แข่งดุ Digital Banking เจาะขุมทรัพย์“สูงวัย”
แบงก์พาณิชย์เอาใจ“กลุ่มสูงวัย”ฐานลูกค้ารายใหญ่ เดินหน้ารุก “Digital Banking” เปลี่ยน “ความกลัว”เทคโนโลยี เป็น “กล้า” โอกาสธุรกิจมหาศาล โหนกระแสไทย-โลกก้าวสู่ Aging society เต็มตัว
พกธนาคารย่อยๆไว้บนสมาร์ทโฟน …!!!
คำพูดเหล่านี้ เริ่มถูกนายแบงก์หลากหลายสำนักหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง หลัง “เทคโนโลยี” เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการทะยอย“ปิดสาขา”ของธนาคารพาณิชย์แบงก์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะความต้องการใช้บริการที่ลดลง แต่เป็นเพราะเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาแบงก์เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินอีกต่อไป ในเมื่อมีอะไรที่ง่าย และสะดวกกว่านั้น เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว !!
อย่างไรก็ตาม แม้เมืองไทยจะขึ้นชื่อว่ามีจำนวนผู้ใช้ “อินเทอร์เน็ต” หรือ “โซเชียลมีเดีย” ติดอันดับโลก ทว่ายังมีประชากรจำนวนไม่น้อย จากจำนวนประชากรไทยกว่า 70 กว่าล้านคน ยังไม่เข้าไม่ถึงการใช้งานบนอินเตอร์เน็ต ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่อีกเหตุผลสำคัญคือ ความกลัว ไม่เข้าใจเทคโนโลยี ทำให้ไม่กล้าใช้งาน รวมไปถึงคนบางส่วนยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์ ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้การใช้งานบนดิจิทัลโซลูชั่นต่างๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์
โดยเฉพาะ “กลุ่มสูงวัย” ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของแบงก์เมืองไทย ปัจจุบันยังคงใช้งานแบงก์บนมือถือ หรือ Mobile Banking ในสัดส่วนน้อย ขณะที่เมืองไทยกำลังก้าวสู่“สังคมผู้สูงอายุ” (Aging society) เต็มตัวในปี 2568
แน่นอนแบงก์ไทย รวมถึงอีกหลายธุรกิจ ไม่อาจปล่อยให้ตลาดผู้สูงวัยหลุดลอย จำเป็นต้องเร่ง “ปรับกลยุทธ์” รับกับโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน !
โดยเฉพาะ 2 แบงก์ที่มีฐานลูกค้าใช้บริการบน “Digital Banking” ผ่านแอพพลิเคชั่น “Mobile Banking” มากเป็นอันดับต้นๆ อย่าง ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ปัจจุบันมีจำนวนฐานลูกค้าราว14 ล้านราย โดยมีลูกค้าที่ใช้บริการผ่าน Mobile Banking (K PLUS) จำนวน 8 ล้านราย ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB มีจำนวนฐานลูกค้าราว14ล้านราย คิดเป็นลูกค้าใช้บริการผ่าน Mobile Banking (SCB Easy) จำนวน 6 ล้านราย
ลองคำนวณเป็นมูลค่าตลาด Mobile Banking ของสองแบงก์ด้วยตัวเลขฐานลูกค้าดังกล่าว เทียบกับมูลค่าตลาดดิจิทัลของไทยถือว่าน้อยนิด สะท้อนเห็นจากจำนวนผู้ใช้บริการผ่าน LINE ที่มีมากถึง 36 ล้านราย ,joox10 ล้านราย ,Facebook40 ล้านราย เป็นต้น ซึ่งอนาคตจำนวนผู้ใช้เหล่านี้อาจจะใช้ช่องทางการชำระเงินผ่านแบงก์เมื่อไหร่ก็ได้…!
ฉะนั้น หน้าที่ของแบงก์จึงต้องเร่งเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้น ด้วยการสร้างฐานลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าผ่านการใช้งานบนแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนโลกดิจิทัลต้องคุยกันว่าใครมีฐานลูกค้าต้องใหญ่กว่ากัน ไม่ใช่คุยกันเรื่องผลประกอบการ แม้จะมีกำไรระดับ “หมื่นล้านบาท” แต่มีฐานลูกค้าแค่ 10 ล้านราย ก็ถือว่าเล็ก…! “ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บอกเช่นนั้น…!!
พร้อมกับระบุเป้าหมายชัดที่จะขึ้นผู้นำในกลุ่ม Digital Banking ซึ่งปัจจุบันเป็น“เบอร์ 2” โดยธนา ระบุว่าที่ผ่านมาจะเห็นความพยายามในการกระตุ้นให้มีจำนวนผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่น SCB Easy App เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเบื้องต้น 8 ล้านบัญชี จาก 6 ล้านบัญชี โดยจะนำกลยุทธ์ “การตลาดออนไลน์” ผ่านโครงการ “SCB Easy Buddy” เพื่อให้ความรู้และแนะนำการใช้งานแก่ลูกค้าธนาคารอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้งานของ Mobile Banking รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ที่พบว่าปัญหาส่วนใหญ่กลัวหรือไม่กล้าใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพราะหากเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น โอกาสที่จะได้ Users (ผู้ใช้) เพิ่มก็จะมีมากขึ้นอีก“มหาศาล”
ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 14 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนลูกค้าสูงวัยที่ใช้บริการ Digital Banking ผ่าน SCB Easy คิดเป็น “ราว10%”
ปัจจุบันพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 80% ต้องการใช้ Mobile Banking แต่ความไม่เข้าใจและความกลัวเป็น“อุปสรรค”(Barrier)สำคัญที่ทำให้ไม่ยอมใช้งาน การมีผู้ไปให้ความรู้และแนะนำวิธีการใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ ภายในแอพพลิเคชั่น จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและกล้าที่จะลองใช้งานได้มากขึ้น
“ปัญหาที่พบมากกับกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างมีอายุยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจาก กลุ่ม SCB Easy Buddy ที่แบงก์คัดเลือกมาเพื่อให้ความรู้และแนะนำการใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กๆ จบใหม่ที่อายุ 20 ปีต้นๆ จึงยังมี Generation Gap (ช่องว่างระหว่างวัย) ด้วยสไตล์แบบคิดเร็ว ทำเร็ว ของเด็กรุ่นใหม่ การใช้ศัพท์เทคนิคที่บางครั้งยากต่อการทำความเข้าใจของลูกค้าสูงวัย ทำให้ประสิทธิภาพในการเพิ่มฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก”
“ธนา” เล่าต่อว่า โมเดลรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้นภายใต้โปรเจค “SCB Easy Senior Buddy” ด้วยการนำกลุ่มผู้ที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป รวมทั้งกลุ่มที่เกษียณอายุ มาร่วมเป็นกองกำลังในการช่วยสร้างการเรียนรู้ การใช้งานแอพดังกล่าวให้กับกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน รวมไปถึงผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้งาน Mobile Banking มาก่อน ซึ่งผลตอบรับกลับเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการประสบความสำเร็จในการเชิญชวนกลุ่มผู้ใช้งานสูงวัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 100%
ปัจจุบันมี Senior Buddy จำนวน 50 คนตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 100 คน ภายในไตรมาส 1 ปี 2561
“Senior Buddy 1 คน สามารถชักชวนลูกค้ามาใช้บริการผ่าน Mobile Banking ได้ราว 20 คน”
โครงการ SCB Easy Senior Buddy หากมองในแง่ของการทำธุรกิจแบงก์ จะมียอดลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากเปิดบัญชีใหม่ และบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว แต่อีกหนึ่งที่ได้รับคือในแง่ของ “จิตใจ”ที่ได้เติมพลังให้กับผู้สูงวัยให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าไม่อยู่แบบไร้ประโยชน์ เพราะบางคนอายุ 50 ปี แต่ตนเองรู้สึกว่ายังไม่พร้อมจะเกษียณตัวเอง แต่คนอายุขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในการหางานทำ ฉะนั้นถือเป็นการทำธุรกิจ “win win” นั่นคือ “ได้ฐานลูกค้าเพิ่ม ผู้สูงวัยได้คุณค่าทางจิตใจ”
สำหรับความสำเร็จและการต่อยอดจากโครงการดังกล่าว นั่นคือ
1.ได้ฐานลูกค้าสูงวัยใน Digital Banking ผ่านแอพมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนฐานลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาถึง 10% และจากศักยภาพของกลุ่มซีเนียร์บัดดี้ เชื่อว่าจะได้ฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
2.ฐานลูกค้ารวมและการใช้งานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้านบัญชี มีอัตราแอฟทีฟ 60-65% เนื่องจากมีการสอนการใช้งานอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการแนะนำฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีอยู่ในแอพ ซึ่งลูกค้าบางคนอาจยังไม่ทราบหรือไม่เคยใช้มาก่อน ทำให้มีการใช้งานที่หลากหลายและใช้งานได้บ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งฐานผู้ใช้โดยรวมก็จะเติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน
3.เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างกันในทีม เนื่องจาก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีวินัย และมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา รวมทั้งมีประสบการณ์ในการทำงานที่มากกว่า รวมทั้งความใจเย็นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่ในทีม ขณะที่เด็กๆ ที่อาจจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีก็สามารถแนะนำให้ผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
4.เป็นโมเดลในการรองรับระบนิเวศใหม่ ( New Ecosystem) ในแวดวงแบงก์กิ้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารปิดสาขา ทำให้พนักงานบางส่วนว่างงาน ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ได้เช่นกัน รวมไปถึงกลุ่มพนักงานที่ต้องการลาออกโดยสมัครใจ (Early Retire) ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการได้เช่นกัน
5.เป็นโมเดลใหม่ในการหาพนักงานใหม่ในแต่ละสาขา เนื่องจาก กลุ่มผู้สูงอายุที่ร่วมโครงการ จะเป็นสัญญาจ้าง ซึ่งทางธนาคารจะมองเห็นศักยภาพในการทำงานของพนักงานแต่ละคน และคนที่ทำงานดีก็มีโอกาสได้ขยับมาเป็นพนักงานประจำได้ในอนาคต โดยที่ธนาคารเองก็จะได้พนักงานที่มีทักษะในการทำงานดีอยู่แล้วเข้ามาร่วมงาน
6.เป็นโครงการที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชากรไทยดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณหรือว่างงานมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้มีความสดชื่น แข็งแรง รวมทั้งยังสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและใจของผู้สูงอายุ
“ธนา” ยังระบุว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานใหม่ของ SCB Easy เพิ่มขึ้นวันละกว่า 1 หมื่นราย ถือว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าจากช่วงก่อนหน้าที่จะทำการปรับปรุงแอพเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งจะมีผู้ใช้งานใหม่ราว 3,000-4,000 รายเท่านั้น โดยจำนวนผู้ใช้ใหมี (New User) ที่เข้ามาจะมาจาก 3 ช่องทางหลัก คือ จากเครือข่ายสาขาของธนาคาร จากโซเชียลมีเดีย และจากกลุ่ม SCB Easy Buddy ในสัดส่วนที่เท่ากันประมาณ 30%
รวมทั้งมีแผนขยายพื้นที่จาก กทม. ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจาก ความเป็นเมืองของผู้เกษียณอายุ (Retire City) ทำให้มีกลุ่มสูงวัยในพื้นที่ค่อนข้างมาก รวมทั้งการมีฐานผู้ใช้มือถือที่มากพอสำหรับการเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายต่อไป
“อนิสา ชูจันทร์” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Customer Experience และ “ลินดา หวังวานิช” Customer Activation Manager / Customer Experience Division ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โปรเจคดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนก.ย.2560 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนรวม 20 คน โดยภายในไตรมาส1 ปี 2561 ตั้งเป้าจะเพิ่มให้ได้ถึง 50 คน รวมทั้งมีแผนขยายพื้นที่จาก กทม. ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจาก ความเป็นเมืองผู้เกษียณ ทำให้มีกลุ่มสูงวัยในพื้นที่ค่อนข้างมาก รวมทั้งการมีฐาน Mobile User ที่มากพอสำหรับการเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายต่อไป
ดังนั้น จากเป้าหมายสำคัญในการสื่อสารกับกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้พี่ๆ Senior Buddy จะไปประจำอยู่ในสาขาที่มีลูกค้ากลุ่มนี้มาก เช่น รพ.ศิริราช , รพ.รามา , รพ.ราชวิถี , ปากเกร็ด เป็นต้น
โดยแต่ละท่านจะสลับไปตามสาขาต่างๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการเดินทาง โดยทำงานสัปดาห์ละ 3 วัน และได้ค่าตอบแทนในอัตราที่เท่ากันวันละ 800 บาท โดยทางธนาคารจะอบรมพร้อมทดลองการใช้โปรแกรมเป็นเวลา 1 วัน ก่อนจะลงพื้นที่ทำงานจริง
ทั้งนี้ จากความสำเร็จในโครงการนี้ แบงก์ต้องการรับผู้สูงวัยที่สามารถใช้งานสมาร์ทโฟนเบื้องต้นได้ เช่น ใช้เฟสบุ๊ค ใช้ไลน์ได้ เพื่อเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในทีมผ่านโครงการ“สูงวัยหัวใจดิจิทัล”
มาในฟากธนาคารกสิกรไทย “พัชร สมะลาภา” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บอกว่าสำหรับภาพรวมของแอพ K PLUS คาดว่าปี 2560 จะมีจำนวนผู้ใช้ “ราว8ล้านราย” และมีจำนวนการทำธุรกรรมทั้งรายการทางการเงิน (Financial) และไม่ใช่การเงิน (Non-Financial) อยู่ที่ 3,300 ล้านรายการ จากตัวเลขเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ใช้จำนวน 7.1ล้านราย เป็นอัตราการเติบโตของฐานลูกค้า60% เมื่อเทียบกับปีก่อนขณะที่จำนวนการทำธุรกรรมรวมช่วง ม.ค.-พ.ย. รวมทั้งรายการ Financial และ Non-Financial อยู่ที่ราว2,700 ล้านรายการ
โดยปี 2561 มีเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS จำนวน “ราว11 ล้านราย” เติบโต 44% เทียบกับปีก่อน สะท้อนผ่านการเติบโตของมากกว่า “เท่าตัว”ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากจำนวนผู้ใช้ 2.6 ล้านรายในปี 2558 มาเป็น 4.6 ล้านราย ในปี 2559
สำหรับแผนงานและเป้าหมายของการพัฒนาแอพ รวมทั้งการทำการตลาดออนไลน์ต่างๆ เพื่อครองความเป็น “เบอร์ 1”ในปี 2561 อย่างต่อเนื่อง ด้วย “กลยุทธ์ QR Payment” ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งกระจายความครอบคลุมของร้านค้ารายย่อยที่เพื่อให้บริการ QR Code รวมถึงมอบสิทธิประโยชน์ที่กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ K PLUS กับ K PLUS SHOP
ตลอดจนการนำข้อมูลจาก Big Data เหล่านี้ที่ได้ผ่านการใช้จ่ายด้วย QR Code มาเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์เพื่อใช้วิเคราะห์ว่าพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มลูกค้า และนำมาใช้พัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสินค้าและบริการ ตลอดจนส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย
นอกจากนี้ ขยายเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อทำให้จุดให้บริการรับชำระเงินด้วย QR Code ครอบคลุม อาทิ ร่วมมือกับบมจ.ปตท. หรือ PTT ในโครงการ QR Code Paymentโดยธนาคารจะเริ่มนำร่องด้วยระบบรับชำระเงินที่พัฒนาเทคโนโลยี Dynamic QR Code ให้เชื่อมต่อกับเครื่อง EDC ที่เชื่อมโยงระบบการขาย (Point of Sales: POS) ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการในร้านค้าปลีกที่อยู่ภายใต้เครือ ปตท. สามารถชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านโมบายแบงกิ้งได้ทุกธนาคาร
โดยร้านค้าปลีกที่สามารถให้บริการคิวอาร์โค้ด ได้แก่ ร้านคาเฟ่อเมซอน เท็กซัส ชิคเก้นแด๊ดดี้โด ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ ศูนย์บริการยานยนต์ฟิตออโต้ และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ที่มีสาขาทั่วประเทศรวมกว่า 2,200 สาขา
“เราเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ ปตท. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะทำให้การให้บริการใช้จ่ายด้วย QR Code ผ่านโมบาย แบงกิ้ง ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การทดลองใช้ให้เกิดความคุ้นเคย และแปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมการใช้จ่ายด้วย QR Code ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเครื่องดื่ม ค่าอาหาร เป็นต้น และผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเหมือนหลายประเทศชั้นนำทั่วโลก”
-------------------------
“สะดวก-รวดเร็ว”
หัวใจ“โมบายล์ แบงกกิ้ง”
“แป๋ว-อารีรัตน์ บุญวิลัย”แม่บ้านเบเกอร์รี่ อายุ 52 ปี บอกว่า รู้จักโครงการ SCB Easy Senior Buddy ของ SCB ผ่านทางช่องทาง LINE ก่อนจะสนใจและเดินเข้ามาสมัครเป็นซีเนียร์บัดดี้ เธอ เล่าว่า ทางธนาคารมีการอบรมพร้อมทดลองการใช้แอพเป็นเวลา 1 วัน ก่อนจะลงพื้นที่ทำงานจริงในความรู้สึกส่วนตัวจากคนที่ไม่เคยใช้แอพมาก่อน และการเข้ามาเรียนรู้การใช้โปรแกรมทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของระบบความปลอดภัย กล้าใช้ธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าว และจากโอกาสในการแนะนำลูกค้าของ SCB ให้แอพพลิเคชั่น กระแสตอบรับลูกค้าส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นแอพที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งหากแอพซับซ้อนคงต้องใช้เวลามากกว่านี้
ยกตัวอย่าง ลูกค้าบางรายมาแบงก์แค่จ่ายบิลค่าบัตรเครดิต หรือ อัพบุ๊คแบงก์ แต่ต้องใช้เวลารอคิวนานไม่ต่ำกว่า 15-30 นาที (ในช่วงลูกค้ามากๆ) แต่พอเราเข้าไปแนะนำสอนการชำระค่าบริการต่างๆ ผ่านทาง Mobile Banking พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่สนใจอยากที่จะเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนมาคอยแนะนำการใช้
“อ้อย-ผกาวรรณ อ่อนเจริญ”อดีตเลขาฯ ผู้บริหาร “อายุ 58 ปี” บอกว่า เมื่อมีโอกาสใช้แอพ Mobile Banking รู้สึกว่า สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องรอนาน และเมื่อได้มาเป็นซีเนียร์บัดดี้ ก็พบว่าลูกค้าแฮปปี้กับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าว สะท้อนผ่านลูกค้ากลับมาใหม่ด้วยการชักชวนเพื่อนๆ วัยเดียวกันมาด้วย
สำหรับโครงการนี้เปรียบเหมือนด่านแรกในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่มาใช้บริการแต่ละสาขา ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น แต่หากปัญหาซับซ้อนมากขึ้นซีเนียร์บัดดี้จะส่งต่อปัญหาดังกล่าวไปให้พนักงานช่วย