หอค้าฯชง 'สระแก้ว' เชื่อมอีอีซี

หอค้าฯชง 'สระแก้ว' เชื่อมอีอีซี

หอการค้าสระแก้ว แนะรัฐปรับผังเมืองเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม ขยายเขตอีอีซีคลุมเขตเศรษฐกิจสระแก้ว หวังดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่ หนุนรัฐเปิดช่องใช้แรงงานกัมพูชา ป้อนโรงงานไฮเทคอีอีซี เสนอเพิ่มรถไฟสปรินเตอร์หนุนท่องเที่ยวเพิ่มอีก 30%

นายสุรวุฒิ วงษ์สำราญ รองประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จ.สระแก้วมีศักยภาพที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้มาก ทั้งในเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยจ.สระแก้วเหมาะกับการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมไฮเทคในอีอีซี 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา)
ทั้งนี้ รัฐบาลเปิดทางให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศกัมพูชาเข้ามาทำงานใน จ.สระแก้ว ได้เพียงแต่ทำหนังสือผ่านแดนที่จุดผ่านแดน และจากนั้นนายจ้างจะนำไปตรวจโรคและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 3,000 บาทต่อคน ทำงานในไทยได้ 2 ปี แต่ต้องไปต่ออายุหนังสือผ่านแดนทุกเดือน เพื่อยืนยันว่ายังทำงานใน จ.สระแก้วอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่าแรงงานต่างด้าวทั่วไปที่ผ่านเอ็มโอยูที่จะมีค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ราคาที่ดินยังต่ำกว่าในอีอีซีมาก

เสนอแก้ผังเมืองสระแก้ว

นอกจากนี้ ใน จ.สระแก้ว ยังติดปัญหาเรื่องผังเมือง ที่ในปัจจุบันกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมสีม่วงอยู่น้อยมากไม่ถึง 1,000 ไร่ รวมทั้งพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.สระแก้ว ก็มีราคาค่าเช่าสูงถึง 1.6 แสนบาทต่อไร่ต่อปี หากเช่า 10 ปี ก็ต้องเสียถึง 1.6 ล้านบาท ซึ่งหากซื้อที่ดินเองก็จะถูกกว่า และยังเป็นเจ้าของที่ดินเองนำไปค้ำประกันเงินกู้ได้ แต่ติดปัญหาผังเมืองไม่สามารถสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้ จึงทำให้ไม่เกิดการลงทุนเท่าที่ควร

“ในพื้นที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แม้จะติดกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็เป็นที่ดินที่ไม่มีโฉนด ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าไปซื้อที่ดินลงทุนได้ และหากจะให้เข้าไปอยู่ในนิคมฯ ก็มีค่าเช่าที่ดินสูงเกินไป ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วเดินหน้าไปได้ช้า ซึ่งรัฐบาลควรกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษขยายไปในพื้นที่ที่มีโฉนดกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมชัดเจน ก็จะช่วยให้เกิดการลงทุนได้อีกมาก”

หอค้าฯชง \'สระแก้ว\' เชื่อมอีอีซี

หวังเชื่อมอีอีซี-กัมพูชา

นายสุรวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลควรจะขยายพื้นที่อีอีซีให้ครอบคลุม จ.สระแก้ว ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวคิดนี้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และหาก จ.สระแก้ว อยู่ในพื้นที่อีอีซีจะเป็นการเชื่อมโยงศักยภาพของ อีอีซี กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขยายเส้นทางการค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และเชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมของประเทศกัมพูชา

รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยที่มีเงินทุนไม่มากเข้าไปซื้อที่ดินใน จ.สระแก้วที่มีราคาถูกกว่า ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมป้อนให้กับโรงงานในอีอีซี ซึ่งจะยกระดับเอสเอ็มอีเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จะช่วยให้เอสเอ็มอีเหล่านี้พัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว

โครงสร้างพื้นฐานพร้อม

ส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของ จ.สระแก้ว ก็มีความพร้อมสูง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้ามาขยายระบบน้ำประปาลงทุนไปกว่า 900 ล้านบาท สามารถจ่ายน้ำได้ถึงปีละ 7-8 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับระบบน้ำประปาเดิมอีก 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่อรัญประเทศใช้น้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มีกำลังผลิตน้ำประปารองรับการขยายตัวของชุมชน และภาคอุตสาหกรรมได้อีกมาก

“รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากนี้ ควรจะสานต่อโครงการอีอีซีอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้อีกมาก และควรจะขยายอีอีซีไปจังหวัดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ จ.สระแก้ว เพราะราคาที่ดินยังต่ำที่ 3-4 แสนบาทต่อไร่ ต่ำกว่าราคาที่ดิน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี"

รวมทั้งหาก จ.สระแก้ว เข้ามาอยู่ในอีอีซี จะส่งผลให้นักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนถือครองที่ดินได้ 99 ปี ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญให้อุตสาหกรรมชั้นสูงเข้ามาลงทุน และแม้จะขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่ม แต่มั่นใจไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง มีการปล่อยมลพิษที่ต่ำมาก รวมทั้งกฎระเบียบของไทยเข้มงวดกว่าอดีตมาก
หนุนเพิ่มรถไฟข้ามปอยเปต

นายสุรวุฒิ กล่าวว่า จ.สระแก้วไม่เพียงแต่จะมีศักยภาพด้านการลงทุน แต่ยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงมาก และยังเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวไปกัมพูชาที่แหล่งท่องเที่ยวขยายตัวรวดเร็ว แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาขาดแคลนขบวนรถไฟที่จะเข้ามาวิ่งในเส้นทางนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนกว่า 2 พันล้านบาทในการขยายเส้นทางรถไฟไปเชื่อมโยงกับฝั่งประเทศกัมพูชาได้แล้ว แต่ยังไม่มีขบวนรถไฟด่วนพิเศษ (รถไฟสปรินเตอร์) ติดเครื่องปรับอากาศตู้โดยสารมีมาตรฐานสูง และจอดสถานีหลัก 7 สถานี จะใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 4 ชั่วโมง จะทำให้มีผู้โดยสารมาใช้บริหารเพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเพียงตู้รถไฟร้อนชั้น 3 ที่เข้ามาวิ่ง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สนใจจะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาอรัญประเทศ เพื่อท่องเที่ยวตลาดโรงเกลือหรือข้ามไปฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา นิยมนั่งรถตู้จากกรุงเทพฯ มาอรัญประเทศ ค่าโดยสาร 240 บาท ซึ่งหากรถไฟมีตู้โดยสารปรับอากาศก็จะมีนักท่องเที่ยวพร้อมมาใช้บริการมากกว่านี้ เพราะมีความปลอดภัยมากกว่านั่งรถตู้ มีจุดขึ้นรถไฟตามสถานีมากกว่า และยังใช้เวลาในการเดินทาง 3-4 ชั่วโมง ใกล้เคียงกันการโดยสารรถตู้

หวังต่างชาติเที่ยวไทย-กัมพูชา

นอกจากนี้ กัมพูชา กำลังปรับปรุงเส้นทางจาก อ.ปอยเปต เข้าสู่กรุงพนมเปญ 400 กิโลเมตร ปรับปรุงเสร็จภายใน 2 ปี จะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปกรุงพนมเปญและจังหวัดท่องเที่ยวของกัมพูชาสะดวก โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมาลงที่กรุงเทพฯ เพื่อเที่ยวไทยและต่อไปกัมพูชาได้ทันที

“ขณะนี้มีรถไฟตู้ร้อนชั้น 3 วิ่งจากกรุงเทพฯ มาปอยเปตเพียงวันละ 2 เที่ยว แต่มีผู้ใช้บริการน้อยมาก ขาดทุนเดือนละ 1 ล้านบาท หากมีขบวนรถไฟด่วนพิเศษ (รถไฟสปรินเตอร์) ที่สะดวกสบายจะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนสร้างรางไปแล้ว 2,000 ล้านบาท หากเพิ่มขบวนรถไฟติดแอร์อีก 4 ขบวน ลงทุนอีก 200 ล้านบาท จะทำให้ใช้ศักยภาพทางรถไฟได้เต็มที่ และเพิ่มการท่องเที่ยว จ.สระแก้วขยายตัวได้อีก 30% ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการท่องเที่ยวใน จ.สระแก้ว ที่ซบเซา”