ลุ้น‘ลิบรา’"เกิด-ไม่เกิด"ท่ามกลางกระแสต้าน

ลุ้น‘ลิบรา’"เกิด-ไม่เกิด"ท่ามกลางกระแสต้าน

นับตั้งแต่เฟซบุ๊คประกาศแผนจะสร้างเงินเสมือนนาม “ลิบรา” เส้นทางนี้เห็นได้ชัดว่าไม่ราบรื่น เพราะโดนโจมตีมาตลอดทั้งจากคณะกรรมการกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

งานฟินเทควีค ครั้งล่าสุด  ที่จัดขึ้นกลางกรุงลอนดอน ถือเป็นงานประจำปีที่รวมตัวผู้คนในแวดวงฟินเทค นอกจากพวกเขาจะสนใจเรื่องเบร็กซิทแล้ว ปีนี้หลายคนตั้งตำถามถึงอนาคตของเงินเสมือน

“ใครไม่อยากใช้ลิบรายกมือขึ้น” พิธีกรตั้งคำถามในวงเสวนาที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนราว 100 คน ผู้ฟังราว 2 ใน 3 ยกมือแสดงตัวว่าไม่ไว้ใจสกุลเงินที่เพิ่งตั้งไข่นี้

สำหรับเฮเลน ดิสนีย์ผู้ก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร “อันบล็อกอีเวนท์” บริษัทที่ปรึกษาด้านบล็อกเชน เทคโนโลยีเบื้องหลังคริปโตเคอร์เรนซี ก็รู้ดีว่าผู้คนเริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้นว่า ใครกันแน่ที่ต้องเป็นผู้ดูแลและควบคุมการใช้เงินลิบรา

“ผู้คนกังวลว่า วิธีการกำกับดูแลจะเวิร์กมั้ย ชุมชนคริปโตเคอร์เรซีคิดอะไรเสรีมาก เป็นการให้อำนาจกับประชาชน สร้างประชาธิปไตยทางการเงิน ถอยห่างจากธนาคารและบริษัทใหญ่ที่ควบคุมเศรษฐกิจ”ดิสนีย์ อธิบาย

งานฟินเทควีคจัดขึ้น 1 เดือน หลังจากเฟซบุ๊คประกาศกับโลกว่า มีแผนสร้างสกุลเงินเสมือน “ลิบรา” ที่หลายคนมองว่า จะมาท้าทายแชมป์โลกอย่างบิทคอยน์ คาดกันว่าลิบราจะเปิดตัวช่วงครึ่งแรกของปี 2563

ถ้าเทียบคุณลักษณะกันแล้วบิทคอยน์ไม่รวมศูนย์ ขณะที่ลิบราจะมีหุ้นส่วน 100 บริษัทร่วมจัดการ รวมทั้งคาลิบรา แผนบริการการเงินน้องใหม่ของเฟซบุ๊คการเข้าถึงลิบราผ่านสมาร์ทโฟน ผู้ใช้จะต้องเข้าผ่านกระเป๋าเงินเสมือนที่ชื่อเดียวกันว่า คาลิบรา

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของลิบราอยู่ที่มีตะกร้าเงินสกุลเงินจริงหนุนหลัง ส่วนบริษัที่อยู่เบื้องหลังลิบรามีทั้งขาใหญ่อย่างวีซ่า มาสเตอร์การ์ด และเพย์พาล แม้แต่บริษัทบริการเรียกรถโดยสารอย่างลิฟต์และอูเบอร์ ก็ลงเรือลำเดียวกันด้วย

แม้เฟซบุ๊คจะโวว่าตนเองมีฐานผู้ใช้มหาศาลทั่วโลก ที่เอื้อให้ลิบราทะยานอย่างรวดเร็ว แต่ข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวก็ทำให้ผู้ใช้ลังเล

“ทนรอไม่ไหวแล้วกับคริปโตเคอร์เรนซีที่ใช้จรรยาบรรณของอูเบอร์ ต่อต้านการเซ็นเซอร์แบบเพย์พาล กระจายอำนาจแบบวีซ่า ทั้งหมดนี้รวมตัวกันภายใต้ความเป็นส่วนตัวที่พิสูจน์แล้วอย่างเฟซบุ๊ค”ซาราห์ เจมี ลูอิสผู้อำนายการองค์การวิจัยไม่หวังผลกำไร “โอเพ่นไพรเวซี่” ให้ความเห็น

นอกจากนี้  ลิบรายังสร้างความกังขาให้กับคณะกรรมการกำกับดูแลการเงินทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

แต่ดิสนีย์เชื่อว่า สุดท้ายแล้วลิบราจะทำให้คณะกรรมการกำกับดูแลกำหนดคู่มือปฏิบัติให้ชัดเจน อย่างที่แวดวงคริปโตเคอร์เรนซีเองก็ต้องการ

“เราคอยมานานแล้วอยากเห็นสัญญาณชัดเจนถึงระเบียบดูแลเงินเสมือนและสินทรัพย์ดิจิทัล”

แต่สำหรับเจมส์ เบนเน็ตประธานบริษัทวิจัยคริปโตเคอร์เรนซี “บิทแอสซิสต์” โต้แย้งว่า ลิบราไม่เหมือนกับบิทคอยน์

“ในระยะยาว ผู้คนจะตระหนักว่าลิบราไม่ใช่เงินเสมือน คริปโตเคอร์เรนซีของจริงควรทนทานต่อการถูกโจมตีจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐชาติหรือบรรษัทข้ามชาติคริปโตก็เป็นเงินชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับถ่ายโอนมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ต ที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่อาจหยุดยั้ง ยึด หรือทำลายได้” เบนเน็ตกล่าวในเวทีฟินเทควีค

แม้แต่ทรัมป์ก็โจมตีสกุลเงินเสมือนแรงๆ อยู่หลายครั้งว่าคลุมเครือ ทั้งยังกล่าวหาลิบราว่าไม่แน่นอนพึ่งพาไม่ได้ไม่เหมือนกับดอลลาร์

“ผมไม่ใช่แฟนบิทคอยน์ หรือคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินตรา แถมมูลค่าก็ผันผวนสูงมาก เลื่อนลอยอยู่ในอากาศ”ทรัมป์ทวีตข้อความเมื่อวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) สะท้อนว่าเส้นทางของลิบราต่อจากนี้คงไม่ราบรื่น