2นิคมฯเฮผังเมืองใหม่
สกพอ.เผยปรับพื้นที่นิคมฯอมตะซิตี้ ส่วนต่อขยาย 6 พันไร่เป็นสีม่วง ชี้ยังต้องรอพิจารณาอีไอเอก่อนเริ่มพัฒนา เพิ่มประกาศแนบท้ายให้ นิคมฯบลูเทค 2 พันไร่ ตั้งโรงงานไม่ก่อมลพิษได้ “คณิศ” ตั้งเป้าอีอีซีเป็นฐานการลงทุนใหม่ของไทย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.และกรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างร่างแผนผังการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้มีการปรับปรุงสัดส่วนการใช้พื้นที่ใหม่
ทั้งนี้ เขตชุมชนเมืองผังเมืองเดิมมีพื้นที่ 916,183 ไร่ ปรับเพิ่มเป็น 1,354,451 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 438,268 ไร่ เขตอุตสาหกรรม เดิม 283,561 ไร่ เพิ่มเป็น 406,492 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 122,931 ไร่ เขตเกษตรกรรม เดิม 5,619,633 ไร่ ลดลงเหลือ 5,211,154 ไร่ หรือลดลง 408,479 ไร่ ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ คงเดิมที่ 838,245 ไร่ ซึ่งสัดส่วนเหล่านี้เพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของอีอีซีในอนาคต
“รัฐบาลจะใช้ อีอีซีสร้างฐานการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเปิดประตูเศรษฐกิจและระดมการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงเพื่อสร้างกำลังผลักดันประเทศ ขณะนี้ทิศทางไทยแลนด์ 4.0 มีความมั่นคงพร้อมที่จะนำคนไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางมีรายได้ที่ยั่งยืน มีความอยู่ดี กินดี รายได้ที่สูงขึ้นและที่สำคัญ คือ ให้ไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของเอเชียอีกครั้ง”
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า ได้รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ไปแล้ว 19 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยครั้งล่าสุดมีกำหนดจัดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา แต่ยกเลิกเพราะมีปัญหาในการจัดเตรียมข้อมูล
สำหรับ ร่างแผนผังการพัฒนาพื้นที่อีอีซีฉบับนี้ คาดว่าเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาเดือน มิ.ย.นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ให้ทันกำหนดวันที่ 9 ส.ค. 2562 โดยได้ปรับผังเล็กน้อยในส่วนที่ชาวบ้านเสนอ เช่น พื้นที่พัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมที่ใกล้แม่น้ำจะปรับให้ถอยห่างจากริมแม่น้ำ
รวมทั้งจะกำหนดพื้นที่ สปก.ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรเข้าไปดำเนินการ แต่หากอนาคตรูปแบบการใช้พื้นที่เปลี่ยนไปจะมีช่องทาง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาตรา 36 เปิดช่องให้ปรับไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรได้ในอนาคต ส่วนพื้นที่อ่อนไหว เช่น พื้นที่ผังสีขาวทแยงเขียว หรือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ก็จะคงอยู่เหมือนเดิม
ปรับผังสีม่วงนิคมฯอมตะ
สำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง (โครงการ 2) 6,000 ไร่ จะปรับจากสีเขียวเป็นสีม่วงสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการคืนสิทธิเดิมให้ เนื่องจากก่อนที่จะมีการกำหนดผังเมืองเดิมอมตะได้รับอนุญาตตั้งนิคมอุตสาหกรรมในส่วนนี้แล้ว แต่ภายหลังเกิดข้อผิดพลาดผังเมืองได้ประกาศเป็นพื้นที่สีเขียวเป็นการรอนสิทธิของเอกชน
ดังนั้นในการจัดทำผังใหม่นี้ จึงปรับคืนสิทธิให้ดังเดิม ส่วนข้อเป็นห่วงของประชาชนในเรื่องของการสร้างนิคมฯที่จะขวางทางน้ำไหล ในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างนิคมฯ จะมาข้อกำหนดชัดเจนให้นิคมฯต้องออกแบบก่อก่อสร้างไม่ไปขัดขวางทางน้ำเดิม ต้องให้น้ำที่ไหลผ่านมีปริมาณเท่าเดิม โดยในขั้นตอนจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภาครัฐและประชาชนต้องตรวจสอบเรื่องนี้เข้มงวดเพื่อไม่ขวางทางน้ำ และทำให้น้ำไหลผ่านได้สะดวกขึ้น
รอ สผ.พิจารณาอีไอเอ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สกพอ.เคยออกมาชี้แจงกรณีการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (โครงการ 2) โดยโครงการนี้ได้ประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้ว และได้ดำเนินงานสอดคล้องกับคู่มือจัดตั้งเขตส่งเสริมทุกประการ รวมทั้งได้จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมก่อนที่ผังเมืองรวมประกาศบังคับใช้
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาอมตะได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ของผังเมืองต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง โดนมีการเสนอแก้ไขสีของผังเมืองตามขั้นตอน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน รวมทั้งอมตะได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา ซึ่ง สผ.จะพิจารณาหลังจากมีการแก้ไขสีผังเมืองแล้ว และเมื่อได้รับอนุมัติอีไอเอจึงจะพัฒนาโครงการได้
เปิดทางลงทุนนิคมบลูเทค
ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ พื้นที่ 2,000 ไร่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีแนวโน้มที่จะไม่ปรับผังสีจากสีเขียวเป็นสีม่วง แต่จะปรับประกาศแนบท้ายมีข้อกำหนดใหม่ยกเว้นให้อุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษสามารถตั้งได้ รวมทั้งยังกำหนดมาตรการข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมาก และจะต้องมีระยะถอยร่นให้ห่างจากลำน้ำตามที่กำหนด ซึ่งอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ จะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมไม่มีมลพิษและทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชุมชนใน จ.ฉะเชิงเทราออกมาค้านค้านการตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา สกพอ.เคยออกมาชี้แจงสถานะของโครงการบลูเทค ซิตี้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด
ชง กพอ.เคาะไอซีดีฉะเชิงเทรา
สำหรับการตั้งสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ในผังเมืองอีอีซีนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับ กพอ.จะตัดสินว่าจะต้องมีหรือไม่ โดยเบื้องต้น สกพอ.มีการประเมินว่าไม่ต้องทำก็ได้ และคาดว่า กพอ.มีแนวโน้มที่จะพิจารณาไม่ตั้งไอซีดีในอีอีซี เพราะในพื้นที่นี้การคมนาคมสะดวกอยู่แล้ว ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ไอซีดีและจะไม่กระทบต่อโครงการอีอีซี
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อรายงานฉบับสมบูรณ์ไอซีดีฉะเชิงเทรา แต่ได้รับการคัดค้านจากชุมชนในพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้มาเข้าร่วม 200 คน ซึ่งเวทีนี้ได้ยุติลงก่อนที่จะถึงช่วงรับฟังความเห็น เพราะมีกลุ่มที่อ้างว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้เข้ามาประท้วง