เมืองหลวงใหม่อินโดฯ ซ้ำเติมวิกฤติสิ่งแวดล้อม
ส่วนการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่บริเวณสุดขอบตะวันออกของเกาะบอร์เนียว จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 ข้าราชการพลเรือนราว 1.5 ล้านคนจะเริ่มต้นย้ายไปภายในปี 2567 ค่าใช้จ่ายในการนี้อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์
ฮือฮากันไปเมื่อวันก่อนตอนที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ประกาศแผนย้ายเมืองหลวงไปอยู่บนเกาะบอร์เนียว แต่บรรดานักวิจารณ์เตือนว่า วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้กรุงจาการ์ตาพ้นจากหายนะน้ำทะเลท่วม แถมยังก่อให้เกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อมบนเกาะบอร์เนียว อันเป็นที่ตั้งของป่าฝนเขตร้อน ที่อยู่ของอุรังอุตังที่ใกล้สูญพันธ์ุเต็มที
ประธานาธิบดีวิโดโดประกาศในสัปดาห์นี้ว่า จะย้ายเมืองหลวงออกไปสร้างเมืองหลวงใหม่ ห่างออกไปทางตะวันออกเกือบ 2,000 กิโลเมตร เพื่อบรรเทาความแออัดบนเกาะชวาที่มีประชากรหนาแน่น
กรุงจาการ์ตาอันกว้างใหญ่ รวมทั้งเขตมหานครมีประชากรอาศัยอยู่เกือบ 30 ล้านคน มีปัญหานานัปการ ทั้งการจราจรติดขัดสุดขีด ปัญหามลพิษ และภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและน้ำท่วม จนได้ชื่อว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งของโลกที่เสี่ยงจมน้ำทะเลก่อนใครเพื่อน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พื้นที่ 1 ใน 3 ของจาการ์ตาอาจจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2593 เนื่องจากสูญเสียน้ำใต้ดิน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภาวะโลกร้อนทำให้สภาพภูมิอากาศผันผวน
ส่วนการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่บริเวณสุดขอบตะวันออกของเกาะบอร์เนียว จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2563 ข้าราชการพลเรือนราว 1.5 ล้านคนจะเริ่มต้นย้ายไปภายในปี 2567 ค่าใช้จ่ายในการนี้อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์
เกาะบอร์เนียว เป็นที่ตั้งของ 3 ประเทศ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซียที่เรียกว่า“กาลิมันตัน” เกาะแห่งนี้มีการทำเหมืองใหญ่ๆ หลายแห่ง และมีป่าฝนเขตร้อนที่ได้ชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังเพียงไม่กี่แห่งในโลกนี้
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเผยว่า ขณะนี้การทำเหมืองและสวนปาล์มน้ำมันได้ทำลายสภาพแวดล้อมเกาะบอร์เนียวและถิ่นที่อยู่ของสัตว์หายากไปเรียบร้อยแล้วปัญหาจะยิ่งเลวร้ายไปกว่านี้ถ้ามีการสร้างเมืองใหญ่ใกล้พื้นที่อนุรักษ์พื้นที่นี้เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วครั้งใหญ่เมื่อปีก่อน
“กาลิมันตันตะวันออกเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักหนาอยู่แล้ว มีการทำเหมืองและสวนปาล์มหลายร้อยแห่ง เมื่อพื้นที่หนาแน่นเพราะเมืองหลวงใหม่ พวกเขาก็ต้องย้ายเป็นที่อื่นอีกใช่มั้ย”เซนซี ซูฮาดีโฆษก “วาลไฮ” เครือข่ายสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซีย
ด้านผู้นำชนเผ่าในบอร์เนียวมีความหวังแต่ไม่ค่อยเต็มที่นักว่า เมืองหลวงใหม่อาจมีส่วนช่วยกลุ่มชนชายขอบ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 20 ล้านคน เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ 260 ล้านคน
“แต่เราก็กังวลอยู่เหมือนกัน ชาวดายัคกังวลเรื่องสภาพผืนป่า วิถีชีวิตของเราผูกพันกับป่ามาช้านาน”ยูลิอุส โยฮาเนสนักวิชาการผู้นำชุมชนชาวดายัคเล่าถึงความกังวล
รัฐบาลอินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะทุ่มงบฯ ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์แก้ปัญหาจาการ์ตา และว่าผืนป่าอนุรักษ์จะไม่ได้รับผลกระทบจากเมืองหลวงใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้วิโดโดเพิ่งประกาศพักการออกใบอนุญาตแผ้วถางพื้นที่ป่าปฐมภูมิเพื่อทำเกษตรและป่าไม้เป็นการถาวร แต่ซูฮาดีแย้งว่า อย่างไรเสียผืนป่าปฐมภูมิก็ยังเสี่ยงได้รับผลกระทบ
เทียบกับไฟป่าอเมซอนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ อินโดนีเซียก็มีปัญหาทุกปีเช่นกันและต้องส่งเจ้าหน้าที่หลายพันคนเข้าไปจัดการไฟป่า ที่บ่อยครั้งเกิดจากการแผ้วถางที่ดินทำการเกษตร เปลวไฟเผาผลาญผืนป่ามหาศาล และส่งควันพิษอบอวลไปทั่วเกาะบอร์เนียวและสุมาตรา
เมื่อปี 2558 ไฟป่าขนาดมหาศาลทำให้ควันลอยไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนวนเหตุให้เกิดความขุ่นเคืองกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ผลการศึกษาของสหรัฐระบุว่า ไฟป่าสุมาตราอาจเป็นสาเหตุให้ประชาชนกว่า 1 แสนคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
“ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาไฟป่าไม่ได้ก็ต้องยกเลิกแผนย้ายเมืองหลวง”นิร์โวโน โจกาผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองแสดงทัศนะ
แม้แต่ในกรุงจาการ์ตา พอมีข่าวเรื่องย้ายเมืองหลวง ชาวกรุงหลายคนก็ตั้งข้อสงสัย
ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่าผู้ให้ข้อมูลราว 95% ไม่เห็นด้วย และเริ่มมีมุกล้อเลียนกันบนโลกออนไลน์ ว่า เมืองหลวงใหม่ควรตั้งชื่อว่า “โจโกกราด” หรือ “เซนต์โจโกเบิร์ก” ให้สมกับความทะเยอทะยานของโจโก วิโดโด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'ปาลังการายา'เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย โอกาสธุรกิจไทย
-อินโดฯเล็งย้ายเมืองหลวงไปบอร์เนียว
-ศก.อินโดฯ โตทะลุ 5% ไตรมาส 2
-'จีน' รุกหนักธุรกิจอสังหาฯในอินโดนีเซีย