเปลี่ยนแปลงใหม่กำลังเข้ามาเติมเต็ม ยกเว้นความเป็นไทลื้อดั้งเดิมที่กำลังหายไป
เมื่อปลายเดือนตุลาคมผู้เขียนได้ไปปั่นจักรยานที่สิบสองปันนา ใช้เส้นทางเก่าเกาะไฮเวย์ R3A จากชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน ขึ้นไปเมืองเชียงรุ่ง(จิ่งหง) ซึ่งต้องผ่านหัวเมืองสิบสองปันนาเก่าหลายเมือง เช่น เมืองหล้า, เมืองหย่วน, เมืองแวน, เมืองสิง, เมืองหนุน, เมืองฮำ มีเกร็ดมุมมองจากทริป 7 วันในจีนมาเล่าสู่กันฟัง
สิบสองปันนาใน พ.ศ. นี้เปลี่ยนแปลงจากที่เคยไปสองรอบก่อนหน้านี้ ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกินความคาดหมาย มันก็เป็นไปตามปกติของมหาอำนาจมังกรที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสังคมบ้านเมืองของเขาขึ้นแถวหน้าของโลก
ย้อนหลังกลับไปแค่ 30 ปีก่อน ปักกิ่งมีนโยบายพัฒนาดินแดนภาคตะวันตกที่ห่างไกลและยังล้าหลัง ในตอนนั้นเริ่มมีความคิดเปิดเส้นทางเชื่อมการค้าขายสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจและการบุกเบิกแม่น้ำโขง ยูนนานเป็นมณฑลที่ยังไม่เจริญ ไม่ต้องพูดถึงสิบสองปันนา เมื่อสิบกว่าปีก่อนได้ไปเชียงรุ่งอีกครั้งความเป็นบ้านเมืองแบบเดิมยังพอปรากฏให้เห็นในย่านริมแม่น้ำโขง ส่วนพื้นที่ลึกเข้าไปมีการพัฒนาตึกแถวอาคารแบบจีน คือเริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมแบบจีนครอบลงไป
สิบสองปันนาพัฒนาเมืองยกใหญ่ เกิดย่านการค้าใหม่มากมาย แต่ 'คนไทลื้อ' คนท้องถิ่นแท้ๆ หายไป
ไปถึงเมืองเชียงรุ่งรอบนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปแทบหมดสิ้น เมืองเก่าริมแม่น้ำอันเป็นเชียงรุ่งเดิมกำลังถูกรื้อออก มีการปิดกั้นถนนริมแม่น้ำทั้งสาย รถแบคโฮเครื่องจักรกำลังทุบทำลายปรับสภาพพื้นที่ ส่วนย่านการค้าใหม่ถัดมาจากถนนสายหลักที่นักท่องเที่ยวรู้จักในนามไนท์มาร์เก็ตเดิม ที่มีตึกสูงห้างสรรพสินค้าใหญ่โตก็เงียบเหงาลงหน่อย เพราะมีคู่แข่งเป็นศูนย์กลางความเจริญใหม่ฝั่งตรงข้ามลงทุนหลักพันล้าน ดึงดูดผู้คนนักท่องเที่ยวต่างถิ่น (ส่วนใหญ่คือจีนจากมณฑลอื่น) ไปอยู่ที่นั่น ความคึกคักแตกต่างกันชัดเจนระหว่างเจ้าใหม่กับเจ้าเก่า แอบคิดว่าไปรอบหน้าพื้นที่เมืองเดิมริมน้ำที่กำลังทุบทิ้งจะกลายเป็นอะไรที่ดึงดูดกว่าแน่นอน
สิบสองปันนามีแหล่งท่องเที่ยวกลางวันหลายแบบ จุดสำคัญที่คนไปมากสุดคือบ้านถิ่น (Manting Park) ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองที่สุด ซึ่งที่จริงแล้วพื้นที่ตรงนั้นคือเขตวัดวาและเขตเวียงผาครางของเจ้าหลวงเมืองลื้อแต่เดิม พอคอมมิวสิสต์ปกครองก็ล้มเลิกระบอบเดิม เอาเจ้าหลวงไปอยู่คุนหมิง และรื้อทำลายเวียงผาครางสัญลักษณ์ระบอบเก่าลงไป
ในยุคนี้มีความพยายามรื้อฟื้นอัตลักษณ์คนไต เพื่อเป็นจุดขายของเขตปกครองชนชาติไตสิบสองปันนา แต่ในทางปฏิบัติจุดขายอัตลักษณ์ไตที่ว่ามันไม่ใช่ไตลื้อเชียงรุ่งสิบสองปันนาแต่เดิม การท่องเที่ยวแบบจีนๆ ได้กวาดเอาวัฒนธรรมไต/ไทย/ลาว/ฉาน ไปกองกันอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คนจีนที่มาจากมณฑลอื่นก็ไม่รู้ เช่าชุดไทยสไบออเจ้า ชุดไตใหญ่รัฐฉาน ชุดซิ่นลาว และชุดประยุกต์แบบหนังแฟนตาซีย้อนยุครุงรังๆ เพื่อถ่ายรูปเช็คอินกับสิ่งก่อสร้างใหม่ ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์แบบไทยพม่าลาวปะปนอยู่ในนั้น
แทบหาคนไทลื้อเจ้าของแผ่นดินแท้ๆ ตามแหล่งเศรษฐกิจใหม่ไม่เจอ
เพราะคนจีนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจลงรายละเอียดว่าไทสิบสองปันนาคืออะไร ขอให้เป็นเขตปกครองชนกลุ่มน้อยชาวไต ที่แปลกแตกต่างออกไปจากวัฒนธรรมฮั่นเป็นพอ ความเป็นอื่นจึงเป็นจุดดึงดูดของการมาเที่ยวเยือน แม้ความเป็นอื่นดังกล่าวจะเป็นของปลอมๆ ที่กวาดๆ จากที่อื่นมารวมกันก็ตาม
วัฒนธรรมไตลื้อดั้งเดิม กำลังถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมผสมจากไทย ลาว และจีน
ความน่าตื่นเต้นของชาวจีน(ที่อื่น) ที่ได้มาสิบสองปันนา คือ มาเจอะกับวัฒนธรรมชนเผ่าไตที่แตกต่างจากตน ลำพังไตลื้อเชียงรุ่งเดิมยังอลังการไม่พอตอบสนอง จึงเกิดมีไทยสยามช่อฟ้าใบระกามาร่วมขาย มีคนมองว่าก็ดี ที่ชุดไทยแบบไทยสยามจริงๆ รวมกระทั่งกางเกงช้าง ขนมขบเคี้ยวไทยห่อด้วยซองบรรจุอักษรไทยคือซอฟท์พาวเวอร์ ที่ข้ามแดนไปดึงดูดสร้างความชื่นชมให้กับชาวจีน
มุมมองที่ว่าก็น่าสนใจในการเอามาขบคิดต่อ แต่ที่แน่ๆ ทั้งชุดไทย กางเกงช้าง รวมถึงขนมขบเคี้ยวในซองที่ใช้ฟอนต์ไทยคงจะเมดอินไชน่าทั้งหมด และอาจจะรวมไปถึงเครื่องรางวัตถุมงคลที่เอาไปวางขายก็ไม่ยกเว้น
สำหรับคนไทยอย่างเราๆ การไปสิบสองปันนา เดินทางผ่านเส้นทางสายเก่าผ่านชุมชนเขตเมืองดั้งเดิมของชาวไตลื้อ ย่อมเป็นอะไรที่แตกต่าง เพราะความเป็นไต/ไท ร่วมภาษาสื่อสารกันรู้เรื่อง เส้นทางที่ใช้เป็นถนนสองเลนผ่านหมู่บ้านชุมชน เงยขึ้นไปเห็นทางด่วนซุปเปอร์ไฮเวย์เจาะผ่านภูเขา บางช่วงผ่านเสาเส้นทางรถไฟคุนหมิง-เวียงจันทน์ เหมือนกับโลกอีกโลกหนึ่ง
เส้นทางด้านล่างมีการปลูกยางพารา เช้าๆ ยังเห็นชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซด์บรรทุกน้ำยางไปขาย แต่น่าเสียดายที่พอเข้าสู่เขตเมืองรายทางเปลี่ยนแปลงเป็นย่านตลาดย่านการค้าและมีชาวจีนมาปักหลักทำกินมากขึ้น จนแทบหาไทลื้อสิบสองปันนาเจ้าถิ่นไม่ได้
บางเมืองยังคงหลงเหลือวิถีดั้งเดิมให้ชม และมีอาหารพื้นถิ่นให้ได้ชิม
ที่ เมืองล่า อันเป็นหัวเมืองสิบสองปันนาเก่า ยังได้เจอะแม่อุ้ยรุ่นแม่รุ่นป้า มวยผมนุ่งซิ่นมานั่งขายผักยามเช้าที่หน้าตรอกย่านตลาดเมืองเก่า นั่นเป็นที่ทางของชาวไทลื้อเมืองล่าดั้งเดิม ที่ใช้ทางเท้าตรอกซอยทำมาหากิน ส่วนอาคารตึกแถวใช้ภาษาจีนสื่อสารกันแทบทั้งสิ้น ยกเว้นร้านอาหารพื้นเมืองร้านหนึ่งที่เจ้าของเป็นชาวไทลื้อ ยังขายข้าวเหนียวเช้า ห่อรองด้วยใบไม้ มีกับข้าวพื้นถิ่นเมืองไทลื้อ เช่น ส้าผัก น้ำพริกหนุ่ม โปะหน้าให้
เดินทางจากเมืองล่าไปที่เมืองหย่วน เมืองแวน ซึ่งเป็นหัวเมืองสิบสองปันนาดั้งเดิม เมืองหย่วนกลายเป็นสี่แยกตึกแถวร้านค้าของชาวจีนย่านตรงนั้นมีทางแยกไปท่าเรือกวนเหล่วย จึงเติบโตเร็วมีคนต่างถิ่นมาตั้งรกราก จึงไม่เหลือสภาพเรือนไม้วัดวาชุมชนของเมืองหย่วนเดิม
ส่วนบ้านแวน ยิ่งไปกันใหญ่เพราะถึงมีชุมชนชาวไทลื้ออยู่จริง แต่หมู่บ้านแทบทั้งบ้านถูกขายถูกเช่าโดยนายทุนจีนสร้างบ้านพักแบบใหม่ ร้านรวงศาลาแบบไทยสยามปนลาว ทำเป็นศูนย์ท่องเที่ยววัฒนธรรมไตแบบโฮมสเตย์ แน่นอนว่ามีชาวไทลื้ออยู่อาศัยในนั้นด้วยแต่ก็อาจไม่ใช่เจ้าของบ้านจริงๆ
เมืองเก่าบางแห่งรัฐบาลยังอนุรักษ์ไว้ อุดหนุนเงินให้ 1 แสนหยวน/ปี
เขตที่ยังรักษาสภาพวัดวาบ้านเรือนไม้ประตูโขงแบบเดิมได้ดี คือ เส้นทางระหว่างเมืองหนุน ( Menglunzhen) กับเมืองฮำ (Menghanzhen) หรือที่รู้จักในนาม 'กาหลันป้า' ชุมชนที่สามารถอนุรักษ์บ้านเรือนแบบเดิมไว้ยังมีอยู่บ้างโดยรัฐบาลท้องถิ่นอุดหนุนเงินให้ 1 แสนหยวน/ปี (ประมาณ 5 แสนบาท/ปี) ห้ามรื้อห้ามต่อเติม ที่จริงคือจ้างให้อยู่บ้านเดิมนั่นล่ะ เพื่อรักษามรดกไว้
มีหมู่บ้านแบบนี้หลายแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม แต่คงจะเฉพาะกลุ่มที่สนใจอะไรเก่าๆ จริงๆ นักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่นิยมถ่ายรูปเช็คอินกับวัฒนธรรมแปลกไปจากวัฒนธรรมฮั่น ขอให้เป็นไท โดยเฉพาะมีกลิ่นเป็นไทย (สยาม) ยิ่งดี ดังนั้นจึงเกิดมีการใช้กูเกิ้ลทรานสเลทแปลภาษาแปลกๆ ติดเต็มตามแหล่งท่องเที่ยวสร้างบรรยากาศไทยๆ (ไม่ใช่ไทลื้อ) รองรับความต้องการกลุ่มนี้
เชียงรุ่ง เมืองหลักของสิบสองปันนาเต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้าแล้ว เป็นเมืองทันสมัยไม่แพ้ตัวจังหวัดใหญ่ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของคนจีนมณฑลอื่นปีละหลายล้านคน รวมทั้งเพื่อนบ้านเมืองหนาวอย่างมองโกเลีย ก็นิยมเดินทางมาตากอากาศอุ่นของที่นี่ ปั่นจักรยานเป็นแถวๆ มีโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านอาศัยใหม่ขายชาวจีนชาวมองโกเลียจากเขตเหนือที่หนาวเย็น
ความเปลี่ยนแปลงใหม่แทบทุกอย่างกำลังจะเติมเต็มมาที่สิบสองปันนา ยกเว้นความเป็นไทลื้อดั้งเดิมเท่านั้น ที่กำลังหายไป.
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ