'รองปลัดแรงงาน' เผย ไทยมุ่งส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานภายใต้ฉันทามติอาเซียน
"รองปลัดแรงงาน" เผย ไทยมุ่งส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานภายใต้ฉันทามติอาเซียน
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวปราศรัยในที่ประชุม Policy Dialogue on the Implementation of the ASEAN Consensus on the Promotion and Protection of the Rights of Migrant Workers จัดโดยMigrant Working Group หัวข้อหลักการบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยภายใต้กรอบฉันทามติอาเซียนณ โรงแรมพาร์ค พลาซ่าสุขุมวิท 18 กรุงเทพฯ โดยรองปลัดกระทรวงแรงงานได้กล่าวเน้นย้ำถึงการดำเนินการในระดับภูมิภาคอาเซียน ทั้งการออกปฏิญญาเซบูว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว และฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว โดยที่ในภูมิภาคอาเซียนมีกลไกขับเคลื่อนหลัก คือ คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ACMW) สำหรับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยสอดรับกับฉันทามติอาเซียนฯ ซึ่งแบ่งประเด็นการดำเนินการเป็น 5 ประเด็น คือ 1) การศึกษา/ข้อมูลข่าวสาร 2) การคุ้มครอง 3) การบังคับใช้กฎหมาย 4) การขอความช่วยเหลือ และ 5) การคืนสู่สังคม
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า รัฐบาลพยายามจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ โดยให้ประเทศต้นทางได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการพิสูจน์สัญชาติแรงงานของตนและออกหนังสือเดินทางหรือหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้ยังได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU)กับประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนามเพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยถูกกฎหมาย ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย 3.2 ล้านคน ได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักมาตรฐานสากล อันเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานตั้งแต่ต้นทาง กระทรวงแรงงานยังได้ออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561เพื่อบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้มีระบบ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศและการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหากระบวนการขออนุญาต และความยากลำบากในการเปลี่ยนนายจ้าง การกำหนดห้ามนายจ้างยึดเอกสารประจำตัวคนต่างด้าว การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศให้ต้องจดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน เป็นต้น
นอกจากนั้น เพื่อส่งเสริมเรื่องการศึกษาและข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการคืนสู่สังคมของแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างเพื่อเป็นศูนย์ฯ ในการอบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU การตรวจ คัดกรอง แรงงานต่างด้าวว่ามีนายจ้างจริงตรงตามสัญญาจ้าง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย และเป็นจุดพักรอแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ และยังได้สร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนักในการไม่เกี่ยวข้องและให้เบาะแสการค้ามนุษย์ตามโครงการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าว โดยดำเนินการอบรมให้ความรู้กับนายจ้าง/สถานประกอบการได้เข้าใจบทบาท หน้าที่ การปฏิบัติต่อลูกจ้างและอบรมแรงงานต่างด้าวให้มีความรู้ ความเข้าใจในสิทธิ หน้าที่ กฎระเบียบ เพื่อป้องกันแรงงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และมีการจัดทำคู่มือสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าวเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาของแรงงานต่างด้าว (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เพื่อเป็นคู่มือให้แรงงานต่างด้าวได้รับทราบการปฏิบัติตัวในประเทศไทย การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ รวมถึงการขอรับความช่วยเหลือในประเทศไทย ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวใน 10 จังหวัด เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำประสานงานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่แรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหาจากการอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร กรมการจัดหางานได้จัดทำเว็บไซต์ DOE Help me 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน และยังมีสายด่วน 1506 ซึ่งมีบริการล่ามแปลภาษาด้วย การให้บริการล่ามยังครอบคลุมไปถึงการลดช่องว่างทางภาษาของแรงงานต่างด้าว โดยที่กระทรวงแรงงานดำเนินการจ้างล่ามและผู้ประสานงานด้านภาษาทำหน้าที่ประจำ ณ ศูนย์ต่าง ๆ อาทิ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างศูนย์ประสานแรงงานประมง เป็นต้น โดยกระทรวงแรงงานคำนึงถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในฐานะหุ้นส่วนทางสังคมที่สำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืนของพี่น้องแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง