สกพอ.เดินหน้าผังเมือง ไม่ห่วงร้องศาลปกครอง
การจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกคัดค้านจากกลุ่มประชาชนในพื้นที่
โดยล่าสุดเครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนภาคตะวันออก ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อให้ทบทวนการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สกพอ.เปิดเผยว่า แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของอีอีซี ได้จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองตามหลักวิชาการการทำผังเมืองที่เป็นสากล มีความยืดหยุ่น โดยได้ปรับเปลี่ยนจากผังเมืองเดิมตามภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนไปบางพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตรก็ได้ปรับไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการใช้พื้นที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการกว่า 25 ครั้ง และเวทีไม่เป็นทางการกว่า 15 ครั้ง รวมไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง
ส่วนกรณีมีชาวบ้านบางส่วนไม่เห็นด้วยกับผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี และอาจจะไปฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่กระบวนการทำผังการใช้ประโยชน์ฯ ก็ต้องดำเนินการต่อไป เพราะ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนดไว้ชัดเจนให้ประกาศใช้ภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 9 ส.ค.นี้ ซึ่งหากมีการฟ้องร้องศาลปกครอง ทางศาลก็จะเรียกข้อมูลจาก สกพอ.เพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ซึ่ง สกพอ.พร้อมที่จะส่งเอกสารและเข้าไปชี้แจง
หลังจากประกาศผังการใช้ประโยชน์ที่ดินแล้ว จะนำไปจัดทำผังเมืองรองของแต่ละจังหวัด ตามขั้นตอนการทำผังเมือง 18 ขั้นตอน ซึ่งในกระบวนการนี้จะลงในรายละเอียดพื้นที่สาธารณูปโภคต่างๆ เส้นทางถนน รถไฟ เขตพัฒนาเมืองใหม่ เป็นต้น ในกระบวนการนี้ก็จะมีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบคอบ ซึ่งประชาชนสามารถให้ความคิดเห็นปรับปรุงในรายละเอียดได้อีกให้ตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในชุดชน และรองรับแผนการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว 20 ปี
แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซีได้กันพื้นที่ป่าไม้ไม่ได้เข้าไปแตะต้องเลย และได้กำหนดระยะห่างจากป่าไม้ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ห้ามตั้งโรงงานโดยเด็ดขาด และได้กันพื้นที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณแหล่งน้ำ ชายฝั่งทะเล พื้นที่ต้นน้ำ รวมทั้งกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่น้ำ ลำคลองไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงาน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ 78% ของพื้นที่ทั้งหมดได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่อนุรักษ์
สำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท มีพื้นที่รวม 8,291,250 ไร่ แบ่งเป็น การพัฒนาพื้นที่เมืองและชุมชน ที่ประกอบด้วยที่ดินประเภทศูนย์กลางด้านการพาณิชย์ ที่ดินประเภทชุมชนเมือง ที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาเมือง ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ มีพื้นที่รวม 1,115,612 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 13.46%
การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม ประกอบด้วยที่ดินประเภทเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 21 แห่ง และที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต มีพื้นที่รวม 412,250 ไร่ มีสัดส่วน 4.97%
การพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม ประกอบด้วยที่ดินประเภทชุมชนชนบท ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม ที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน มีพื้นที่รวม 4,860,027 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 58.63%
พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 1,668,521 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 20.12%
ส่วนพื้นที่อ่อนไหว เช่น พื้นที่ก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ จากผังการใช้ประโยชน์ฯ ล่าสุด ได้กำหนดระยะห่างจากแม่น้ำ 500 เมตร และในพื้นที่ยังมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่าน ทำให้คาดว่าจะเหลือพื้นที่นิคมฯเพียง 1,000 ไร่ จากเดิมที่ขอมากว่า 2 พันไร่ ซึ่งในจำนวนนี้จะพัฒนาเป็นที่ดินสำหรับตั้งโรงงานได้เพียง 500 ไร่
รวมทั้งอุตสาหกรรมที่จะอยู่ในนิคมฯนี้ จะเป็นชิ้นส่วนและรถยนต์ไฟฟ้า ที่ไม่ก่อมลพิษ จึงมองว่าน่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่
ส่วนพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี โครงการ 2 ที่มีชาวบ้านบาทส่วนต้องการให้เป็นพื้นที่สีเขียวนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะโครงการนี้ได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนการจัดตั้งนิคมฯ โดยได้ประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมไปตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2553 พื้นที่ 8,000 ไร่
รวมถึงยังได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน มีหนังสือยินยอมจากประชาชนและผู้นำท้องถิ่นให้สามารถจัดตั้งนิคมฯแล้ว และการออกแบบเป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สกพอ.เห็นว่าดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการแล้ว จึงประกาศยกระดับเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2561 เพื่อรองรับการลงทุนตามนโยบายอีอีซี มีพื้นที่ 6,000 ไร่
สำหรับเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษและเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายขณะนี้มีทั้งหมด 21 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอีอีซี 4 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ยื่นของเป็นเขตส่งเสริมฯ 600-700 ไร่ จากทั้งหมด 5 พันไร่
นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมฯ 1.5 พันไร่ จากทั้งหมด 3 พันไร่ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นอกจากนี้ยังมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆ จะเข้ามาขอยื่นเป็นเขตส่งเสริมฯอีกหลายนิคม