ทุน 'ลอรีอัล' ดันเพิ่มสัดส่วน‘สตรีนักวิทย์’
ลอรีอัลเปิดตัวสตรีผู้ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล 5 คนใน 2 สาขา ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและวิทยาศาสตร์กายภาพ หวังเป็นฟันเฟืองเพิ่มผู้หญิงในอาชีพนักวิจัย เผยผลสำรวจ “เมียนมา” มีสตรีนักวิทย์สูงสุดในเอเชียแปซิฟิก
บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานโดดเด่น และมีอายุระหว่าง 25-40 ปีที่ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2562 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 รวมให้ทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 65 คน
นางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ เปิดเผยว่า โลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการผู้หญิง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ลอรีอัลจึงเดินหน้าโครงการทุนวิจัยฯ เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีสร้างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศชาติ และผลักดันให้สามารถก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ในระดับสากล โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 ในต่างประเทศ รวมให้การสนับสนุนไปแล้วกว่า 3,100 ทุนใน 117 ประเทศ
“สัดส่วนนักศึกษาหญิงและชายที่เรียนสายวิทยาศาสตร์จะใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเข้าสู่วัยทำงานพบว่าสัดส่วนนักวิทย์ฯผู้หญิงลดเหลือ 29% และมีเพียง 10% ที่สามารถขึ้นสู่ระดับท็อป ขณะที่รางวัลระดับโลกอย่างโนเบลซึ่งจัดมากว่า 30 ปี พบว่ามีผู้หญิงได้รับรางวัลเพียง 3% เท่านั้น ทุนวิจัยลอรีอัลจึงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยที่มีสัดส่วนเพียง 29% ของนักวิทยาศาสตร์สตรีทั่วโลก"
ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจสตรีนักวิจัยในทวีปต่างๆ พบว่า ในเอเชียแปซิฟิก เมียนมามีสัดส่วนสูงสุด 85.5% เนปาลต่ำสุด 7.8% ยุโรป ลัตเวียสูงสุด 51.1% เนเธอร์แลนด์ต่ำสุด 25.4% ทวีปอเมริกา สูงสุดที่โบลิเวีย 62.7% เปรูต่ำสุด 30.9% และทวีปแอฟริกา ตูนีเซียสูงสุด 55.4% สาธารณรัฐชาดต่ำสุด 4.8%
สำหรับปีนี้นักวิจัยสตรีทั้ง 5 คน จะได้รับทุนวิจัยคนละ 2.5 แสนบาท แบ่งเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2 คน คือ นางสาวธัญญพร วงศ์เนตร จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงาน “การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และ นางสาวธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กับผลงาน “เอนอีซ (ENZease): เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ 3 คน คือ นางสาวจำเรียง ธรรมธร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ผลงาน “การสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและเชื้อมาเลเรีย” รศ.ศิริลตา ยศแผ่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงาน “การออกแบบกระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์วิธีใหม่ด้วยแนวคิด C-H functionalization สู่การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน” และ รศ.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กับ “การศึกษาการทำงานร่วมกันของโลหะและกรดลิวอิสเพื่อการสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจนของแอริลอีเทอร์ด้วยวิธีคำนวณทางเคมีควอนตัม”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ลอรีอัลเสริมทัพสตาร์ทอัพปักธง 'บิวตี้เทค'
-ลอรีอัล รุกตลาดความงาม ชู 'บิวตี้เทค' กระตุ้นการซื้อ
-'แบรนด์ดัง' ตัวการสร้างขยะพลาสติก