จับตา”สิงคโปร์”ใช้อาเซียน ฐานผลิตบุก“อียู”
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนา“โอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป(อียู) เพื่อเตรียมการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู หลังจากหยุดชะงักไป 6 ปี ตั้งแตปี 2557 หรือหลังการรัฐประหารของไทย
กระทั่งไทยมีการเลือกตั้งและเป็นประชาธิปไตยแล้วความพยายามฟื้นการเจรจาข้อตกลงฉบับนี้จึงเริ่มต้นขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ดำเนินการศึกษาผลกระทบควบคู่ไปกับการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านรวมทั้งรับฟังความเห็นในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเดือน พ.ย.
ชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากไทยยังไม่ทำเอฟทีเอกับอียูก็จะทำให้สูญเสียประโยชน์ทางการค้า โดยขณะนี้สมาชิกอาเซียนที่ทำเอฟทีเอกับอียูนอกจากเวียดนามแล้วก็มีสิงคโปร์ ซึ่งกรณีของสิงคโปร์นี้ถือว่าได้เปรียบไทยเพราะความเป็นนักการค้ามีความเชี่ยวชาญด้านอาหารและภาคบริการซึ่งไทยเสียเปรียบโดยเฉพาะหมวดอาหารสำเร็จรูป
“สิงคโปร์ยื่นการได้สิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าในอาเซียน ทำให้ไม่ว่าสิงคโปร์มีโรงงานในประเทศใดในอาเซียน ก็จะสามารถส่งออกสินค้านั้นๆไปอียูและได้สิทธิพิเศษทางภาษี ตามข้อตกลงเอฟทีเอ”
ประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่รัฐต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือพร้อมกับศึกษากรณีอังกฤษออกจากเป็นสมาชิกอียูหรือเบร็กซิท ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสเพิ่มมาตรฐานตามที่อียูกำหนดทั้งในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ จะเสนอให้รัฐเรื่องจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการหรือเกษตรกรในประเทศที่ได้รับการเยียวยาและเตรียมความพร้อมให้เกิดการแข่งขันได้ในระยะยาว
สำหรับความเคลื่อนไหวต่อเอฟทีเอไทย-อียู ไม่ได้มีแต่เพียงภาครัฐเท่านั้น แต่ยังพบว่าตัวแทนภาคประชาสังคมและภาควิชาการที่ทำงานติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขอให้ทบทวนเพราะมีประเด็นอ่อนไหวหลายประเด็นรวมถึงในแง่มุมที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และระบบสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า มีข้อกังวลหลายประเด็น เช่น การมีข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินไปกว่าที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) ทำให้เกิดการผูกขาดในภาคการเกษตรด้านระบบสุขภาพ ข้อผูกพันดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา
“ข้อผูกพันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน อย่างที่เคยปรากฏในร่างความตกลงฉบับก่อน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรง จากราคายาที่สูงขึ้นอย่างมากและการถูกจำกัดการออกหรือใช้นโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน”
ก่อนการเจรจาข้อตกลงใดๆ จะต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม โดยสำหรับการประเมินผลกระทบจากข้อตกลงฉบับนี้ในเบื้องต้น โดยสถาบันอนาคตศึกษาฯภายใต้โครงการศึกษาการจัดทำความตกลงการค้าเสรีฯ
ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เอฟทีเอกับอียู จะส่งผลให้จีดีพีประเทศขยายตัว 1.7 %หรือ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยภาคอุตสาหกรรมจะทำให้ระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก ธุรกิจก่อสร้าง
ขณะที่อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตภัณฑ์นม น้ำนมดิบ น้ำตาล เครื่องดื่มและยาสูบ อ้อย เป็นต้น ขณะที่การมีเอฟทีเอไทยอียูไม่ได้ทำความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยลดลงแต่ความยากจนหรือคนจนมีปริมาณลดลงจาก 7.6 % หรือ 7 % หรือลดลง 4 แสนคน ทั้งนี้ผลการศึกษาทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นต้นเดือนพ.ย.นี้