"พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" ภารกิจสกัดสึนามิ "เฟคนิวส์”

"พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" ภารกิจสกัดสึนามิ  "เฟคนิวส์”

“ผมไม่อยากเป็นเสือกระดาษอยากทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นจริง”

การใช้งานโซเชี่ยล มีเดียในบริบทของประเทศไทย จากจำนวนปัจจุบันมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยโทรศัพท์มือถือสูงถึง 180% ของประชากร และมีการใช้สื่อและเสพย์สูงมากที่สุดในโลกก็อาจไม่ใกล้จากความจริงนัก โดยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊คสูงสุดถึง 54 ล้านคน ไลน์ 42 ล้านคน ทวิตเตอร์ 12 ล้านคน ก่อให้เกิดความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ และสังคม สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจากข่าวปลอม ข่าวลวง การแชร์ข่าวที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้รัฐบาลหันมาจับจ้องและพยายามสกัดการหลั่งไหลของข่าวสารที่ถาโถมเข้ามา หน้าที่นี้ กระทรวงดีอีได้รับลูกและประกาศตั้ง “ศูนย์ป้องกันและตรวจสอบข่าวปลอม”

ฟอร์มทีมงานปราบข่าวปลอม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาข่าวปลอมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ล่าสุดจึงได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานกรรมการ พร้อมดึงตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการ

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมฯ มีทั้งสิ้น 25 คน ซึ่งนอกเหนือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดดีอี ยังมีหน่วยงานด้านสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันการศึกษาชั้นนำในสาขานิติศาสตร์-นิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์ ผู้แทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้แทนจากสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

“ปัจจุบันการใช้สื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีการเผยแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม ในการปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือ โดยมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารไปจากข้อเท็จจริง ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เด็ก เยาวชน ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมอันดี และสถาบันหลักของชาติ ที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง” นายพุทธิพงษ์กล่าว

คิกออฟต.ค.เริ่มทำงานได้ทันที

เขา กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ จะครอบคลุม การวางแผนการดำเนินงานและแผนการเผยแพร่ ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์อย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ ติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์และระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม และบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลิตข้อมูลที่ถูกต้อง และจัดส่งข้อมูลต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องประกอบการดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ รวมทั้ง ดำเนินขั้นตอนการตอบโต้ข้อมูลข่าวสารปลอม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชน

โดยคณะกรรมการโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อทำงานและศึกษาถึงกรอบแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. กฎหมายต่างๆทึ่แต่ละหน่วยงานถืออยู่ เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์ป้องกันและตรวจสอบข่าวปลอม (แอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นเตอร์) อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งจะมี ไลน์ ออฟฟิเชียล เว็บไซต์กลาง ซึ่งเชื่อว่าศูนย์ฯดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และตั้งใจทำจริงๆไม่อยากเป็นเสือกระดาษ อยากให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริง

เร่งเครื่องกฎหมายลูกดิจิทัล

นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเร่งการจัดทำระเบียบข้อบังคับและกฎหมายลูกที่ต้องออกตาม พ.ร.บ.ดิจิทัลทั้งหมด โดยหลังจากที่ได้หารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแล้ว ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการทำงานและการกำหนดภารกิจเร่งด่วนที่ยังคงเหลือ ในหลายๆด้านให้มีการทำงานได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวรายงาน ระเบียบและกฎหมายลูกที่รัฐบาลและ หรือโดยกระทรวงดีอี จะต้องดำเนินการจัดทำเพื่อรองกฎหมายดิจิทัลที่ผ่านการพิจารณาในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งได้รองรับกฏหมายดิจิทัลทั้ง 7 ฉบับ อาทิ ตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ออกระเบียบและหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการกมช. ดำเนินการภายใน 90 วัน ตั้งสำนักงานคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กำหนดนโยบายแบะแผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จัดทำประมวลวิธีปฏิบัติและกรอบมาตรฐานการรักษาความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์ ออกระเบียบกมช.เรื่องมาตรฐานการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์