“โดนัลด์ ทรัมป์”งานเข้า-ถูกสอบอิมพีชเมนท์
คาดว่าผลของกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่ผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภาที่มี ส.ว. รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก เพราะขั้นตอนนี้ต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3
การเมืองสหรัฐ เริ่มส่งสัญญาณความวุ่นวายให้เห็น หลังจากการโทรศัพท์หารือกับผู้นำยูเครนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เป็นชนวนเหตุทำให้ตัวเขาถูกดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นทางการ ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะนำไปสู่การลงมติให้อิมพีชเมนท์ หรือถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ
เมื่อวานนี้(25ก.ย.) นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ประกาศเริ่มต้นกระบวนการสอบสวนอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดญัตติอภิปรายและลงมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐ โดยเปโลซีกล่าวว่า การกระบวนการถอดถอนทรัมป์เป็นผลจากการที่ผู้นำสหรัฐละเมิดรัฐธรรมนูญจากการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งหมายถึงยูเครน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเสื่อมเสียให้กับอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีแนวโน้มจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีกับทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.ปีหน้า
ด้านทรัมป์ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่าเป็นกระบวนการล่าแม่มดที่แสนจะสกปรก เพื่อกำจัดเขา แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เปโลซี ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสมาชิกพรรคเดโมแครต ที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องการพิจารณาถอดถอนผู้นำสหรัฐมาตลอด แต่เธอยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนใจคือ รายงานของสื่อกระแสหลักหลายแห่ง ซึ่งอ้างแหล่งข่าวในทำเนียบขาว ว่า ทรัมป์สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งบังคับข่มขู่อีกฝ่ายอย่างน้อย 8 ครั้งให้รื้อฟื้นการสอบสวนการคอร์รัปชั่นของนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของอดีตรองผู้นำสหรัฐ ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่แห่งหนึ่งของยูเครน
ตามรายงานของสื่อระบุว่า ทรัมป์อ้างถึงการที่ไบเดนตั้งเงื่อนไขระงับความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่รัฐบาลยูเครนในยุคนั้น หากยังคงเดินหน้าตรวจสอบบุตรชายของเขา ส่วนทรัมป์ขู่ระงับเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลของเซเลนสกีเช่นกัน ในฐานะที่ให้การสนับสนุนการคอร์รัปชั่น แม้กระทรวงการต่างประเทศของยูเครนจะยืนกรานปฏิเสธว่าไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของสหรัฐ
หากกระบวนการถอดถอนทรัมป์เกิดขึ้นจริงก็ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 ที่สภาคองเกรส ดำเนินการกับประธานาธิบดี คลินตัน ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น ฐานให้การเท็จและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม จากกรณีมีความสัมพันธ์อื้อฉาว ในทำเนียบขาว แม้สภาผู้แทนราษฎร มีมติถอดถอนคลินตัน แต่อีก 2 เดือนต่อมา วุฒิสภาเพิกถอนมติของสภาล่าง และคลินตันดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนครบ 2 สมัย สะท้อนให้เห็นว่า การลงมติถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐเป็นเรื่องของการคานอำนาจระหว่างสองสภาและสองพรรคการเมืองใหญ่
ขั้นตอนหลังจากนี้คือจะมีการสืบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ โดยคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องรวม 6 ชุด ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการฝ่ายตุลาการ ฝ่ายการข่าวกรอง ฝ่ายพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายสอบสวน และฝ่ายการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากเดโมแครตต้องการถอดถอนทรัมป์ คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาล่างจะต้องส่งรายงานที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนถึง เจอร์รี แนดเลอร์ ประธานฝ่ายตุลาการของสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ความเห็นชอบของเปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นจะมีการลงมติรับรองกันภายใน ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเต็มคณะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สภาล่างโหวตถอดถอนทรัมป์ได้สำเร็จ แต่คาดว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบในวุฒิสภาที่มี ส.ว. รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก เพราะขั้นตอนนี้ต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 จึงจะถอดถอนสำเร็จ แต่หากมีการถอดถอนทรัมป์จริง ลำดับของผู้ที่จะรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีแทนคือรองประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และรัฐมนตรีต่างประเทศ
ด้านคู่กรณี “โจ ไบเดน” ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต เรียกร้องให้สภาคองเกรสถอดถอนทรัมป์ หากเขาไม่ปฏิบัติตามการสอบสวนกรณีเปิดทางให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐ
“โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องออกจากสภาคองเกรส ในมุมมองของผม ผมมองว่าไม่มีทางเลือกนอกจากจะเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน นั่นจะเป็นโศกนาฏกรรม แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่เขาทำตัวเอง” นายไบเดนกล่าว ที่วิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ พร้อมทั้งกล่าวหาปธน.ทรัมป์ว่า ปกปิดข้อมูลที่เกี่ยวกับการคุยโทรศัพท์กับปธน.ยูเครน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางสภาคองเกรสร้องขอ
“การปฏิเสธการให้ข้อมูลกับสภาคองเกรส และขัดขวางความพยายามในการสอบสวน ไม่ใช่การกระทำของประธานาธิบดีอเมริกัน เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด” นายไบเดน ซึ่งเคยเป็นอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการอยู่หรือไปของทรัมป์ ส่งผลต่อตลาดหุ้นในเอเชียโดยตรง ทำให้หลายตลาดปิดทำการปรับตัวร่วงลง เริ่มจากดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ปรับตัวลง 78.69 จุด หรือ 0.36% แตะที่ระดับ 22,020.15 จุด โดยหุ้นที่ปรับตัวลงนำโดยหุ้นกลุ่มเครื่องจักร กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันและถ่านหิน
นอกจากนักลงทุนจะวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนทางการเมืองในสหรัฐแล้ว ยังวิตกว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจสะดุดลง หลังจากปธน.ทรัมป์กล่าววิพากษ์วิจารณ์จีนในเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ(ยูเอ็น)โดยบอกว่าจีนมีการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และเขาจะไม่ยอมรับข้อตกลงการค้าที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียเปรียบ
ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี/เอเอสเอ็กซ์ 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปิดตลาดปรับตัวลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ รวมทั้งแนวโน้มการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) และการตอบโต้ระหว่างจีนและสหรัฐในช่วงเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามเจรจาข้อตกลงการค้ากันอีก
ดัชนีเอสแอนด์พี/เอเอสเอ็กซ์ 200 อ่อนตัว 38.70 จุด หรือ 0.57% ปิดที่ 6,710.20 จุด ดัชนี ALL ORDINARIES ตลาดหุ้นออสเตรเลียปิดวันนี้ที่ 6,814.70 จุด ลดลง 41.90 จุด, -0.61%
ดัชนีคอมโพสิต ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปิดปรับตัวร่วงลง 27.65 จุด หรือ 1.32% ปิดที่ 2,073.39 จุด มีปริมาณการซื้อขายปานกลางที่ 640 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 5.1 ล้านล้านวอน (4.3 พันล้านดอลลาร์) มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในสัดส่วน 757 ต่อ 108 โดยหุ้นซัมซุง ปรับตัวลดลง 1.21% ขณะที่หุ้นเอสเค ไฮนิกซ์ ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ปรับตัวลดลง 1.8%
ส่วนตลาดหุ้นยุโรป เปิดตลาดวานนี้ (25ก.ย.)อ่อนตัวลง เริ่มจากดัชนี European Stoxx 600 อ่อนตัว 0.6% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเปิดวันนี้ที่ 5,598.50 จุด ลดลง 29.83 จุด, -0.53% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันเปิดวันนี้ที่ 12,250.08 จุด ลดลง 57.07 จุด, -0.46%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ผวาสงครามการค้าสหรัฐ-จีนแรงขึ้นฉุดดาวโจนส์ทรุดกว่า600จุด
-นักเศรษฐศาสตร์คาดอีก 2 ปีเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย
-ตลาดหุ้นสหรัฐปิดไร้ทิศทาง
-'โกลด์แมน แซคส์'เตือนสงครามการค้าฉุดศก.สหรัฐถดถอย