ผ่าแผนเจ้าสัววัยใส ปั้นเวลท์(ภาคต่อ)ไทยซัมมิท
เมื่อน้องชายคนเล็ก “บดินทร์ธร” ในวัย 25 ปี ต้องรับบทเจ้าสัววัยใส กุมบังเหียนธุรกิจอสังหาฯปั้นความมั่งคั่งสินทรัพย์หมื่นล.ให้ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ไปฟังดีกรีนักบริหารเลือดใหม่ สร้างอีกขาธุรกิจ บริหารเสี่ยงอาณาจักรชิ้นส่วนยานยนต์ในวันที่กำลังถูกดิสรัป
จากสินทรัพย์ที่ดินประจำตระกูลผืนแรก สนามกอล์ฟ พัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท” ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กลายมาเป็นที่ดินหลายผืนที่อยู่ในมือในเวลาต่อมา นั่นเพราะสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แม่ของลูกๆ ทั้ง 5 คน คือ แลนด์ลอร์ดตัวยง..!!
จนเมื่อปี 2555 ได้ก่อตั้ง บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ ด้วยทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเข้าไปบริหารพอร์ตที่ดิน-สินทรัพย์สะสมของตระกูล ไปพร้อมกับการเดินหน้าซื้อที่ดินผืนใหม่ เข้าสู่ธุรกิจพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว
ระยะแรกมี “สกุลธร” ลูกชายอีกคนของสมพร กุมบังเหียนธุรกิจอสังหาฯ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ “บดินทร์ธร” น้องชายคนเล็ก ในวัย 25 ปี เข้ามาบริหารแทนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยขยับสกุลธร ขึ้นไปนั่งเป็นอีกหนึ่งผู้บริหารระดับสูงของไทยซัมมิท หลังผู้พี่ “ธนาธร” อดีตรองประธานกรรมการบริหาร ลงสนามการเมืองเต็มตัว
จากน้องใหม่อสังหาริมทรัพย์ “เรียล แอสเสท” ใช้เวลา 7 ปีพัฒนาโครงการสะสม 12 โครงการมูลค่า 17,000 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียม 3 อาคาร และโครงการแนวราบ 2-3 โครงการ เพื่อสร้างการรับรู้รายได้ต่อเนื่อง ในหลากหลายเซ็กเมนท์ ผ่านแบรนด์ คือ ลาวีค (LAVIQ) โครงการลักชัวรี ตารางเมตรละ 2.6 แสนล้านบาท ราคา 8.99 ล้านบาทต่อยูนิต, เอสทีค (AESTIQ) โครงการลักชัวรี ราคา 8.99 ล้านบาท, และเดอะ เซนส์ (The Sense) โครงการ แนวราบ ราคา 4-6 ล้านบาท และโครงการวิรัณยา แถวกิ่งแก้ว เป็นต้น
บดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดใจว่า แม้จะรู้ตัวว่าวันหนึ่งจะต้องเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว แต่ยอมรับว่า ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วนัก!!
"ตอนแรกผมคิดจะหาประสบการณ์ทำงานที่อื่นอีกสัก 3-4 ปี ไม่คิดว่าจะต้องขึ้นมาดูแลงานที่บ้าน รวดเร็วขนาดนี้”
น้องเล็กวัย 25 ปีกับหน้าที่รับผิดชอบที่ดูจะใหญ่เกินตัว ทว่าคุณวุฒิ(จบปริญญาตรี สคูลออฟ โอเรียลทอล แอนด์ แอฟริกัน สตัดดี้ ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทสาขาด้านการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ จาก ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิคส์ )ประกอบกับการบ่มเพาะฝึกปรือวิทยายุทธ์จากแม่ และพี่ชายมาตลอดตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เขาพร้อม กล้า ที่เรียนรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรและตลาดอสังหาฯ
“ทำงานที่เรียลแอสเสท แม้จะเร็วแต่ก็ได้เรียนรู้รอบด้านเพิ่มขึ้นเป็นงานที่ตื่นเต้นน่าสนใจ เพราะว่าได้ทำหลายอย่าง เราได้ออกไปเซอร์เวย์ ที่ดินทั้งของเราและคู่แข่ง ดูโครงการ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ไปดูงานต่างประเทศ คุยกับคนหลากหลาย และจากนั้นได้ทำงานบริหารวิเคราะห์ต้นทุนโครงการ เป็นสิ่งที่สนุกไม่ได้นั่งโต๊ะอย่างเดียว ไม่เบื่อ” เขาเล่าถึงจุดเด่นของวัยใสที่เต็มไปด้วยพลัง เมื่อมากุมบังเหียนซีอีโอ
พร้อมย้ำความเชื่อมั่นว่า ตำแหน่งซีอีโอ เป็นงานท้าทาย แต่ไม่ยากกว่าเกินกว่าความสามารถ เพราะเทคนิคการบริหารจัดการเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดทั้งในห้องเรียน และประสบการณ์ที่ตามแม่และพี่ชายฝึกงานในกลุ่มธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญที่ต้องเรียนรู้ให้รวดเร็วคือ ภาวะผู้นำ และการตัดสินใจที่เฉียบขาด นี่คืออำนาจหน้าที่ซึ่งต้องแบกรับทั้งองค์กรแบบโตเกินวัย โดยเขาระบุว่า
ภารกิจที่ต้องทำให้ได้คือ การดันธุรกิจอสังหาฯของตระกูลเพื่อสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) มั่นคงในระยะยาว เดินสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปี 2565 และไต่ระดับท็อป 10 ในอสังหาฯในปี 2567
เจ้าตัวยังบอกด้วยว่า สาเหตุที่ธุรกิจต้องเดินหน้าพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ให้กับธุรกิจของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ เพราะไทยซัมมิท ผลิตอะไหล่รถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก มีพอร์ตกว่า 8-9 หมื่นล้านบาท และกำไรปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท บนเป้าหมายยอดขาย แสนล้านภายใน 4-5 ปี กลับยังมีความเสี่ยง เพราะไม่แน่ว่า หากตลาดของทั้งโลกเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Car) นั่นหมายถึง กำลังการผลิตและความต้องการใช้ชิ้นส่วนจะลดลง
อสังหาฯ จึงเป็นแนวทางสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยมีความเสี่ยงน้อยกว่า !!
“การพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ สามารถปรับให้เข้ากับเทรนด์ใหม่ ขณะที่การเพิ่มมูลค่าพอร์ตธุรกิจ ต้องมีทั้งการลงทุนและเก็บสะสมที่ดิน สินทรัพย์ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า ผลตอบแทนจะคืนกลับสูงขึ้น"
เขายังบอกด้วยว่า ที่ดินที่ผู้เป็นแม่ซื้อสะสมส่วนใหญ่อยู่ในโซนตะวันออกซึ่งถือเป็นการ “ดักโอกาส” ของการพัฒนา รับกับบิ๊กโปรเจคของรัฐในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC)
อีกสิ่งที่เขาต้องทำ คือการรวบพอร์ตทรัพย์สิน ที่มีของตระกูลให้มาอยู่ภายใต้ร่มเงาของบริษัทแห่งนี้
“ที่ผ่านแม่ซื้อที่ดินไว้ อยู่กระจัดกระจายและยังไม่ได้มีวางระบบอย่างชัดเจน หากดึงทุกสินทรัพย์มาอยู่ในพอร์ต เรียลแอสเสท ประเมินว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท มาจากตึกสำนักงานไทยซัมมิท เพชรบุรี มูลค่าราว 3,000 ล้านบาท, สำนักงานที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มูลค่า 60 ล้านปอนด์ (ราว 2,400 ล้านบาท) ซึ่งเป็นส่วนที่เข้ามาเพิ่มการพัฒนาอสังหาฯที่มีมูลค่ารวม 8,000-9,000 ล้านบาท”
ในขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าปักธงเป็นดีเวลลอปเปอร์เต็มตัว พัฒนาโครงการแนวสูง หรือคอนโดมิเนียมปีละไม่ต่ำกว่า 1-2 โครงการ และบ้านเดี่ยว เพื่อสะสมยอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ตามเป้าหมายก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี 2565 กลุ่มธุรกิจคาดหวังมีแบ็คล็อกรอโอนมูลค่า 7,000 ล้านบาท และมียอดขายที่โอนแล้วมูลค่า 5,000 ล้านบาท
“เราเน้นพัฒนาโครงการแนวสูงปีละ1-2 โครงการ และแนวราบอีก 1 โครงการ ปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสะสมแบ็กล็อก ซึ่งมีที่ดินสำหรับรองรับโครงการแนวราบในปี 2562ซึ่งมีที่ดินสะสมมากกว่า 200 ไร่ แบ่งเป็น 2 แปลงคือ ที่ดินลำลูกกา คลอง5 เนื้อที่ 86 ไร่ และย่านกิ่งแก้ว จำนวน 180 ไร่ "
บดินทร์ธร เล่าถึงผลงานอีกขาของตำแหน่งผู้นำองค์กร คือ การเจรจา ปิดดีลธุรกิจ ซึ่งเขาเดินหน้าโครงการทันทีที่รับไม้ต่อจากพี่ชาย(สกุลธร) โดยการมองหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน เริ่มต้นจากการเข้าไปดึงกลุ่มธุรกิจสิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการติดอันดับท็อป 3 อสังหาฯในสิงคโปร์ เข้ามาร่วมทุนพัฒนาโครงการในประเทศ หลังจากเจรจามาสักพักดีลยังไม่ลงตัว
ในเวลาต่อมาจึงข้ามไปดีลกับทุนระดับกลางๆ จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาพัฒนาโครงการที่เพิ่งปิดดีลซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก-พระราม9 เนื้อที่ 4 ไร่ มูลค่า 7 แสนบาทต่อตร.ว.เพื่อเตรียมขึ้นพัฒนาคอนโดใจกลางเมืองมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท ราคาขายไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนบาทต่อตร.ม. คาดว่าจะลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการในสิ้นปีนี้ และเปิดตัวในปี 2563 ซึ่งนี่เป็นโครงการแรกที่จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการต่อไปในระยะยาว
**เดินหน้าปั้น2ธุรกิจใหม่
บดินทร์ธร ยังเล่าถึงแนวคิดของการพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ไม่หยุดเพียงซื้อที่ดินมาพัฒนาอสังหาฯ และการนำสินทรัพย์ของธุรกิจเข้ามาไว้ในพอร์ต แต่ยังข้ามไปขยายธุรกิจใหม่ที่ในเครือไม่เคยทำแต่สอดคล้องกันกับเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่เช่น พัฒนาคลังสินค้า (Warehouse) ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตของเทรนด์อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) รวมไปถึงเทรนด์ธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น
รวมไปถึงการสร้างสถานที่ออกกำลังกาย (Fitness Center) ที่กระจายอยู่ทุกมุมตามโซนรอบๆ กรุงเทพฯ เป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่มองหาพื้นที่ทำกิจกรรมดูแลสุขภาพ สอดรับกับเทรนด์สุขภาพ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของเขาที่ชอบและรักการออกกำลังกาย
ทั้ง 2 ธุรกิจใหม่ถือเป็นไอเดียที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาก่อนนำเสนอบอร์ด โดยเขามองว่าที่จะเป็นเอสเคิร์ฟตัวใหม่ในการสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับกลุ่มธุรกิจ ใน 2-3 ปีจากนี้
อีกสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุดยั้งคือการวางรากฐานองค์กรคนรุ่นใหม่ โดยเริ่มต้นจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าเสี่ยง ที่จะทำสิ่งใหม่ และเปิดใจยอมรับการทำงานร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา เริ่มต้นจากการปรับทัศนคติ ของคน ซึ่งโชคดีตรงที่กลุ่มธุรกิจมีพนักงานที่เฉลี่ยอายุยังน้อยเพียง 20 ปีปลายถึง – 30 ปีต้นๆ จึงพร้อมที่จะทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ และวางรากฐานไปร่วมกัน
.....................................................
“กล้าคิด กล้าลุย” ฉีกกฎตลาด
ไตรกีฬา สะท้อน "ซีอีโอ"นักสู้
บดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ระบุถึงสไตล์การบริหารของตัวเองว่า เป็นคนกล้าคิด และทำในสิ่งใหม่ ที่ล้ำลึกฉีกกฎเกณฑ์ในตลาดยังไม่เคยมี เช่น โครงการ เอสทีค ทองหล่อ เป็นรายแรกของธุรกิจอสังหาฯ ที่นำเสนอการบริการรถยนต์ไฟฟ้า เทสลา (Tesla)คันละ 8 ล้านบาท มาเป็นรถยนต์มาแบ่งให้ลูกค้า( Car sharing)ในคอนโดได้ใช้ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดในการคิดสิ่งใหม่เพื่อธุรกิจในอนาคตเสมอ
ความเป็นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่จากตัวตนของบดินทร์ธร ยังถูกถ่ายทอดออกมาในสินค้าที่พัฒนาให้กับลูกค้า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น การนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า(Face Recognition) เพื่อสแกนใบหน้าแสดงตัวตนก่อนเข้าสู่ที่พักอาศัย หรือ การนำโดรนมาบินตรวจสอบการซ่อมบำรุงรักษาในบริเวณบ้าน หรืออาคาร เช่นการตรวจสอบดูแลสนามหญ้า โดยที่ไม่ต้องใช้พนักงานจำนวนมากในการดูแลบำรุงรักษา ช่วยในการบริหารงานของกลุ่มนิติบุคคลในที่พักอาศัย
เขายังระบุว่า การปรับตัวและเรียนรู้ในด้านการบริหารบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด รองลงมาคือเรื่องบริหารต้นทุนการก่อสร้าง และขั้นตอนการบริหารที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ทำให้ยังทำงานด้วยความสนุกสนานคือรักความท้าทาย อยากมีผลงานสร้างมรดก ให้ตัวเอง และตระกูล
“เทคนิคการบริหารไม่ยาก เพราะมีในตำรา และเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นาน แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้จากหน้าที่การทำงาน (On the job training) เป็นซอฟต์สกิล ที่ไม่มีสอน คือการบริหารคน ผมเป็นคนชอบคุยกับคนอยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งเนเจอร์ของผมเข้ากับคนได้ง่าย หากเพิ่มประสบการณ์บริหารก็ทำให้ช่วยเติมพัฒนาได้รวดเร็ว”
ขณะที่ไลฟ์สไตล์นอกลู่การบริหาร “บดินทร์ธร” บอกว่า เขามีชีวิตเหมือนวัยรุ่นผู้ชายทั่วไปชอบความสนุกสนาน ตื่นเต้น รักความท้าทาย กิจกรรมที่โปรดปรานคือ ไตรกีฬา เคยลงแข่งไตรกีฬากับ Pattana Triathlon 201, Pattana Triathlon 2018 นี่คือรายการเล็กๆ จนตามมาอีกหลายโปรแกรม รวมถึงการเข้าร่วมสุดยอดไตรกีฬาระดับโลก อย่าง ไตรกีฬาคอนเหล็ก (Ironman Triathlon) ไตรกีฬารายการใหญ่ระดับโลก ประกอบด้วย ว่ายน้ำ 2.4 ไมล์(3.86 กิโลเมตร), การขี่จักรยาน 112 ไมล์ (180.25 กิโลเมตร) และการวิ่งมาราธอน 26.2 ไมล์ (42.2 กิโลเมตร) ซึ่งเคยเข้าร่วมที่ออสเตรเลีย 2 ครั้ง และ เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวม 4 รายการ
“ผมเข้าร่วมรายการใหญ่ระดับโลก ไอรอนแมน 4 ครั้งและรายการไตรกีฬาเล็กๆ ในประเทศและที่อื่นๆ ประมาณ 4-5 ครั้งต่อปี และยังเล่นไปเรื่อยๆ เขาเล่าถึงแพสชั่นของการทดสอบความอึดของตัวเองผ่านไตรกีฬา”
นี่ไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมว่างสนุกสนาน เพราะคือสร้างไมด์เซ็ท ของการเป็น “ซีอีโอนักสู้” ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ของกีฬาที่ทดสอบความอึด อดทน สภาวะจิตใจ และร่างกายของมนุษย์ เช่นเดียวกันกับวิถีซีอีโอหมื่นล้าน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดีลกับคนหลากหลาย และตัดสินใจบนสถานการณ์กดดันและเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้บริโภคยุคปัจจุบันเปลี่ยนไป จะต้องเป็นซีอีโอ ที่มีความแอคทีฟ มีวิสัยทัศน์ และเป้าหมายชัดเจน
“บริหารธุรกิจเรียล แอสเสท เป็นเวลากว่า 1 ปีกับตำแหน่งซีอีโอ ต้องวางสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว ซึ่งต้องผสมผสานทักษะชีวิตและธุรกิจหลากหลาย รวมถึงไลฟ์สไตล์ส่วนตัว มาพัฒนาต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะแพสชั่นการออกกำลังกาย ก็มาพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้านในที่พักอาศัยคอนโด และบ้าน รวมไปถึงการขยายธุรกิจ”
แม้เขาจะอายุยังน้อย แต่บดินทร์ธร ค่อนข้างมีความกล้า และมั่นใจ เมื่อต้องตัดสินใจบริหารธุรกิจ เพราะถูกโค้ชชิ่งผ่านประสบการณ์ตั้งแต่ยังเล็ก ในการพบเจอผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ ทำให้เขาโตเกินวัย มีความสุขุมเมื่อต้องตัดสินใจ แต่เมื่อถึงช่วงปลดปล่อยพลัง ก็เป็นคนสนุกสนาน พร้อมลุยให้ถึงที่สุด
“ผมถูกสอนมาให้รู้จักการวางตัวกับผู้ใหญ่และวัยเดียวกัน และบทบาทซีอีโอ เพราะเราอยู่ในครอบครัวธุรกิจมาตลอดจึงต้องเข้าในสังคม ในการไปงานเจอลูกค้า หรือเจอพันธมิตร พนักงาน”
เขาเชื่อว่าความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตมากับโลกดิจิทัล ในวัยยังเด็กทำให้เป็นคนที่รู้จักเปิดรับความคิดของผู้บริหารเก่าๆผู้ร่วมงาน พนักงานและผู้ร่วมทุน ที่จะทำให้ได้ผสมผสานมุมมองความคิด สร้างธุรกิจให้เติบโตในยุคดิจิทัล