แถลงจุดยืน 'ปชป.' ไม่สนับสนุน 'พล.อ.ประยุทธ์'
"อภิสิทธิ์" นำคณะกก.บห.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนทางการเมือง ไม่สนับสนุน "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นนายกฯต่อ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกรรมการบริหารพรรค แถลงจุดยืนทางการเมืองของพรรค ประกาศจุดยืนทางการเมืองที่จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะการสืบทอดอำนาจ สร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
วันที่ 11 มี.ค. 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) อาทิ นายกรณ์ จาติกวนิชย์, นายเกียรติ สิทธีอมร, นายพนิช วิกิตเศรษฐ์, นายสุทัศน์ เงินหมื่น, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และนายธนา ชีรวินิจ แถลงจุดยืนของพรรค โดย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตามที่ตนได้ประกาศจุดยืนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะการสืบทอดอำนาจจะทำให้เป็นความขัดแย้งนั้น หลายฝ่ายตั้งคำถามซึ่งก็ขอชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ประการแรกยืนยันเป็นการพูดในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรค ดังนั้น จึงไม่ควรมีคำถามว่าเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่ เพราะหากดูตามข้อบังคับพรรคและกลไกการทำงานย่อมต้องมีมติพรรค พรรคไม่อาจมีจุดยืนที่ขัดกับอุดมการณ์ของตัวเองที่ประกาศไว้เมื่อ 70 ปีได้ ซึ่งหากสิ่งที่ประกาศทำให้เสียคะแนน ผมยินดี เพราะคือ ความเป็นธรรมสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งสำคัญกว่า
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า ประชาชนมี 3 ทางเลือก คือ ปชป., พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดในการเป็นรัฐบาลของ ปชป. นั้น ขณะนี้เรามุ่งสู่การเป็นแกนนำรัฐบาล ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลบนพื้นฐานของอุดมการณ์และนโยบาย และสิ่งที่แสดงจุดยืนออกไป 2 ครั้งชัดเจน ว่า เราจะต้องจัดตั้งรัฐบาลแบบไม่มีทุจริตและไม่สืบทอดอำนาจ
"ทราบดีว่า การประกาศของผมมีปฏิกิริยาจากทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งกลับไปสู่การสร้างวาทกรรมเดิม ๆ คือ หากไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ หมายถึง ต้องจับมือกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องขออนุญาตให้ทุกคนย้อนหลังดู เคยพูดแล้วว่า ตราบเท่าที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถออกมาจากการครอบงำของกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีผลประโยชน์กับประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจร่วมงานด้วยได้ ที่สำคัญ จนถึงทุกวันนี้ไม่มีสัญญาการเปลี่ยนแปลงทำงานทางการเมืองของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายนี้ อีกด้านหนึ่งก็ไม่ตกหลุมพรางของเครือข่ายของระบอบทักษิณที่พยายามบีบเพื่อให้เราไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เขาถามว่าจะร่วมกับ พปชร. หรือไม่ ขอตอบให้ชัดอีกครั้ง ว่า หาก พปชร. ต้องการสืบทอดอำนาจ ปชป. ไม่ร่วมด้วย"
หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า มีคนกังวลว่า หากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จะเกิดความขัดแย้งวุ่นวายหรือไม่ เห็นว่าทุกคนมีบทเรียน รวมถึงตนก็ได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งที่ผ่านมา ว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดการกรณีจะก่อให้เกิดความวุ่นวายอย่างไร นอกจากนั้น ยังมั่นใจว่า ผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับความมั่นคง มีความพร้อมที่จะช่วยทำงานให้การรักษาความสงบเรียบร้อยลุล่วงไปได้ด้วยดี การผูกความสงบเรียบร้อยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ทุกคนเข้าใจก่อน ว่าหลังการเลือกตั้งจะไม่มีมาตรา 44 แล้ว ไม่สามารถใช้เครื่องมือในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาได้แล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี
"ความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคตที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุด คือ การสืบทอดอำนาจ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงกลายเป็นศูนย์กลางเงื่อนไขความขัดแย้งที่ง่ายที่สุดหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องบริหารจัดการประเทศต่อไป ที่ต้องเอาอยู่ให้ได้ คือ ฝ่ายการเมือง วันนี้น่าเป็นห่วง เพราะเส้นทางการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปของ พล.อ.ประยุทธ์ พึ่งพาอยู่กับนักการเมือง เห็นชัดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในเส้นทางที่ตัวเองต้องการได้ ทั้งกรณี สปก.ทองคำ นโยบายข้าว เคยบอกว่า ไม่ควรทำ ทำไม่ได้ แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านั้น ที่ยืนยันจะทำหลายอย่างที่ขัดกับความเชื่อและจุดยืนของท่าน"
ถามว่า หากพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคพลังประชารัฐ ได้เป็นรัฐบาล ตำแหน่งในสภาของ ปชป. คืออะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่สนับสนุนคนโกงนำประเทศ และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ซึ่งแน่นอนว่า ปชป. ก็ไม่ร่วมเป็นฝ่ายค้าน