รัฐนำร่องดัน 4 เมืองเก่า “สมาร์ทซิตี้”
ภาครัฐ เร่ง ผลักดันเมืองอัจฉริยะ “อีอีซี” นำร่อง 4 เมืองเก่า “แหลมฉบัง-พัทยา-บางแสน-ระยอง” พัฒนาสู่สมาร์ทซิตี้ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการผลักดันการพัฒนา เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) และเมืองแห่งนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบหลายปัจจัยทั้งการวางผังเมือง การออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่สามารถตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันอย่างชาญฉลาด
รวมถึงการหยิบเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างความสะดวก สบาย และปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ประเทศไทยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการเมือง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งด้านที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบาย สร้างเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า รวมถึงมีสังคมและมีความสุขอย่างยั่งยืน
โดยภาครัฐได้ตั้งเป้า 10 เมือง ใน 7 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนเพื่อพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย และจะขยายสู่ 100 เมือง 77 จังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2565 เพื่อเป็นศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะอาเซียน และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กันในภูมิภาค เพื่อผลักดันอาเซียนให้ทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นของโลก
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนโครงการของรัฐบาล จึงได้จัดงาน ASA Real Estate Forum 2019 ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Smart & Innovative Cities for all” ในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ที่สยามพารากอนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม ทั้งการออกแบบโครงสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยและประโยชน์การใช้สอยอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ออกแบบเมืองให้ตอบโจทย์
นายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การสร้างเมืองอัจฉริยะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้กำหนดกรอบการพัฒนาเมืองอัจตฉริยะจะต้องอยู่ในแนวทางการพัฒนา 7 ด้าน ได้แก่ 1.Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ 2.Smart Government การปกครองอัจฉริยะ
3.Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ 4.Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ 5.Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ 6.Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะ และ 7.Smart People ประชาชนอัจฉริยะ โดยองค์ประกอบของสมาร์ทซิตี้จะต้องประกอบด้วย 2 ด้าน ซึ่งจะมี 1 ด้านเป็นหลัก ได้แก่ Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ และอีก 1 ด้านตามความเหมาะสมของพื้นที่
ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีไฮเทคชั้นสูง แต่เป็นเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของประชาชนให้ได้ตรงจุด และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่การระดมความคิดของคนในชุมชนเพื่อหาความต้องการของเมืองให้ได้ เมื่อได้ความต้องการของเมืองแล้วก็จะต้องดูเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะต้องมีอะไรบ้าง จากนั้นก็ต้องนำเอกชนเข้ามาร่วมหารือเพื่อจัดทำแผนธุรกิจที่เหมาะสมเพื่อให้สมาร์ทซิตี้แต่ละด้านสามารถเลี้ยงตัวเองมีผลกำไรต่อไปได้