เล่นสี ละเลงภาพ จากดอกไม้
สีที่ใช้ระบายภาพ ไม่ได้มีแค่สีที่ขายทั่วไป ยังมีการนำดอกไม้มาเป็นแม่สี สวยแบบละมุนละไม
แม้กระทั่งสีที่ใช้วาดรูปก็ยังเลือกจากดอกไม้ใบไม้ได้ แล้วทำไมชีวิต...จะออกแบบเองไม่ได้
วลัยกร สมรรถกร หรือ ต้องการ อดีตสถาปนิก ที่หันมาเป็นนักวาดการ์ตูน วาดภาพประกอบ อาจารย์พิเศษสอนศิลปะ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และวิทยากรสีน้ำออร์แกนิก ซึ่งล่าสุดวาดภาพประกอบนวนิยาย“โลกของมดแดงกับแตงกวา (เอยด้วย!) "ผลงานเขียนโดยงามพรรณ เวชชาชีวะ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค
7-8 ปีที่แล้ว เธอออกจากกรุงเทพฯไปอยู่ที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้ และใช้เวลาที่นั่นเขียนหนังสือและวาดภาพ
โดยก่อนหน้านี้เธอเคยป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังระยะแรก ปัจจุบันรักษาหายแล้ว แต่ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิต เพื่อไม่ให้มะเร็งกลับมาอีก
“เมื่อก่อนไม่เคยดูแลตัวเอง เพราะเป็นคนแข็งแรง เรื่องอาหารการกิน เรื่องสุขภาพไม่เคยสนใจ พอมาเป็นมะเร็งผิวหนัง เพราะไฝที่สันข้อมือโตขึ้นผิดปกติ อาจจะเกี่ยวกับการวาดรูป เพราะเวลาวาดรูปข้อมือจะถูไปกับโต๊ะตลอดเวลา ตอนนั้นปูโต๊ะด้วยพลาสติก แต่การเป็นมะเร็งไม่ได้มาจากปัจจัยเดียว คิดว่าน่าจะมาจากไลฟสไตล์ของเราเอง เพราะบางคนสูบบุหรี่สิบยี่ปียังไม่เป็นมะเร็ง คนที่ป่วยเป็นมะเร็งจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย”
เธอบอกว่า โชคดีที่เป็นมะเร็งขั้นที่1 และ 7-8 ปีที่แล้วหมอยังไม่จัดคีโมให้ แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน มะเร็งระยะแรกก็ให้คีโมแล้ว
“ตอนนั้นใช้เวลาในการรักษามะเร็งเป็นเวลาหนึ่งเดือน ผ่าตัดเสร็จ ก็หันมาดูแลสุขภาพแบบธรรมชาติบำบัด เพราะการแพทย์ทางเลือก ทำให้ชีวิตเรามีทางเลือก”
เมื่อเลือกได้ เธอจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตมาอยู่กับธรรมชาติ ปรับอาหารการกินทุกอย่างให้เป็นออร์แกนิกมากที่สุด หันมาปลูกผักไว้กินเอง และปลูกดอกไม้ไว้ผสมสี
ดอกไม้ที่เธอปลูก นอกจากความสวยงาม ยังนำมาใช้เป็นสีวาดรูป โดยเวลารับงานวาดภาพประกอบ เธอจะบอกผู้ว่าจ้างว่า ขอใช้สีจากดอกไม้ใบไม้นะ
“ข้อเสียคือ สีจะซีดลง แต่เราก็มองข้ามเรื่องนี้ไปนานแล้ว เพราะเวลาวาดภาพเสร็จ ก็จะสแกนภาพให้ผู้ว่าจ้างไปเลย”
หากถามว่า สีจากใบไม้ดอกไม้ จะทำให้มีสีใช้ครบทุกเฉกสีในการวาดภาพไหม ต้องการ บอกว่า อัญชันที่ปลูกไว้ ก็ออกดอกทั้งปี ใช้เป็นแม่สีคือ สีน้ำเงิน ส่วนดอกกรรณิการ์ให้สีเหลือง ดอกไม้ชนิดนี้ สมัยก่อนใช้ย้อมจีวรพระ พริกฝรั่งให้สีแดงอมส้ม
“เราพยายามปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ที่ให้สีได้ เพราะหาซื้อไม่ได้ อย่างดอกพยับหมอกให้สีฟ้าสวยมาก ลูกผักปลังให้สีม่วง ต้อยติ่งฝรั่งก็ปลูกไว้”
ส่วนวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เธอบอกว่า หลังจากเข้าคอร์สธรรมชาติบำบัดกับหมออินเดีย นอกจากได้เรียนรู้วิธีดูแลตัวเอง ยังได้เรื่องอาหารการกินที่เป็นธรรมชาติ
“ตอนที่ตัดสินใจขายบ้านที่กรุงเทพฯ ชวนคุณแม่มาอยู่ปากช่อง แม่คิดแค่สิบนาที เราซื้อที่ดิน 5 ไร่ ก็แบ่งขายให้เพื่อนๆ แม่ และเพื่อนเรา ปลูกบ้านในรั้วเดียวกัน ขับรถแค่สองชั่วโมงเข้ากรุงเทพฯแต่อุณหภูมิต่างจากกรุงเทพฯมาก บางฤดูกาลอุณหภูมิ 10 องศา สามารถปลูกผักเมืองหนาวได้ง่าย"
เหมือนเช่นที่กล่าวมา แม้สีที่มาจากดอกไม้ใบไม้จะซีดลงตามกาลเวลา ก็ไม่ต่างชีวิตที่เป็นไปตามครรลองของธรรมชาติ
เพราะเรื่องของสี และชีวิต สามารถกลมกลืนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน เธอจึงเขียนไว้ในหนังสือและภาพประกอบ เรื่อง สโลว์บุ๊ค สำนักพิมพ์อะบุ๊ก ,organic101 ฯลฯ และผลงานการ์ตูน อาทิ ความสุขของมะลิ,กล่อง ,บทสนทนาระหว่างฉันกับเธอ สำนักพิมพ์ฟูลสต็อป ได้รางวัลจากญี่ปุ่น ฯลฯ
โดยก่อนหน้าที่ผลงานวาดการ์ตูนประกอบเรื่อง ความสุขของกะทิ (เขียนโดยงามพรรณ เวชชาชีวะ) คนส่วนใหญ่จะชื่นชอบ เนื่องจากภาพวาดดูละมุนละไมอ่อนโยนตามแบบของเธอ
“ถ้าถามว่า ตอนนี้อยากกลับไปอยู่เมืองใหญ่อีกไหม...ไม่ได้แล้ว ตื่นเช้ามา เราทำอาหารกินเอง อยู่ในธรรมชาติ มีเวลานั่งวาดรูป เก็บดอกไม้ ผลไม้ และผัก จนเป็นที่มาของสาวๆ กรุงเทพฯที่มาอยู่ปากช่อง รวมตัวกันเปิดตลาดนัดนิดนิด ขายสินค้าออร์แกนิกในรีสอร์ทของเพื่อน
เพื่อที่จะบอกว่า นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแปลกๆในอ.ปากช่อง ยังมีอาหารอินทรีย์ขาย เพราะมีคนกรุงเทพฯมาอยู่ปากช่อง อยากมาปลูกผัก ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์”