บอร์ดมันสำปะหลัง เคาะมาตราการช่วยเหลือเกษตรกร
“จุรินทร์”เป็นประธานการประชุม นบมส. เห็นชอบของบกลาง 286 ล้านบาทช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทำลายโรคใบด่างมันสำปะหลัง 45,400 ไร่ พร้อมจ่ายชดเชยให้เกษตรกร 3,000 บาทต่อไร่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตราการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดการระบาดขึ้นใน 11 จังหวัด โดยที่ประชุมเห็นชอบที่จะขอใช้งบกลาง 286 ล้านบาทเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ้างเหมาเพื่อทำลายมันสำปะหลังที่เป็นโรค ป้องกันไม่ให้มีการระบายของโรคเพิ่มเติม และช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกทำลายผลผลิต โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อไปโดยวงเงินดังกล่าว แบ่งเป็นค่าจ้างเหมาในการทำลายมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ติดโรคใบด่างไร่ละ 3,000 บาท วงเงิน 136 ล้านบาท และอีก 136 ล้านบาท เป็นวงเงินสำหรับจ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรไร่ละ 3,000 บาท และอีก 14 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการ
สำหรับเงื่อนไขการแจ้งการพบโรค จะต้องแจ้งตั้งแต่ 1 ต.ค.2562-30 มิ.ย.2563 และแปลงมันที่ปลูก ต้องขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังปลูกตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2562 แต่ถ้าเกษตรกรยังใช้ท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาปลูก หลังจากวันที่ 30 ก.ย.2562 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาใช้พ.ร.บ.กักกันพืช พ.ศ.2551 ประกาศเป็นเขตควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่สามารถทำลายมันสำปะหลังที่ปลูกได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป ทั้งนี้เกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ไม่ได้แจ้งหรือทำลาย จะไม่ได้รับค่าชดเชยจากโครงการดังกล่าว
“ในพื้นที่ 11 จังหวัด ที่มีการระบาดของโรคใบด่าง มีพื้นที่ประมาณ 45,400 ไร่ คิดเป็น 1%ของพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศที่มีปริมาณ 5 ล้านไร่”
นายจุรินทร์ กล่าวว่า คณะกรรมการ นบมส. จะหมดอายุลงในวันที่ 30 ก.ย.2562 ได้มอบนโยบายในการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ คณะกรรมการจะต้องประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง