กสทช.หวั่น“พีพีพี”ดาวเทียมล่าช้า

กสทช.หวั่น“พีพีพี”ดาวเทียมล่าช้า

กสทช.เร่งสรุปหลักเกณฑ์ดาวเทียม คาดเปิดเฮียร์ริ่งได้ปลายเดือนนี้ เชื่อต้นปี 63 ได้เห็นเปิดเสรีธุรกิจดาวเทียมในไทย ระบุส่วนปัญหาไทยคมกับดีอีแบบ“พีพีพี”หารือร่วมกันมาตลอดเราะหวั่นไทยเสียสิทธิวงโคจร หลังเอกชนจะหมดสัมปทานปี 64

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภายในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ตนจะนำ 3 หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจการดาวเทียม คือ แผนแม่บทกิจการดาวเทียม , การออกหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตการใช้ดาวเทียม และการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ (แลนด์ดิ้ง ไรท์) หลังจากได้ทำโฟกัส กรุ๊ป เรียบร้อยแล้ว เสนอเข้าคณะอนุกรรมการกิจการโทรคมนาคมคาดว่าภายใน 1-2 อาทิตย์ จะนำเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. จากนั้นจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในปลายเดือน ก.ย.- ต้น ต.ค.2562 และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา มั่นใจว่าภายในต้นปี 2563 จะสามารถเปิดให้ผู้สนใจทำธุรกิจดาวเทียมเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการได้อย่างเสรี

ส่วนเรื่องคลื่นดาวเทียมของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดวงที่ 4,5 และ 6 ที่จะหมดอายุในเดือน ส.ค. 2564 และดาวเทียมดวงที่ 7 และ 8 ที่อยู่ในอนุญาโตตุลาการ สิทธิของกระทรวงดีอี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการดาวเทียม ภายใต้สัญญาดำเนินการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกดวงที่มีอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ตามแนวทางของพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (พีพีพี) ซึ่งทรัพย์สินเป็นสิทธิของกระทรวงในการหาเอกชนมาบริหารจัดการต่อ หรือ อาจจะเป็นไทยคมรายเดิมก็ได้ แต่คลื่นต้องมาขออนุญาตกับกสทช.ตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมากสทช.ก็ได้หารือร่วมกับ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีมาโดยตลอดว่าต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนหมดสัญญาสัปทานเพราะกระบวนการในพีพีพีต้องใช้เวลา 2 ปี ซึ่งอาจจะไม่ทัน

นอกจากนี้ ตนได้เดินทางไปประชุมร่วมกับองค์กรโทรคมนาคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (เอพีที) ที่มีสมาชิก 38 ประเทศ ได้จัดประชุมเตรียมการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม 2019 หรือ APG19-5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอร่วมต่อที่ประชุม World Radiocommunication Conference: WRC ที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จะจัดขึ้นในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง คือ การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่สากลที่จะนำมาใช้ในเทคโนโลยี 5จีหรือ 6จีในอนาคต โดยมีการเสนอถึง 12 ย่านความถี่ล้วนเป็นย่านความถี่ที่สูงกว่า 24 กิกะเฮิรตซ์ทั้งสิ้น โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันใน 3 ย่านความถี่ ซึ่งสอดคล้องตามที่ประเทศไทยเสนอ ได้แก่ ย่านความถี่ 24.25-27.5 กิกะเฮิรตซ์, 37-43.5 กิกะเฮิรตซ์ และ 66-71 กิกะเฮิรตซ์ สำหรับย่านความถี่ที่เหลือยังไม่ได้ข้อสรุปหรือยังคงให้ใช้งานในกิจการเดิม เช่น 31.8-33.4 กิกะเฮิรตซ์หรือ 45.5-47 กิกะเฮิรตซ์