สุ่มตรวจ 'ชานมไข่มุก' 25ตัวอย่าง พบสารกันบูด100%
เผยน้ำตาลเกินมาตรฐาน 92% หรือ 23 ตัวอย่าง มากสุด 18.5 ช้อนชา ขณะที่ WHO กำหนดควรบริโภคไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แพทย์แนะเสี่ยงเบาหวานและโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำแก้วเล็กลดการบริโภค ทำฉลากสินค้าแบบสัญญานไฟจราจร
วันนี้ (11 กรกฎาคม) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกในเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 25 ยี่ห้อ ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ที่มีราคาตั้งแต่แก้วละ 23 - 140 บาท ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ ปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมัน รวมถึงทดสอบหาโลหะหนักประเภทตะกั่ว และสารกันบูดในเม็ดไข่มุก
จากผลทดสอบ พบน้ำตาลเกินมาตรฐานกว่า 92% หรือ 23 ยี่ห้อ โดยปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุดเท่ากับ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วมากที่สุดมีปริมาณน้ำตาลกว่า 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน ไม่ควรเกิน 24 กรัม (6 ช้อนชา)
ขณะที่ผลการทดสอบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ในเม็ดไข่มุก พบในตัวอย่าง 100% โดยปริมาณสารกันบูดน้อยที่สุด มีปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 58.39 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อที่พบปริมาณสารกันบูดรวมมากที่สุด พบปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 551.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่ไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวในงานแถลงข่าว ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบ “น้ำตาล และ สารกันบูด” ในชานมไข่มุก 25 ตัวอย่าง ว่า การทดสอบดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการบริโภคได้มากขึ้น สังเกตุว่าทุกยี่ห้อมีสารกันบูด แต่ไม่มียี่ห้อไหนที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค
“ในชานมไข่มุกมีสารกันบูด จึงขอให้ผู้ประกอบการระบุในฉลากให้ถูกต้อง ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย ทั้งนี้ อยากฝากข้อเสนอไปถึงผู้ประกอบการให้ปรับลดขนาดปริมาณต่อแก้ว (Serving Size) ลงให้เหมาะสม เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณพลังงานและน้ำตาลต่อแก้วสูงจนเกินไป เพราะเมื่อผู้บริโภคซื้อชานมไข่มุก ก็อาจบริโภคจนหมดแก้วเพราะความเสียดาย ทำให้พลังงานและน้ำตาลที่ได้รับในหนึ่งมื้อนั้นมากจนเกินความจำเป็น และ อย. ควรเร่งผลักดันให้เกิดฉลากสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้เป็นมิตรกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น” น.ส.สารี กล่าว
นายพชร แกล้วกล้า นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า ฉลากแบบสัญญานไฟจารจร คือ ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guidline Daily Amounts : GDA) หรือฉลากหวานมันเค็ม มีพื้นฐานในประเทศอังกฤษมากว่า 20 ปี ตอนนี้ทุกห้างติดสินค้าแบบนี้หมด หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือ การนำข้อมูลโภชนาการหลังซองมาไว้หน้าซองให้เข้าใจง่าย
โดย สีแดง หมายถึง มีปริมาณที่มากกว่าเกณฑ์ ควรหลีกเลี่ยงในการรับประทานครั้งต่อไป สีเหลือง หมายถึง สูงระดับพอดีเกณฑ์ ควรระมัดระวังในการทานครั้งต่อไป หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง และ สีเขียว หมายถึง สามารถรับประทานได้ แต่ไม่ควรทานเกิน 2 ครั้ง ใน 1 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกได้อย่างเหมาะสม และผู้ผลิตจะเกิดความตระหนักในการปรับลดสินค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น
ด้าน ทพญ.มัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการฯ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา (24 กรัม) แต่ผลทดสอบชานมไข่มุก ยี่ห้อที่มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 16 กรัม (4 ช้อนชา) และมากสุด คือ 74 กรัม (18.5 ช้อนชา) ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับถึง 3 เท่า และแม้เครื่องดื่มจะมีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม แต่ก็พบว่า ในหนึ่งแก้วเราได้บริโภคน้ำตาลที่กำหนดต่อวันไปแล้ว 2 ใน 3 ยังไม่รวมน้ำตาลที่อยู่ในอาหารอื่นๆ เครื่องดื่มเหล่านี้เป็นเครื่องดื่มที่ควรงดการดื่ม เพราะเป็นแหล่งอุดมน้ำตาล ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่สูงหากได้รับในคราวเดียว จะรบกวนระบบการ Metabolite สาเหตุของกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต (NCDs) รวมถึงฟันผุ และโรคอ้วนก็มีความเกี่ยวเนื่องเช่นกัน
“สิ่งที่ทางเครือข่ายพยายามรุกคืบ คือ สร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ว่าไม่ควรเอาสารพิษเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย พร้อมชวนร้านกาแฟลดขนาดแก้วให้เล็กลง เพื่อลดการบริโภค ทั้งนี้ การลดปริมาณน้ำตาลลง คือ การลดต้นทุน แต่สิ่งที่ร้านยังกังวล คือ กลัวรสชาติไม่อร่อย เพราะลูกค้าหลายคนติดหวานกลัวขายไม่ได้”
“ขณะที่ผู้บริโภคเองควรตระหนัก วิธีที่ช่วยป้องกัน คือ การออกกำลังกาย แต่อาจจะยากลำบากสำหรับหลายคน ดังนั้น อาจเลือกทานในขนาดที่เล็กลง หรือเลือกหวานน้อย นอกจากนี้ ทางเครืองข่าย ยังทำโครงการ โรงเรียนโรงอาหารอ่อนหวาน ดูปริมาณแคลอรี่ น้ำตาล ไขมัน ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม มีแกนนำนักเรียน ให้ความรู้ และบริโภคตามคำแนะนำ สิ่งสำคัญคือผู้ปกครอง ที่ต้องช่วยดูแลโภชนาการนอกรั้วโรงเรียน” ทพญ.มัณฑนา กล่าว
สำหรับชานมไข่มุกซึ่งมีต้นกำเนิดจากประเทศไต้หวัน กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทยและทั่วโลก ตลาดรวมชานมไข่มุกทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 6.25 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 มูลค่าจะอยู่ที่ 1.03 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดชานมไข่มุกในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.5 พันล้านบาท โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือ โอชายะ ด้วยรายได้ 148 ล้านบาท ในปี 2560 รองลงมาคือ มิกุชะ รายได้ 95 ล้านบาท และ ฟุกุ มัชฉะ รายได้ 93 ล้านบาท ตามลำดับ