เล็งเพิ่มโทษ ‘ปั่นหุ้น’ คดีอาญา
“ก.ล.ต.-ปปง.-ดีเอสไอ” เข้มการบังคับใช้กฎหมายตลาดทุน จ่อเพิ่มโทษอาญากรณี “ปั่นหุ้น” เหตุเข้าข่ายฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน หวังจัดหนักผู้กระทำผิดให้เกรงกลัว
พลตำรวจตรีปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า สำนักงานปปง.กำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) กรณีการปั่นหุ้น ซึ่งอาจเพิ่มโทษการกระทำผิดตามตามกฎหมายของสำนักงานปปง.ร่วมด้วย เนื่องจากเห็นว่าการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ มองว่าการกระทำความผิดฐานปั่นหุ้นมักมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินและถือเป็นการกระทำผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายของสำนักงานปปง.อยู่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดอาจไม่เกรงกลัวเพราะคิดว่าการจ่ายค่าปรับตามมาตรการลงโทษทางแพ่งอย่างเดียวก็จบแล้ว ซึ่งทางหน่วยงานผู้กำกับดูแลทั้ง 3 หน่วยงาน จึงมีการหารือร่วมกันว่านอกเหนือจากมาตรการทางแพ่งแล้วอาจมีการเอาความผิดทางอาญาเพิ่มด้วย โดยใช้กฎหมายฟอกเงินของปปง.มาดำเนินการร่วมเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดให้หนักและจะได้เกรงกลัวไม่กล้ากระทำอีกในอนาคต
ขณะที่ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพูดคุยกับดีเอสไอในฐานะเจ้าหน้าที่พนักงานสืบสวนสอบสวนว่าจะให้สำนักงานปปง.เป็นผู้ดำเนินการกล่าวโทษหรือให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการกล่าวโทษได้เองทันที ซึ่งอาจต้องรอการพิจารณาข้อตกลงร่วมกันเร็วๆนี้
นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการส่งเรื่องผู้กระทำความผิดที่ก.ล.ต.ฟ้องร้องทางแพ่งจำนวน 7-8 เรื่องมาให้ปปง.พิจารณา ซึ่งสำนักงานปปง.จะดำเนินการต่อให้ดีเอสไอ สอบสวนเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่าเข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินของปปง.ด้วยหรือไม่
“ก.ล.ต.เขาไม่อยากให้จบแค่เสียค่าปรับ เพราะผู้กระทำความผิดอาจไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและอาจกระทำความผิดครั้งต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องเอาโทษให้หนักซึ่งอาจมีการใช้กฎหมายฟอกเงินของปปง.ร่วมดำเนินการกับผู้กระทำผิดฐานปั่นหุ้นด้วย”
กลต.เล็งใช้ ‘เอไอ’ ตรวจจับเทรดหุ้น
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าปัจจุบันก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้นในการติดตามพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยก.ล.ต.จะนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการติดตามความถี่ของการเทรดหุ้นและการซื้อขายที่มีความผิดปกติ ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลและตรวจสอบทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถนำระบบ AI มาใช้ได้ภายในปีนี้
เซ็นเอ็มโอยูแลกเปลี่ยนข้อมูล
ขณะที่ล่าสุด ก.ล.ต.ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) แบบทวิภาคีจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกข้อตกลงระหว่าง ก.ล.ต. กับ ปปง. ว่าด้วยการประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ประสานความร่วมมือโดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และเป็นการป้องกันการใช้ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ และการทำธุรกรรมต่างๆในตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ส่วนบันทึกข้อตกลงกับดีเอสไอนั้น จะเป็นการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีพิเศษ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีความรวดเร็วและรัดกุมยิ่งขึ้น อีกทั้งครอบคลุมการให้ความร่วมมือด้านการสนับสนุนด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีระหว่างกันเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในคดีพิเศษเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
โดยความร่วมมือกับ ปปง. และ DSI นั้น เป็นการยกระดับและร่วมกันปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากเดิม เพื่อป้องปรามการกระทำผิดและยกระดับความคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน เนื่องจากกฎหมายหรือข้อตกลงที่ผ่านมามีความล้าสมัยเพราะบางฉบับได้ทำการตกลงตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้เพื่อให้รองรับกับ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกมาเมื่อปี 2561 ด้วย
“ที่ผ่านมา เราทำข้อตกลงร่วมกันอยู่แล้วแต่บางฉบับต้องได้รับการแก้ไข เพราะลงนามตั้งแต่ปี 2548 ดังนั้นเพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงต้องแก้ไขข้อตกลงร่วมกัน ส่วนการนำระบบ AI มาใช้ในการติดตามความถี่ของการเทรดหุ้นนั้น เราพยายามที่จะให้เห็นภายในปีนี้”
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการเพิ่มโทษทางอาญากับผู้กระทำความผิดปั่นหุ้น ขึ้นอยู่กับ ก.ล.ต. ว่าเห็นสมควรอย่างไร เพราะตามกฎหมายหน้าที่การลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นหน้าที่ของก.ล.ต. ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯไม่มีอำนาจในการลงโทษคนปั่นหุ้น
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต.คงพิจารณาแล้วว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายของก.ล.ต. ซึ่งหากตลาดหลักทรัพย์ฯพบการซื้อขายที่ผิดปกติก็จะส่งข้อมูลให้ก.ล.ต.ดำเนินการต่อไป ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นด่านเบื้องต้นในการดูข้อมูลตามที่ก.ล.ต.มอบหมาย
โบรกหนุนเพิ่มโทษอาญาปรามนักปั่นหุ้น
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าส่วนตัวมองว่ามาตรการลงโทษที่เข้มข้นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ผู้ที่จะกระทำความผิดหวาดกลัวหรือไม่กล้ากระทำความผิด
อย่างไรก็ตาม ก็อยากฝากให้หน่วยงานผู้กำกับให้ความสำคัญกับการระมัดระวังไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นด้วย เพราะการมองว่าการป้องกันหรือสกัดตั้งแต่ต้นเหตุจะให้ผลที่ดีกว่า เช่น อาจมีมาตรการตรวจสอบที่รวดเร็วหรือดักไม่ให้เกิดราคาที่เคลื่อนไหวเร็วเกินไป รวมถึงอาจมีการส่งสัญญาณเตือนก่อนที่จะเกิดการกระทำความผิด เป็นต้น ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้อาจจะช่วยนักลงทุนไม่ให้เกิดความเสียหายได้ ก่อนที่จะใช้มาตรการลงโทษที่เข้มข้นกับผู้ที่กระทำความผิด
“ที่ผ่านมา คนจ่ายค่าปรับแค่นี้ก็หนักหน่วงแล้ว ซึ่งบางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยซ้ำ แต่ก็เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะอาจทำให้คนกลัวไม่กล้ากระทำผิด แต่หากช่วยสกัดตั้งแต่ต้นเหตุน่าจะดีกว่า”