สัมพันธ์‘สหรัฐ-จีน’ ยิ่งนานยิ่งร้าว
นับตั้งแต่จีนคอมมิวนิสต์ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 70 ปีก่อน การอยู่ร่วมโลกกับสหรัฐถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องจับตามอง
ครั้งหนึ่งสองประเทศสุดขั้วนี้เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่นานวันความเป็นปรปักษ์กลับเพิ่มขึ้นทุกที เห็นได้ชัดจากเวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ)
บนเวทีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า ยุคของการอดทนต่อการละเมิดของจีนได้สิ้นสุดลงแล้ว
ขณะที่ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน สวนกลับว่า ประเทศของตนที่มีอารยธรรมนาน 5,000 ปีไม่เคยกลัวภัยคุกคาม จนแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ต้องแถลงแสดงถึงความกังวล พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกัน
“ผมเกรงจะเกิดการแตกหักครั้งใหญ่ โลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว สองเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดบนผืนพิภพกำลังสร้างโลก 2 ใบและแข่งขันกัน แต่ละฝ่ายต่างมีสกุลเงินหลักของตนเอง มีระเบียบการค้า การเงิน ขีดความสามารถด้านอินเทอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ของตนเอง มียุทธศาสตร์การทหารและภูมิรัฐศาสตร์แบบผู้ชนะได้ทั้งหมดของตนเอง” เลขาฯ ยูเอ็นย้ำชัด
จีนจะเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี เหมาเจ๋อตงสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ขณะนี้นำโดย “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีผู้ทรงอำนาจที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งจีนคอมมิวนิสต์
สหรัฐปรับความสัมพันธ์ทางการทูตเข้าสู่ระดับปกติกับจีนในทศวรรษ 70 ผู้นำวอชิงตันเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับแดนมังกร แม้หลังเกิดเหตุกองทัพสังหารผู้ประท้วงหลายร้อยหรืออาจถึงหลายพันรายที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532
ประธานาธิบดีบิล คลินตัน เลิกผูกประเด็นสิทธิมนุษยชนกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับจีน ด้วยมองว่า การเกี่ยวพันกับโลกแล้วพัฒนาเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจีนได้
“สองทศวรรษต่อมาเป็นบททดสอบและพิสูจน์แล้วว่า ทฤษฎีผิดอย่างสิ้นเชิง” ทรัมป์กล่าวกลางเวทียูเอ็น
ส่วน หวัง กล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำ นอกรอบการประชุมผู้นำ เตือนสหรัฐที่หลงลืมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานหลายสิบปีแต่กลับมาหาทางสกัดจีนแทนว่า ความคิดแบบนี้ไม่มีวันได้ผล
“70 ปีผ่านไป สหรัฐไม่ควรเริ่มต่อสู้อย่างผิดพลาดผิดประเทศอีก”
ทรัมป์เปิดฉากความขัดแย้งด้วยสงครามการค้าเก็บภาษีหลายพันล้านดอลลาร์ พร้อมเรียกร้องให้จีนยุติการค้าไม่เป็นธรรมและเลิกขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐเสียที แต่จะว่าไปแล้วรอบนี้สหรัฐเปิดหลายแนวรบ ทรัมป์ใช้สปีชในเวทียูเอ็นเตือนจีนไม่ให้ทำลายเสรีภาพฮ่องกง จากเดิมที่เขาค่อนข้างระมัดระวังท่าทีกับประเด็นฮ่องกง
และบนเวทียูเอ็นนี่เองที่สหรัฐยังถือโอกาสระดมแรงกดดันต่อรัฐบาลปักกิ่ง ตั้งแต่ให้เลิกกักขังชาวอุยกูร์ และชาวมุสลิมพูดภาษาเติร์กราว 1 ล้านคน ไปจนถึงผลักดันนานาประเทศไม่ให้สังฆกรรมกับหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แดนมังกร
แต่ก็มีคำถามตามมาว่าสหรัฐคิดดีแล้วหรือที่ทำท่าทีแข็งกร้าวเช่นนั้น
“แค่เผชิญหน้ากับจีนมากกว่าเดิมไม่ได้ทำให้เราแข่งขันได้” โรเบิร์ต เมเนนเดซ ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต แถลงเมื่อไม่นานมานี้
เขาเรียกร้องทรัมป์ ผู้ชื่นชอบผู้นำเผด็จการ ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนทั่วโลกให้มากขึ้น
นักวิจารณ์ยังระบุถึงความตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) กลุ่มความร่วมมือขนาดใหญ่ที่ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย ว่าเป็นโอกาสให้สหรัฐสามารถกำหนดระเบียบการค้าในเอเชียได้ แต่ทรัมป์ก็นำสหรัฐถอนตัวออกไป ซึ่งเจ้าตัวชี้แจงว่า ข้อตกลงทีพีพีที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาเป็นตัวตั้งตัวตีนั้น สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและแรงงานอเมริกัน ท่าทีของทรัมป์สอดรับกับสหภาพแรงงานรายใหญ่ในประเทศ
คิรอน สกินเนอร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนนโยบาย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยว่า รัฐบาลทรัมป์กำลังร่างยุทธศาสตร์ว่าด้วยจีน ตามแนวทางที่สหรัฐเคยใช้สกัดกั้นการเผยแพร่อุดมการณ์ของสหภาพโซเวียต
บทความล่าสุดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของออดด์ อาร์เน เวสตัด นักวิชาการด้านสงครามเย็นและจีน จากมหาวิทยาลัยเยล ระบุว่า มหาอำนาจเอเชียรายนี้แตกต่างจากสหภาพโซเวียตอย่างเห็นได้ชัด
จีนไม่ได้สนใจเผยแพร่อุดมการณ์ไปต่างประเทศ ในทางกลับกันจีนได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิชาตินิยมและมุ่งแสวงหาความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ
“ยิ่งสหรัฐกับจีนเล่นงานกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้กับมหาอำนาจอื่น ผลก็คือต่อไปอาจจะเกิดโลกแห่งเจ้าพ่อประจำภูมิภาค ไม่ช้าก็เร็ว”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ทรัมป์”ยืนยันสหรัฐปลิดชีพลูกชายบินลาเด็น
“ทรัมป์”สั่งปล่อยน้ำมันคลังสำรองยุทธศาสตร์
'ทรัมป์' โวดาวโจนส์อาจพุ่งหมื่นจุดหากไม่มีสงครามการค้า
“ทรัมป์”ยืนยันเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามแผน