'ซูเปอร์โพล' เผย 'พิธา' ถูกโหวตให้เป็นดาวสภา
"ซูเปอร์โพล" เผย กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 70% บอกว่า ไม่ได้ประโยชน์จากการแถลงนโยบายวันแรก ขณะที่ "พิธา" ส.ส.อนาคตใหม่คว้าดาวสภา
สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ทำการสำรวจ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 2,111 ตัวอย่าง เปรียบเทียบความพึงพอใจของประชาชนต่อการแถลงนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันแรกและวันที่สอง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26- 27 ก.ค.พ.ศ. 2562 พบว่า ประชาชนได้ประโยชน์จากการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่สองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.2 ในวันแรกเป็นร้อยละ 55.8 ในวันที่สอง
ในขณะที่ คนที่ระบุไม่ได้ประโยชน์ลดลงจากร้อยละ 72.8 ในวันแรกเหลือร้อยละ 44.2 ในวันที่สอง ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ ผลโพล 5 อันดับ ดาวสภาฯ คนรุ่นใหม่ ขวัญใจประชาชนในการอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาลพบว่า เป็นผู้อภิปรายของพรรคอนาคตใหม่ 3 อันดับรวด ได้แก่ อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 16.3 ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคอนาคตใหม่ อันดับที่สอง หรือร้อยละ 13.1 ระบุ นายปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ อันดับที่สามหรือร้อยละ 11.3 ระบุ นางสาว ช่อ พรรณิการ์ พรรคอนาคตใหม่ เช่นกัน ในขณะที่ ร้อยละ 5.3 ระบุ นายวัน อยู่บำรุง พรรคเพื่อไทย และร้อยละ 2.9 ระบุ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ พรรคพลังประชารัฐ ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจของประชาชนต่อกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาล เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน จำแนกตามกลุ่มจุดยืนทางการเมือง ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มพลังเงียบ พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลพอใจรัฐบาลที่ 7.07 คะแนน มากกว่า กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ที่ 3.87 และมากกว่ากลุ่มพลังเงียบที่ 5.73 คะแนน
ในขณะที่ ค่าเฉลี่ยความพอใจต่อฝ่ายค้าน พบว่า กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลพอใจฝ่ายค้านอยู่ที่ 8.46 คะแนน กลุ่มพลังเงียบที่ 6.71 คะแนนและกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลแต่พอใจฝ่ายค้านอยู่ที่ 5.52 คะแนน นอกจากนี้ความพอใจต่อประธานสภาฯ พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลพอใจสูงสุดต่อประธานสภาฯ คือ 8.19 คะแนน กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ที่ 5.53 และกลุ่มที่เป็นพลังเงียบพอใจประธานสภาฯ ที่ 6.28 ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า จากผลโพลครั้งนี้ ในการอภิปรายแถลงนโยบายวันแรก อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนไม่โอเคกับบรรยากาศในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเพราะนักการเมืองบางคนมักจะเป็นพวกพิ๊กกี้ (Picky) คือ เลือกที่จะปั่นอารมณ์และทำให้บางคนโกรธจนกระทบต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่วันที่สองเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ดีอภิปรายในสาระประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศและหาทางออกร่วมกันจนทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น
“ในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายที่ดี ทุกคนควรพูดได้ทั้งประชาธิปไตยและรูปแบบอื่น ๆ เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่รูปแบบ แต่สิ่งสำคัญคือ คนในรัฐสภาสร้างความเกลียดชังต่อกันขัดขวางคนที่ไม่ใช่พวกเข้ามีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประชาชน โดยลืมหลักสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตยที่ดีคือ การลดความขัดแย้งในกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านรัฐสภา ไม่ใช่คนในรัฐสภาเป็นต้นตอของความขัดแย้งเสียเอง และคนบางกลุ่มตั้งกำแพงกั้นจนไม่สามารถเข้าทำงานร่วมกันได้ในวิถีประชาธิปไตยของไทยเพราะพวกเขาละเลยประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ” ผศ.ดร.นพดล กล่าว