‘เวียดนาม’หายใจรดต้นคอ ส่งออกข้าวไทย
ข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่มีส่วนเกี่ยวข้องผู้คนจำนวนมาก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆต่อสินค้านี้จึงส่งผลกระทบในวงกว้างได้ ปัจจัยคู่แข่ง อย่างเวียดนามที่กำลังเผชิญทั้งด้านบวกและลบต่อการส่งออกข้าวของไทยในฐานะเบอร์หนึ่งของโลกมาโดยตลอด
รายงานสถานการณ์ภาพรวมสินค้าข้าวในประเทศเวียดนาม โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ เปิดเผยโดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากสื่อในประเทศเวียดนามระบุว่า คาดว่าตลาดข้าวเวียดนามน่าจะกำลังเข้าสู่ช่วง ที่ยากลำบาก เนื่องจาก Supply ข้าวในตลาดโลกยังคงมีปริมาณมาก ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงพบว่าราคาข้าวเวียดนามลดลงต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี หรือลดลง ถึง 19% จากปัจจัยด้านราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งทำให้ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน34.5% จากปริมาณการส่งออกของเวียดนามทั้งหมด ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.- ก.ค.) ปริมาณ 1.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.2 เท่าตัว มูลค่ากว่า 589 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.7 เท่าตัว
ภาพรวมการส่งออกข้าว ในช่วงม.ค. –ส.ค. 2562 เวียดนามส่งออกข้าวได้ปริมาณรวม 4.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 โดยมีมูลค่าการส่งออก (ราคา FOB) รวม 2.0 ล้านดอลลาร์ ลดลง14.9%
ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ 5 อันดับแรกของเวียดนาม ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 157% จีน ลดลง67% มาเลเชีย ลดลง10.5% โกตดิวัวร์ เพิ่มขึ้น57% และ เพิ่มขึ้น 34.8%
ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามพบว่าแม้จะส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ได้สูงขึ้นมากกว่าเท่าตัวแต่ผลประกอบการจริงกลับพบว่าอยู่ในภาวะขาดทุนเนื่องจากเกิดการตัดราคากันเองระหว่างผู้ส่งออกเวียดนาม หลังจากที่ิฟิลิปปินส์เปลี่ยนระบบนำเข้าข้าวจากเดิมดำเนินการโดยรัฐมาเป็นระบบเสรีที่เอกชนดำเนินการได้เอง
ระบบเสรีดังกล่าวหากมองผิวเผินไทยควรได้เข้าไปมีส่วนแข่งขันด้วยแต่ในทางปฎิบัติจริงผู้ส่งออกไทยกำลังเผชิญภาวะยุ่งยากจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าอย่างหนักทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับเวียดนามได้
โดยข้าว 5% ไทยจะมีส่วนต่างราคากับเวียดนามที่ 60-80 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะตลาดฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในเกือบทุกตลาด ทำให้การส่งออกข้าวของไทยปีนี้ไม่สดใส
“ไทยกับเวียดนามถือเป็นคู่แข่งโดยตรงในตลาดฟิลิปปินส์ ที่มีความต้องการนำเข้าเฉลี่ยปีละ1.6-1.7 ล้านตัน และมีอัตราภาษีเท่ากันในฐานะสมาชิกอาเซียนที่ 35% ขณะที่ประเทศนอกภูมิภาคอยู่ที่ 50% ซึ่งเวียดนามไม่มีปัญหาค่าเงินผิดกับไทยที่เงินบาทแข็งค่าทำให้การส่งออกข้าวอย่างน้อยในตลาดนี้ไร้ความสามารถแข่งขันโดยสิ้นเชิง”
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ควรทิ้งตลาดนี้ แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์ตลาดข้าวโลกจะเผชิญความกดดันอย่างนี้ไปอีกนานเท่าใด แต่ทางการไทยควรสร้างความสัมพันธ์ระดับประเทศกับฟิลิปปินส์ไว้เพื่อให้ไทยยังอยู่ในกลุ่มผู้ขายข้าวให้ฟิลิปปินส์ต่อไปหากโอกาสเหมาะกลับมา
ไทยส่งออกไปตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2560 ปริมาณ 2.9 แสนตัน ต่อมาปี 2561 ปริมาณ 1.0 ล้านตัน และช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออก 2.8 แสนตัน หรือลดลง 37% ในช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนภาพรวมการส่งออกข้าวไทยปีนี้ ถือว่ามีเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญที่กำลังเร่งส่งออกอย่างต่อเนื่องและพยายามเข้าทำตลาดในหลายประเทศด้วยปัจจัยที่ได้เปรียบเหนือกว่าไทยหลายด้าน นอกจากปัจจัยด้านราคา
ทางการเวียดนาม ประเมินว่าข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับเวียดนาม (EVFTA) จะช่วยมูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 20% ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 42.7% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้น44.37% ในปี 2573
ท่ามกลางข่าวดีก็มีปัจจัยแฝงโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามชี้ว่า เวียดนามกำลังพบกับความยากลำบากในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากจีน อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ ได้ลดการนำเข้าลง จากนโยบายการสนับสนุนการผลิตข้าวในประเทศ และในบางประเทศยังมี สต๊อกข้าวเหลือจำนวนมาก
ปัจจัยดังกล่าวนี้ก็จะกระทบการส่งออกข้าวของไทยด้วย และหากการส่งออกไม่ดี ผลสะท้อนกลับคือราคาข้าวในประเทศจะได้รับผลกระทบและนั่นหมายถึงรายได้คนไทยจำนวนมากที่มีอาชีพ “ชาวนา”