“ทุนข้ามชาติ” เคลื่อนทัพ รุกไทยฮับโลจิสติกส์
การประกาศลงทุนศูนย์กระจายสินค้าในไทยเชื่อมอาเซียนของยักษ์อีคอมเมิร์ซโลกอย่าง“อาลีบาบา” สะท้อนศักยภาพไทย “ฮับ”โลจิสติกส์อาเซียน ที่เหล่าทุนข้ามชาติ ญี่ปุ่น-จีน-ไต้หวัน กำลังดอดปิดดีล“ร่วมทุน-ซื้อกิจการ”โลจิสติกส์ไทยคึกคัก
เศรษฐกิจไทยขยายตัว “ระดับต่ำ” ติดต่อกันหลายปี หนึ่งสาเหตุหลักมาจากเครื่องยนต์สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ีชื่อ “การลงทุนภาคเอกชน” อยู่ในระดับซบเซามาเป็นเวลานาน
การเร่งผลักดันการลงทุน เพื่อเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของรัฐบาลชุดนี้ ผ่านโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0
โดยเฉพาะการผลักดันการลงทุน “โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี” ใน 3 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แม้ร่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) จะยังอยู่ในขั้นตอนของการขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบในเดือนก.ย.นี้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค.2560
ทว่า ราคาที่ดินใน 3 จังหวัดดังกล่าว กลับดีดตัวขึ้น “หลายเท่าตัว” หลังผู้ประกอบการจากหลากหลายอุตสาหกรรม แห่เข้าไปซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ดักโอกาสการลงทุนในอนาคต
โดยเฉพาะหนึ่งในธุรกิจ “ดาวเด่น” ต้องยกให้ “ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” (อีคอมเมิร์ซ) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีอัตราเติบโตระดับ “ตัวเลขสองหลัก”
ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ประเมินมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย พบว่า ในปี 2559 ตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่าราว 2.52 ล้านล้านบาท หรือ ขยายตัวเฉลี่ย 48% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
ภาพการลงทุนในไทยเพื่อคว้าโอกาสการเติบโตธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย และสิทธิประโยชน์การลงทุนในอีอีซี คือการมาถึงของ “อาลีบาบา” ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของโลก ประกาศลงทุนผ่านบริษัทลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด สร้าง “ศูนย์กระจายสินค้า” ในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนยกลางการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ก่อนขยับสู่อาเซียนในอนาคต
สอดรับกับยักษ์อุปโภคบริโภคไทย "สหพัฒน์" ได้ลงนามความบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับลาซาด้า ในการนำสินค้าและบริการของเครือสหพัฒน์เข้าไปทำตลาดผ่านช่องทางขายของลาซาด้าอย่างเป็นทางการ หลังที่ผ่านมาได้ทดลองทำตลาดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2557 รวมทั้งมองโอกาสการร่วมมือดังกล่าวในการนำสินค้าและบริการของเครือสหพัฒน์เข้าไปจำหน่ายทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน 6 ประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย รวมถึงตลาดจีนในอนาคต
การเติบโตของตลาดอีคอมเมริ์ซ ยังส่งผลให้ธุรกิจ“ขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์” ในประเทศได้รับอานิสงส์นี้ ประเมินจากข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า มี 2 ใน 3 บริษัท ที่มีผลประกอบการ “ขาดทุนลดลง” ในปี 2559 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีนี้ ได้แก่ บมจ.เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนลโลจิสติกส์ หรือ NCL ขาดทุน 8.18 ล้านบาท และ 4.88 ล้านบาท บมจ.อาร์ ซี แอล หรือ RCL ขาดทุน 1,374.67 ล้านบาท และ 261.09 ล้านบาท ส่วน บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD ขาดทุน 8.86 ล้านบาท แต่ไตรมาส 1 ปี 2560 พลิกมีกำไรสุทธิ 40.30 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อ “ทุนข้ามชาติ” ในธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์เริ่มรุกเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง อาทิ Grab, Uber ,Kerry และ ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส ยักษ์ขนส่งคนและสินค้าข้ามชาติ
“ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ ดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ หรือ JWD กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek”ว่า ที่ผ่านมามี “กลุ่มทุนใหญ่ต่างชาติ”ในธุรกิจโลจิสติกส์ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการไทยที่มีเครือข่ายด้านการขนส่งทั่วประเทศ เพื่อขอ “ร่วมทุน” หรือ “ซื้อกิจการ” (เทคโอเวอร์) เป็นไปเพื่อต่อยอดธุรกิจ
โดยปัจจุบันถือว่าธุรกิจโลจิสติกส์เป็น “จุดสนใจ” ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ เนื่องจากกลุ่มทุนเหล่านี้มีมุมมองเมืองไทยมีศักยภาพ หากเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ส่วนตัวก็มองธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยยังเป็น “ผู้นำ”แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมามาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะมีศักยภาพการเติบโตที่ดีกว่าในไทย แต่เชื่อว่าในมุมมองของทุนต่างชาติหากต้องการกระจายการลงทุนต่อไปในตลาด กัมพูชา เมียนมา และลาว ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพมากที่สุด
“ไทยมีสิ่งที่อำนวยต่อทุนต่างชาติ สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยมีความแข็งแกร่งในสายตานักลงทุนต่างชาติ เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่า 20 ปี ฉะนั้นเมื่อเข้ามาร่วมทุนหรือเทคโอเวอร์ สามารถสปริงบอร์ดธุรกิจได้ทันที”
มุมมองส่วนตัวนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือกับทุนต่างชาติที่เข้ามา โดย JWD มีแผนรับมือด้วยการ “โฟกัส”ในตลาดที่มีความถัดและมีความชำนาญ ซึ่งบริษัทสามารถออกโปรดักท์ใหม่ที่เสริฟให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย “แม้ทุนต่างชาติเข้ามามีเงินทุนหนา แต่เชื่อว่า JWD ยังอยู่ในรุ่นเดียวกัน และสามารถชกกันได้แบบสูสี”
อย่างไรก็ตาม ตลาดโลจิสติกส์ไม่มีคู่แข่งถาวร แต่กลับเป็นตลาดที่สามารถร่วมกันทำหรือช่วยกันทำธุรกิจได้
สำหรับขีดความสามารถในธุรกิจโลจิสติกส์ จะอยู่ที่เรื่องของต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งบริษัทก็มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อลดลงต้นทุน ร่วมทั้งพยายามทำธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น การพัฒนาบุคลากร หรือ อนาคตอาจจะปรับเปลี่ยนการทำงานมาใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยหยิบจับสินค้าต่างๆ เพื่อลดการสูญเสีย อนาคตสัดส่วนอาจเป็นพนักงาน50% และ หุ่นยนต์ 50%
สอดคล้องกับที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปีข้างหน้า ฉะนั้น อนาคตแรงงานในประเทศจะลดน้อยลงและเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานคน ซึ่งมองว่าต่อไปธุรกิจโลจิสติกส์จะเป็นงานบริการลักษณะแบบ B2C หรือผู้ประกอบการกับผู้บริโภคมากขึ้น
ล่าสุด บริษัทได้เจรจากับบริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ในการจัดตั้ง บริษัท สยามเจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติตส์ จำกัด (SIAM JWD) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์อย่างครบวงจรให้กับธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือสยามกลการ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต (New S-Curve)
ด้าน “อารยา คงสุนทร” ประธานเจ้าหน้าที่บริการ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ กล่าวว่า หลังจากภาครัฐส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี พบว่าเกิดความคึกคักทางด้านนักลงทุนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติเข้ามาแสวงหาโอกาสเจรจาร่วมทุนกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยในฐานะพันธมิตรกลยุทธ์ (Strategic Partner) ที่ใช้ไทยเป็นฐานความได้เปรียบทางภูมิภาค
“ปัจจุบันเริ่มมีทุนต่างชาติเข้ามาเจรจาร่วมทุนกับไทยบ้างแล้ว ซึ่งกลุ่มทุนนั้นมีหลากหลาย โดยเฉพาะญี่ปุ่นค่อนข้างเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลังจากมีผู้อุตสาหกรรมหลายรายเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต รวมถึงผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากญี่ปุ่น การลงทุนอีอีซีจึงเป็นตัวเร่งทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์รายใหม่ๆ เข้ามาแสวงหาโอกาสต่อยอดพัฒนาธุรกิจรุกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น”
ด้าน “เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์” นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ยอมรับว่า ขณะนี้มีภาคธุรกิจด้านโลจิสติกส์ต่างชาติหลายรายติดต่อเข้ามาข้อมูลการดำเนินธุรกิจกับสมาคมฯ และเพื่อให้ประสานการเจรจาการร่วมทุน เป็นพันธมิตรธุรกิจ (Strategic Partner) ที่เข้ามาใช้ความชำนาญในพื้นที่ของผู้ประกอบการไทย ผนึกกับองค์ความรู้จากผู้ประกอบการต่างชาติ ช่วยกันขยายรุกไปสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการขนส่งสินค้าจำนวนมาก
เขาบอกว่า การทำดีลเจรจาร่วมทุนต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 6เดือน-1 ปี เพื่อทำข้อตกลงธุรกิจร่วมกันร่วมกัน เมื่อเจรจาเสร็จสิ้นจึงเปิดเผยได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีผู้ให้บริการโลจิสติกส์หลายรายเข้ามาดักโอกาสก่อน แม้ไทยจะยังไม่ได้แก้ไขกฎหมาย แต่ก็เป็นการปักธงเพื่อรองรับการขยายตัวด้านความต้องการบริการสินค้าในอนาคต มีบางรายที่ทำดีลข้อตกลงธุรกิจเสร็จแล้ว เช่น กลุ่มธุรกิจเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส ร่วมมือกับเอสซีจี ซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กับ ยามาโตะ เอเชีย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์อันดับหนึ่งในญี่ปุ่น เข้ามาเปิดสาขาพร้อมรุกในตลาดอาเซียน
------------------------------
“ยักษ์ขนส่งญี่ปุ่น”บุกไทย
“คูนิโอะ มิกิตะ” ประธานบริษัท เพาแทคคอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่น(PALTAC Corporation) ลงนาม MOU กับบริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) และบริษัท ไทเกอร์ดิสทริบิวชั่นแอนด์โลจิสติกส์ จำกัด เครือสหพัฒน์ เพื่อรุกธุรกิจคลังสินค้าและโลจิสติกส์ครั้งสำคัญในไทยและถือเป็นการก้าวออกจากบ้านครั้งแรกในรอบ 119 ปี เพื่อพัฒนา “โครงการไทเกอร์ สุวรรณภูมิ ดีซี” บนเนื้อที่ 47 ไร่ ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิเพียง 10 กิโลเมตร มีพื้นที่อาคารกว่า 65,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) ครอบคลุมถึงบริหารจัดการคลังสินค้า ระบบไอที และร่วมกันประกอบธุรกิจกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ให้กับลูกค้าในเครือสหพัฒน์และนอกเครือด้วย
“เพาแทคคอร์ปอเรชั่น” เป็นผู้ประกอบการศูนย์กลางการกระจายสินค้าอุปโภค หรือ คอนซูเมอร์โปรดักท์ข้ามชาติทั้งของสหรัฐอเมริกา ,ยุโรป ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลูกค้าต้องการให้บริษัทขยายการลงทุนออกไปในต่างประเทศ โดยเฉพาะในไทย เพราะว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจดังกล่าว
แม้ไทยจะเป็นประเทศแรกของการรุกธุรกิจคลังสินค้าและโลจิสติกส์นอกบ้าน ทว่า เป้าหมายระยะยาว เขามองถึง “โอกาส”ในการร่วมมือกับเครือสหพัฒน์ก้าวสู่สังเวียนโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป ซึ่งประเด็นนี้ยังต้องหารือในรายละเอียด เพระเพาแทคดำเนินธุรกิจตั้งแต่ค้าส่งและมีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 30% ในประเทศญี่ปุ่น มีการพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ มีอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานและจดสิทธิบัตรไว้กว่า 20 รายการ ซึ่งสิทธิบัตรดังกล่าวไม่ใช่จะร่วมมือกับใครก็ได้ แต่ต้องเกิดกับ “พันธมิตรที่ไว้ใจได้”
ด้าน“วิเชียร กันตถาวร”กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ดิสทริบิวชั่นแอนด์โลจิสติกส์ จำกัด เล่าว่าการที่เครือสหพัฒน์ผนึกกำลังลาซาด้า รุกในธุรกิจอีคอมเมิร์ซครั้งสำคัญ และการร่วมมือพันธมิตรญี่ปุ่นในธุรกิจคลังสินค้า ถือว่าเป็นการเอื้อหนุนธุรกิจคลังสินค้าเช่นกัน เพราะว่าลาซาด้าก็กำลังมองหาพื้นที่เช่าคลังสินค้าแห่งใหม่ เนื้อที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตรซึ่งโครงการไทเกอร์ฯ แห่งนี้ ก็พร้อมรองรับ
---------------------------
“พิธีการศุลกากร”
อุปสรรคไทยฮับโลจิสติกส์
เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์พัฒนาไทยแลนด์4.0 ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าขนส่ง (โลจิสติกส์ ฮับ) ในอาเซียนและจีนตอนใต้ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต แต่ปรากฏว่าแนวทางการพัฒนายังไม่ถูกขับเคลื่อนอย่างชัดเจน เพราะยังไม่จัดการอุปสรรคในการเชื่อมต่อกลไกการกระจายสินค้าด้านโลจิสติกส์ไปยังภูมิภาคของไทยยังไม่คล่องตัว คือการปฏิรูป “พิธีการศุลกากร” เพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และรองรับการค้าแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดต้นทุนและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
อาทิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ที่ผ่านมายาวนานแต่ยังคงบังคับใช้ให้นายเรือต้องแถลงข้อความว่าการแสดงสินค้า และกระบวนการขนส่งยังซ้ำซ้อน รวมไปถึงกฎระเบียบของกรมการค้าต่างประเทศ ที่ป้องกันการสวมสิทธิของสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านจึงต้องมีการตรวจสอบสินค้า
พร้อมกับการขออนุญาตนำเข้าสินค้า ต้องตรวจสอบการเข้าออกของสินค้าผ่านแดน ตามมาตรการกำกับดูแลการนำเข้า-ส่งออกตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลกระทบต่อการอำนวยความสะดวกในการขนส่งและกระจายสินค้าจากประเทศไทยข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไม่เติบโต และทำให้ไทยไม่พร้อมในการแข่งขันรองรับสินค้าที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการกระจายสินค้าส่งออกไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญที่สร้างโอกาสการยกระดับการพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียน เป็นแหล่งกระจายสินค้ารุกอาเซียน ตามยุทธศาสตร์รัฐบาล
ปัญหาดังกล่าว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ “ต้นทุนโลจิสติกส์” ผู้ประกอบการไทยสูงอย่างไร้เหตุผล โดยเฉพาะต้นทุนที่ตต้นทุนที่ผู้นำเข้าสินค้าต้องจ่ายให้กับสายการเดินเรือ จากการจัดการตู้สินค้า 7 ล้านตู้ทีอียูในไทย มูลค่าการจัดการรวมสูงถึง 3.3 พันล้านบาทต่อปี ที่ผู้นำเข้าต้องจ่ายให้สายการเดินเรือ หากสามารถตัดส่วนนี้ไปด้ทำให้ไทยลดต้นทุนเหลือเพียง 420 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งสะสางปัญหา จึงต้องแก้ไขกฎหมายการรับสินค้าต้องไม่มีการจัดเก็บภาษีเพื่อเปิดกว้างจูงใจ ให้ผู้ใช้บริการเข้ามานำสินค้ามาพักใช้บริการผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในไทย รวมถึงข้อบังคับด้านใบอนุญาตนำเข้าที่ยังต้องมีการขอใบอนุญาตินำเข้าสินค้า ควรมีการยกเลิกหากสินค้านั้นไม่เข้ามาจำหน่ายในไทยแต่เป็นการนำเข้ามาเพื่อพักสินค้าไปยังประเทศที่สาม
ทั้งนี้ หากภาครัฐกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการนำเข้าสินค้ามาสวมสิทธิ์มาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแปลงเป็นสินค้าไทยแล้วส่งออก รวมถึงส่งเข้ามาจำหน่ายในไทย ก็ควรคิดพัฒนา“ระบบควบคุม”ที่ดีกว่าเสียโอกาสและปิดกั้นโอกาสการพัฒนาด้านฮับโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ และระบบการอำนวยความสะดวกจากกฎระเบียบภาครัฐยังไม่เอื้อ เป็นส่วนสำคัญจึงใจให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์เติบโตและเข้ามาปักธงพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยให้แข่งขันได้ และพร้อมเป็นฮับอย่างแท้จริง ที่จะเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้บริการด้านโลจิสติกส์ เป็นช่องทางเพิ่มรายได้การขนส่งทางอากาศ 4.1 หมื่นล้านบาท รายได้ทางทะเลอีก 3.5 หมื่นล้านบาท โดยรวมการผ่อนปรนกฎระเบียบดังกล่าวสร้างโอกาสให้ไทยแย่งชิงความเป็นฮับและมีกลุ่มลูกค้าจากประเทศคู่แข่งเข้าตั้งฐานโลจิสติกส์ในไทยเพิ่มโอกาสในการทำรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท โดยรวมทำให้ไทยเสียโอกาสเกือบแสนล้านบาท