LPH เปิด '2สตอรี่ใหม่' ผนึกพันธมิตร'ยกฐานะ'
'โรงพยาบาลลาดพร้าว' พลิกเกมสู้ 'รายได้ประกันสังคมไม่เพิ่มหรืออาจลดลง' !! หลังโควต้าเต็มแล้ว 'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' นายใหญ่ โชว์ 2 พันธกิจใหม่ 'ตรวจสุขภาพนอกสถานที่ & คนไข้ต่างชาติ' เสริมฐานรายได้เติบโตตามเป้าหมาย 25-30% ในปีนี้
รายได้ประกันสังคมในปี 2562 ของ บมจ.โรงพยาบาลลาดพร้าว หรือ LPH ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนย่านลาดพร้าว 'ไม่เพิ่ม' หรืออาจจะ 'ลดลง' !! บ่งชี้ผ่านจำนวนผู้ประกันตน เต็มตามโควตาที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมแล้ว ปัจจุบันจำนวนผู้ประกันตนอยู่ที่ 1.61 แสนราย หรือคิดเป็น 40% ของรายได้รวม จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 'ระดับ 7-8%' ในปีนี้
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้องค์กรตัดสินใจปรับแผนธุรกิจปี 2562 เร่งด่วน เพื่อต้องการรักษาเป้าหมายการเติบโต 'ระดับ 25-30%' ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรเพิ่มรายได้ใหม่จาก 2 ส่วน คือ 'คนไข้ตรวจสุขภาพนอกสถานที่' และ 'คนไข้ต่างชาติ'
'ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาลลาดพร้าว หรือ LPH แจกแจงแผนลงทุนให้กับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ล่าสุดคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติลงทุนโรงพยาบาลเอกชน ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลดำเนินการเกี่ยวกับตรวจสุขภาพพนักงานโรงงาน ภายใต้ 'บริษัท โรงพยาบาลเอเชีย จำกัด' ซึ่ง LPH ถือหุ้นสัดส่วน 50% ใช้เงินทุน 25 ล้านบาท
โดยบริษัทตั้งเป้าหมายปีนี้จำนวนพนักงานตรวจสุขภาพนอกสถานที่จะเพิ่มเป็น '2 แสนคนต่อปี' จากเดิมตัวเลขพนักงานตรวจสุขภาพนอกสถานที่แค่หลัก 'หมื่นคนต่อปี'
หากย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน โรงพยาบาลลาดพร้าวเคยเข้าไปดำเนินธุรกิจตรวจสุขภาพนอกสถานที่แล้ว ในการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ให้กับพนักงานของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แต่ว่าบริษัทเข้าร่วมประมูลได้เพียงปีเดียวเท่านั้น เพราะว่าในปีถัดมาราคาประมูล 'ลดลงมาก' สวนทางกับราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ตอนนั้นบริษัทตัดสินใจไม่ร่วมประมูล !!
ทว่า ต้นปีที่ผ่านมา มี 'พันธมิตร' ที่รู้จักมาชักชวนให้ LPH ร่วมลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ แต่ตอนนั้น LPH มีเงื่อนไขว่าต้องให้ LPH ร่วมทุนในธุรกิจตรวจสุขภาพนอกสถานด้วย เนื่องจากบริษัทเห็นธุรกิจดังกล่าวมีอัตราการเติบโตทุกปี และมีกำไรปีละ 20-30 ล้านบาท จากจำนวนพนักงานที่ตรวจแค่เพียง '4หมื่นคนต่อปี'
'นายใหญ่' เล่าต่อว่า ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลลาดพร้าวหันกลับมามองในธุรกิจตรวจสุขภาพนอกสถานที่ใหม่อีกครั้ง !! โดยเข้าไปศึกษาดูว่าพันธมิตรมีการบริหารจัดการยังไงให้ธุรกิจดังกล่าวมี 'กำไร' เติบโตทุกปี ประกอบกับเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดอย่าง 'กลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก' มีจำนวนพนักงานบริษัทที่รับตรวจสุขภาพนอกสถานที่ประมาณหลัก 'ล้านคน' และมีรายได้โตตลอดๆ
ส่งผลให้ความสนใจดังกล่าวทำให้บริษัทเข้าไปดูตัวเลขมูลค่าตลาดของธุรกิจตรวจสุขภาพนอกสถานที่ พบว่าใหญ่มาก และมีทิศทางใหญ่มากขึ้นอีกในอนาคต สะท้อนจากการที่ภาครัฐมีการสนับสนุนให้เกิด 'โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก' (EEC) ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวจะมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก และตามมาด้วยจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคน ดังนั้น 'เค้กก้อนเดิมจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างแน่นอน' นายใหญ่ย้ำให้ฟังเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพแล้ว บริษัทยังมีแผนขยายงานตรวจสุขภาพนอกสถานที่เพิ่มอีก เช่น การฉีดวัคซีน โดยตั้งเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า (2562-2566) มีจำนวนพนักงานตรวจสุขภาพอยู่ที่ 'ล้านคนต่อปี' โดยเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนคน คาดว่าในปีแรกบริษัทจะมีรายได้เข้ามาประมาณ 160 ล้านบาท
โดยในปีนี้ โรงพยาบาลลาดพร้าวมีการเข้าประมูลตรวจสุขภาพนอกสถานที่บริษัทขนาดใหญ่หลายราย โดยล่าสุดได้ตรวจสุขภาพอย่าง บริษัท เบทาโกร จำกัด ที่มีพนักงานกว่า 30,000 คน บมจ.โอสถสภา หรือ OSP มีพนักงานกว่า 10,000 คน ซึ่งก็จะเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลลาดพร้าวจะเข้ามาในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประมูลตรวจสุขภาพนอกสถานที่ของ บมจ.ปูซิเมนต์ไทย หรือ SCC โดยคาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะมี 'มาร์จิน' ที่สูงขึ้น จากการขยายการตรวจสุขภาพนอกสถานที่เข้าไปในรายการตรวจสุขภาพอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจตรวจสุขภาพนอกสถานที่จะมีคู่แข่งเยอะ ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันกันสูงมาก แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดีและมีรายการตรวจอื่นๆ เข้ามาเสริมรายได้ด้วย ประกอบกับโรงพยาบาลลาดพร้าวที่ตอนนี้มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งในธุรกิจดังกล่าวมาเป็นพี่เลี้ยงให้ มองว่าบริษัทจะบริหารจัดหารธุรกิจดังกล่าวมีกำไรอย่างแน่นอน
และโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ชื่อ 'บริษัทโรงพยาบาลเอเชีย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด' โดย LHP ถือหุ้นในสัดส่วน 30% เงินลงทุน 50 ล้านบาท ซึ่งโรงพยาบาลตั้งอยู่หน้านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการขอ 'การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม' (EIA) เนื่องจากโรงพยาบาลมีการเพิ่มจำนวนเตียงเป็น 100 เตียง จากเดิม 60 เตียง เนื่องจากไม่สามารถรับคนไข้ประกันสังคมได้ คาดว่าจะเสร็จกลางปี 2563 และเปิดดำเนินการในปี 2564 เป็นต้นไป
'โรงพยาบาลดังกล่าวตั้งอยู่หน้านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่มีพนักงานโรงงานกว่า 500,000 คน ซึ่งในปีแรกที่เปิดโรงพยาบาลจะได้โควต้าจำนวน 50,000 คน แต่อาจจะมีความเสี่ยงในส่วนที่เป็นคนไข้ทั่วไปบ้าง แต่โรงพยาบาลดังกล่าวมีธุรกิจตรวจสุขภานอกสถานที่ที่มีกำไรทุกปีและเข้ามาชดเชยได้ ดังนั้น คาดว่าโรงพยาบาลดังกล่าวจะมีกำไรตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการ ต่างจากปกติของธุรกิจโรงพยาบาลเปิดใหม่ที่จะขาดทุนใน 3 ปีแรก'
สำหรับ อีกหนึ่งรายได้เสริม คือ 'คนไข้ต่างชาติ' โดยในปีนี้จะขยายพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยต่างประเทศ ซึ่งจะเกินขึ้น 2 ส่วน คือ 'คนไข้ CLMV' คาดว่าจะมีรายได้ 20-25 ล้านบาท ร่วมทั้งการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างตัวแทนในการจัดหาคนไข้ 'ประเทศกัมพูชา' ที่มีจำนวนคนไข้ส่งต่อมาที่โรงพยาบาลเกือบ 100 ราย คิดเป็นรายได้ของคนไข้กัมพูชาเข้ามาเดือนละ 2 ล้านบาท
และ 'คนไข้อาหรับ' ซึ่งมีการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทร่วมกัน และส่งคนไข้มาให้โรงพยาบาลลาดพร้าว ประมาณการณ์รายได้ไว้ที่ 'ราว20-25%' ในปีแรก อีกส่วนเป็นคนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลลาดพร้าวเอง เกิดจากการที่ปัจจุบัน 'โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์' เดิมมีฐานรายได้คนไข้อาหรับเป็นหลัก ปีละราว 300 ล้านบาท
แต่เกิดมีปัญหาขึ้นมาเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายของกลุ่มบริษัทแม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเห็นว่า 'มาร์จิน' ที่โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ ทำได้ค่อนข้างต่ำ ต้องการปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น ตัวแทนจัดหา (เอเจนซี่) ย้ายมาทำงานกับโรงพยาบาลลาดพร้าวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คาดว่าปีนี้จะมีรายได้จากคนไข้ต่างชาติที่ทำเอง 100 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้คนไข้อาหรับ 85 ล้านบาท ขณะที่ผู้ป่วยต่างประเทศที่ทำงานในประเทศ (Expat) คาดว่าจะมีรายได้ 5-10 ล้านบาท
'ปีนี้ผู้ป่วยนอกขยายตัวมากขึ้น และโรงพยาบาลมีการรับผู้ป่วยต่างประเทศเพิ่มขึ้น คือกลุ่มคนไข้อาเซียน และกลุ่มอาหรับ (โอมาน ซาอุดิอาระเบีย) โดยได้มีการแต่งตั้ง Agency คนไทย เพื่อรับงานกลุ่มคนไข้ดังกล่าว 3 เดือนที่ผ่านมา มีคนไข้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง หลังผ่านพ้นเดือนรอมฎอน คนไข้อาหรับจะเข้ามาใช้บริการเพิ่มจำนวนมาก จะสนับสนุนรายได้ให้เติบโตแข็งแกร่ง ปีนี้ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ต่างชาติเพิ่มเป็น 10% จากเดิม 5%'
'เดอร์เตอร์' บอกต่อว่า สำหรับการลงทุนใน 'โรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา' หลังจากชะลอโครงการเนื่องจากมีโรงพยาบาลเอกชนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2-3 แห่งบนถนนลำลูกกา ขณะนี้มีความชัดเจนที่จะดำเนินการต่อแล้ว โดยโรงพยาบาลดังกล่าวจะเป็นโรงพยาบาลรับประกันสังคม ศูนย์เฉพาะทางแม่และเด็ก และเป็นศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ขนาดโครงสร้างอาคาร 180 เตียง แต่เปิดดำเนินการเบื้องต้น 100 เตียง เงินลงทุนไม่เกิน 400-500 ล้านบาท
และโครงการลงทุนกับโรงพยาบาลเอกชนที่มีผลกำไรในจังหวัดภาคตะวันออก เนื่องจากเจ้าของโครงการชะลอการลงทุนในจังหวัดภูเก็ตและราคาที่เสนอขายสูงกว่าราคาประเมินมาก ดังนั้นจึงชะลอการลงทุนในโครงการดังกล่าว จนกว่าผลกำไรจะสูงขึ้นเทียบกับราคาหุ้นที่เสนอขาย และมีแผนการขยายลงทุนโครงการแห่งนี้ที่ชัดเจนแล้ว
สำหรับ แผนการลงทุนในปี 2563 ในส่วนของโรงพยาบาลลาดพร้าวนั้น ตั้งงบลงทุนกว่า 400 ล้านบาท สร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งที่ 2 และอาคารจอดรถอัจฉริยะ โดยบริษัทมีแผนลงทุนอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แห่งที่ 2 จะเป็นอาคารขนาด 6 ชั้น พื้นที่รวมกว่า 5,000 ตารางเมตร เป็นผู้ป่วยนอก 2 ชั้น รองรับผู้ป่วยนอกได้วันละประมาณ 300 คน จะดำเนินการเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่ทันสมัย
โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาโครงการและพิจารณาว่าจะเป็น 'ศูนย์โรคมะเร็ง และ ศูนย์หัวใจ' พร้อมหน่วยดูแลผู้ป่วยวิกฤติ (ICU, CCU) โดยอาจจะเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัทที่จัดตั้งโดยคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านดังกล่าวข้างต้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนห้องพักผู้ป่วยไม่เกิน 30 เตียง สถานที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลานจอดรถเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าระยะยาว 30 ปี และจะสร้างอาคารจอดรถอัจฉริยะชดเชยพื้นที่จอดรถเดิม ขนาดจอดได้ 300 คัน โดยใช้พื้นที่ในซอยลาดพร้าว 93/1 ทั้งสองโครงการคาดว่าจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 แนวโน้มผลประกอบการยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ประกอบกับบริษัทมีแผนมุ่งเน้นขยายบริการด้านการรักษาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพิ่มทีมแพทย์เฉพาะทาง และการเปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) ครบ 10 ศูนย์ มีการขยายพื้นที่การให้บริการต่างๆ ในปี 2562 คาดว่าสัดส่วนรายได้ของ LPH แบ่งเป็น ผู้ป่วยประเภทเงินสด 60% และรายได้จากผู้ป่วยประกันสังคม 40%
ท้ายสุด 'ดร.อังกูร' ทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างเยอะ แต่มองว่าเป็นการลงทุนในโรงพยาบาลระดับไฮเอนด์ ดังนั้น โรงพยาบาลลาดพร้าวจะไม่ได้รับผลกระทบ !!