ดับเบิ้ลพีคุยชาวบ้าน ลุยสร้างนิคมฯบลูเทค ซิตี้
ดับเบิ้ลพี ลุยโครงการก่อสร้างนิคมฯ บลูเทค ซิตี้ พร้อมเคลียร์ปัญหาทำความเข้าใจชาวบ้านละแวกนั้นชัดเจน
บริษัทดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด เดินหน้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ตามกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ ที่อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลเขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีชาวบ้านในพื้นที่รอบรัศมี 5 กิโลเมตรฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกง รวม 9 ตำบลเข้าร่วมรวมกว่า 480 คน
การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ พบว่าไม่มีชาวบ้านนำเสนอข้อมูลคัดค้านการก่อตั้งนิคมฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทดับเบิ้ลพีฯ ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว และจะไม่เปิดรับอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีพิษเข้ามาในพื้นที่ และยังเสนอผลประโยชน์ที่จะเกิดต่อคนในชุมชนดั้งเดิม และคนใน จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมเสนอข้อคิดเห็นบางรายที่มีความกังวลในบางประการ เช่น ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเดิมพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทุ่งรับน้ำและการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำบางปะกง การจัดการปัญหาด้านการจราจรที่อาจหนาแน่นจนส่งผลกระทบต่อวิถีประชาชนดั้งเดิม ซึ่งบริษัทผู้ดำเนินโครงการได้รับปากว่าจะนำไปศึกษาและจะนำกลับมาเสนอในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไปช่วงกลางปีหน้า
หลังการประชุม น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารโครงการ บริษัทดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด และนายวิวัฒน์ โฆษิตสกุล ที่ปรึกษาผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทค ซิตี้ ยังได้ตอบคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจนมีการร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และยังมีทนายความนักเคลื่อนไหวชื่อดัง ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลางถึงเรื่องดังกล่าว ว่า การเยียวยาประชาชนที่เคยทำกินอยู่ในพื้นที่ได้ดำเนินการจนเป็นที่พึงพอใจของประชาชนทุกรายแล้ว
ทั้งนี้พบว่า มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพียง 14 ครัวเรือนเท่านั้น ส่วนผู้ที่เคยลงชื่อร้องเรียนไว้กว่า 30 ราย เป็นบุคคลนอกพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้อง และไม่เคยเข้ามาทำกินในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้เข้าเจรจาจนมีการยินยอมถอนชื่อแจ้งความร้องเรียนไปหมดแล้ว
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ทั้ง 14 รายนั้น บริษัทฯ ได้เสนอแนวทางเยียวยาด้านที่อยู่อาศัยด้วยการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้และให้สิทธิในการเช่าอยู่อาศัยบนเนื้อที่ 50 ตารางวา ในอัตราค่าเช่าที่ถูก เพียงวันละ 10 บาท ซึ่งเงินค่าเช่าจะนำไปใช้จ่ายในเรื่องสาธารณูปโภคภายในโครงการหมู่บ้านของชาวบ้านต่อไป