‘อีอีซี’ โมเดลสร้างสมดุล 'เศรษฐกิจ'

‘อีอีซี’ โมเดลสร้างสมดุล 'เศรษฐกิจ'

“อุตตม” ชู อีอีซี ต้นแบบปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ความสมดุล ยกระดับฐานรากถึงไฮเทค-จุดเริ่มต้นปรับโครงสร้างประเทศ “สาธิต” ยกระดับสาธารณสุข 3 จังหวัด รองรับแรงงาน-นักท่องเที่ยวต่างชาติ

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนา “EEC NEXT” : มหานครการบิน ฮับโลจิสติกส์แห่งอาเซียนโดยมีผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมเพื่อนำเสนอแนวทางการผลักดันเขตพัมนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วานนี้ (5 ต.ค.) ที่โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จ.ระยอง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปาฐกถาพิเศษว่า ใน 3 จังหวัด อีอีซี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยมากว่า 35 ปี ทำให้ต่อยอดไปสู่อีอีซีได้อย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ อีอีซีไม่ได้เป็นเพียงการต่อยอดภาคอุตสาหกรรม แต่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศ โดยอีอีซีจะปรับเปลี่ยนภาคตะวันออกให้มีกำลังมากขึ้น ซึ่งหากไม่มีอีอีซีจะทำให้ไทยเติบโตอย่างไม่เต็มศักยภาพและยกระดับประเทศได้ยาก

นายอุตตม กล่าวว่า วันนี้กระแสโลกและเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และหากไทยพัฒนาแบบเดิมจะพลาดขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในวันนี้การเปลี่ยนแปลงในอีอีซีจะเริ่มจากเศรษฐกิจก่อน เพราะเป็นตัวที่สร้างความมั่นคง เพื่อที่จะส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและด้านอื่นๆต่อไป ทำให้ไทยปรับเปลี่ยนไปสู่อนาคตข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาที่สะสมในอดีตได้

อีอีซีโมเดลเปลี่ยนประเทศ

รวมทั้งทุกวันนี้แม้ว่าไทยจะพัฒนามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่ก็ยังมีปัญหาด้านโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้โลกปรับเปลี่ยนไทยจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนในเวลานี้ เพราะทุกประเทศรอบบ้านต่างก็เร่งปรับตัวดึงดูดการลงทุน และเข้ามาแย่งตลาดการค้า ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วไทยยังมีศักยภาพสูงมาก โดยรัฐบาลมองพื้นที่ตะวันออกเป็นจุดที่เหมาะสมมากและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับเปลี่ยนประเทศ

หัวใจของการปรับเปลี่ยน คือ ประชาชน และทุกโครงการต้องตอบโจทย์ว่าประชาชนได้อะไร มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเยียวยาอย่างไร ซึ่งเป็นหลักการที่ยึดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นอีอีซี

ทั้งนี้ รัฐบาลจึงได้ผลักดันให้มี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขึ้นมารองรับการพัฒนาอีอีซี รวมทั้งทำให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขึ้นมารับผิดชอบทำให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจว่าอีอีซีจะเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำเงินเข้ามาลงทุนหลักแสนล้านบาท ซึ่งในวันนี้ทั่วโลกต่างรู้จักอีอีซีและสนใจที่จะเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้มีชาวต่างชาติและคนในต่างพื้นที่มาลงทุน ทำงาน และท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

สร้างกลไกรองรับการพัฒนา

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญด้านการปรับเปลี่ยนด้านสาธารณสุขในอีอีซีเป็นระบบสมัยใหม่ ซึ่งอีอีซีเหมาะสมมากที่จะเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจบริการสุขภาพ สร้างรายได้ในส่วนนี้จากชาวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้จังหวัดระยองไม่เพียงแต่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรม แต่ยังโดดเด่นด้านธุรกิจดูแลสุขภาพด้วย รวมทั้งการปรับปรุงระบบสาธารณสุขทั้งระบบ เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่

โดยในอนาคตจะมีอีกหลายสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน อีอีซี เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลจากความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของจีดีพี อันเนื่องมาจากอิสเทิร์นซีบอร์ดที่ทำให้ไทยผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ไทยต้องพึ่งพาการส่งออกมากจนขาดความสมดุล ภาคธุรกิจบางส่วนขาดการพัฒนา ภาคการเกษตรวนอยู่กับการแปรรูปขั้นพื้นฐาน หรือส่งออกในรูปวัตถุดิบ 

หวังสร้างสมดุลเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ อีอีซีจะทำให้เศรษฐกิจเกิดความสมดุลในรูปแบบใหม่ ทั้งการผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การยกระดับธุรกิจบริการด้านใหม่ๆที่มีรายได้สูง เช่น บริการทางการแพทย์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจด้านดิจิทัล และออนไลน์ การแปรรูปสินค้าเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะจะทำให้เกิดการปรับตัวตั้งแต่สินค้ารากฐานทางการเกษตรไปจนถึงอุตสาหกรรมไฮเทคส่งออก จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งทั้งระบบ สร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจไทย

อีอีซีจะเป็นจุดนำร่องต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจทั้งระบบที่จะขยายไปทั่วทั้งประเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ฐานรากไปสู่การลงทุนมูลค่ามหาศาลเพื่ออนาคตทั้งเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ หากไม่มีจุดเริ่มต้นที่เป็นตัวอย่าง ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งประเทศ ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตอย่างอ่อนล้า และไม่ทันต่อการแข่งขันของโลก

ต้นแบบพัฒนาบุคลากร

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือการลงทุนเรื่องคนให้เหมาะกับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในอีอีซีจะเน้นในการสร้างบุคลากรด้านอาชีวะโดยได้เข้าไปสร้างพันธมิตรกับต่างประเทศ เน้นสร้างบุคลากรเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวะ เพื่อสร้างบุคลากรเข้ามาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอีอีซีจะเป็นโมเดลต้นแบบในการผลิตบุคลากรทั่วประเทศ โดย อีอีซี จะขับเคลื่อนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการสร้างคน ซึ่งอีอีซีจะไม่โดดเด่นเพียงที่เดียวแต่จะเป็นตัวเร่งในการปรับเปลี่ยนไปทั่วประเทศ

โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเริ่มต้น ในการผลักดันกฎหมายและผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ในขณะนี้ได้เดินหน้าไปตามแผนการที่วางไว้บางโครงการลงทุนขนาดใหญ่ก็ได้ลงนามได้ตัวผู้ดำเนินการแล้ว บางโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้ต่างชาติเห็นว่าเป้าหมายของไทยอยู่ตรงไหน และกำลังทำให้เห็นขึ้นจริง ทำให้ต่างชาติสนใจในความเคลื่อนไหวของอีอีซี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศปรับเปลี่ยนประเทศอย่างยั่งยืนให้คนไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสอีกมากของประเทศไทย

เร่งยกระดับระบบสาธารณสุข

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในหัวข้อ “เปิดเผนภาครัฐ...เตรียมพร้อมรับมือเมืองขยายว่า อีอีซีจะเป็นธงนำของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ระยอง ที่แบกรับการเป็นธงนำทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคอีสเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาอีอีซีต่อจากนี้จะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านอื่นทั้งสาธารณสุข การเกษตรและการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการพัฒนาด้านสาธารณสุขจะช่วยสร้างสมดุลของการพัฒนาอีอีซีได้ เนื่องจากการพัฒนาอีอีซีจะทำให้มีทั้งนักท่องเที่ยวและแรงงานจำนวนมากเข้ามาในอีอีซี ซึ่งปัจจุบันอีอีซีมีประชากร 2.8 ล้านคน และอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากร 9.8 ล้านคน

ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดมี 55 แห่ง 7,471 เตียงซึ่งเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาด้านสาธารณสุขในพื้นที่อีอีซีจะต้องพัฒนาให้สถานพยาบาลในจังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทราอยู่ระดับทุติยภูมิที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่กรุงเทพฯ โดยการดำเนินงานผ่านอีอีซีจะเสนอให้มีการจ้างแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาประจำในโรงพยาบาลในอีอีซีได้

ชงจ้างหมอ-พยาบาลพิเศษ

กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถขออัตราข้าราชการเพิ่มไม่ได้ โดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรถึง 3 แสนคน จึงต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายประจำสูง ซึ่งทำให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อให้จ้างแพทย์และพยาบาลพิเศษ โดยอาจจ้างในอัตราสูงได้เพียงแต่ไม่ได้รับสวัสดิการเท่ากับบุคลากรอื่นนายสาธิต กล่าว

นายยุทธพล องอาจอิทธิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า การพัฒนาอีอีซีในจังหวัดระยองมีการผลักดันโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการปลุกเศรษฐกิจระยองให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยภาครัฐต้องการให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวครอบคลุมภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวด้วย เพื่อให้ทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว เติบโตไปพร้อมกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัมนาทุกส่วนไปพร้อมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ